วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 10/9 (ต่อเนื่อง)




พระอาจารย์

10/9 (560225D)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

25 กุมภาพันธ์ 2556


พระอาจารย์ – คล้ายๆ ล่องลอยนะ ...แต่คราวนี้เราต้องแยกให้ออก มันล่องลอยแบบเผลอเพลิน หรือหลงใหล  หรือลืมมั้ย มันมีโมหะเข้ามาแทรกจนลืม แล้วก็ลอย จะกายก็ไม่ชัด รู้ก็ไม่ชัด 

ถ้าอย่างนี้ มันอยู่ที่ประสบการณ์และชำนาญแล้วว่า สมาธิที่ตั้งมั่นจริง ปัญญาที่เห็นจริง เห็นแต่กายตามความเป็นจริง จนสลายรูป ทำลายรูปแล้วนี่ มันคนละเรื่องกันเลยนะ 

ต้องไปสอบทานด้วยตัวเอง คือมันมีทั้งสองส่วนประกอบกัน ยังไม่ถึงขั้นเข้าไปทำลายรูป หรือว่าจิตหยุดจากสร้างรูป แต่ว่ามีโมหะแทรกอยู่

เพราะนั้นถ้าอย่างนี้ก็พยายามรู้ชัด ให้ชัด ในกาย ในความรู้สึกปัจจุบัน


โยม – แต่ไม่จำเป็นต้องให้กลับเข้ามาที่รูปอีก ก็คือรู้ไปเลย

พระอาจารย์ – อือๆ คือรู้ครั้งแรกอาจจะรวมกรอบรูปก่อน เข้าใจมั้ย เช่นว่า หลงเผลอเพลินหาย ลืมไป พอระลึกได้ก็รู้ว่ากำลังนั่ง เงี้ย มันก็จะเห็นรูปนั่งก่อนใช่มั้ย รูปตัวเองนั่ง 

แล้วตรงนั้นหยั่งเข้าไปถึงความรู้สึกในอาการนั่ง มันมีความรู้สึกอยู่ในรูปนั่งใช่มั้ย เออ ขยับก็เป็นความรู้สึกนึงใช่มั้ย เออ แน่นที่ก้น ที่ข้างล่าง เราไม่เรียกว่าก้นด้วย เรียกว่าข้างล่าง ข้างบน มันจะเห็นกายข้างบนกายข้างล่าง เป็นความรู้สึกกาย

ตรงนี้มันจะมาทำความรู้ชัด เห็นชัด เป็นจุดๆๆ ในกายแล้ว ตรงนี้รูปมันจะจาง ถ้ารู้ชัดๆๆ อยู่ในความรู้สึกเนี้ย รูปกายจะจาง รูปนั่งจะจาง ...จะไม่เห็นกายนั่งแล้ว แต่จะเห็นแต่ความรู้สึกของการนั่ง เนี่ย เขาเรียกว่าหยั่งเข้าไปทะลุรูป สติมันหยั่งเข้าไปเกินรูป ทะลุรูป มันถ่าง เหมือนกับถ่างรูปออกไป ทำลายรูปไปในตัว

แต่ตอนแรกมันจะไม่เข้าใจอะไรหรอก บางทีก็ยังสงสัยอยู่ แล้วก็พยายามห่อหุ้มรูปขึ้นมาใหม่ เพราะกลัวรูปหาย เพราะกลัวกายหาย เข้าใจมั้ย มันไปเข้าใจว่าอย่างนี้กายหาย เวลาเหลือแค่ความรู้สึกหนึ่งแล้ว เอ กายหายไปไหนวะ ทำไมเหลือแค่นี้เอง


โยม – รู้สึกว่า ...เอ๊ แล้วเราหลุดจากศีลรึเปล่า

พระอาจารย์ – มันไม่หลุดหรอก กายจริงๆ มันเป็นแค่เหมือนหิ่งห้อยน่ะ วูบวาบๆๆ เหมือนพลุๆๆ เคยเห็นพลุมั้ย อือ นั่นแหละ แต่ว่าไอ้ที่เราเห็นกายมันคุ้นเคยกับที่ไม่ใช่พลุน่ะ มันเป็นกรอบ มีกรอบรูปอยู่ คือมันมีกรอบของสัญญา คือมองกระจกทุกวันน่ะ มันก็จำรูปกายได้ไง พอนึกถึงกาย ระลึกลงที่กาย มันก็จะมีรูปติดอยู่ในจิตนั้น

เพราะนั้นมันจะทำลายรูป ดูไปเรื่อยๆ จิตก็จะรวมเป็นหนึ่ง ...จริงๆ มันไม่ได้ทำลายรูปหรอก แต่จิตมันรวมเป็นหนึ่ง มันก็ไม่สร้างรูปสัญญาขึ้นมาครอบกาย

เหมือนอย่างโยมที่มองเห็นเรานี่ โยมไม่ได้เห็นกายเราหรอก โยมมองเห็นรูปกาย ...โยมมองไม่เห็นความหนักของเราหรอก โยมมองไม่เห็นความเมื่อยความตึงของเราหรอก ใช่มั้ย ไม่เห็นเลย แต่โยมเห็นแค่รูปภาพของกาย 

แต่ว่าโยมจะเห็นกายของตัวเอง คือความรู้สึก หนัก แน่น ยืด เหนี่ยว ซาบซ่าน หยุ่นๆ เนี่ย คือกายที่มันอยู่ในรูป แล้วมันยังมีกายกับรูปติดอยู่ด้วยกัน 

เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ จำแนกรูป จำแนกกายออกจากกัน ...พอถึงตรงนั้นแล้วที่เห็นกายลอยๆลอยๆ โดยปราศจากรูปนี่ มันจะเริ่มสงสัยลังเล งง มันเริ่มงง แล้วเริ่ม เอ๊ะๆ อ๊ะๆ อยู่ ...ช่างหัวมัน เดี๋ยวค่อยๆ เข้าใจเอง 

ครูบาอาจารย์ก็จะคอยบอกว่า ตามทางมันจะเป็นยังไง ครรลองของกายเป็นยังไง ที่สุดของกายจะเป็นยังไง


โยม – แต่มันจะกลับมาทำรูปให้ชัดน่ะฮ่ะ

พระอาจารย์ – ก็อย่าไปทำ ...คือต้องแยกให้ออกว่าโมหะนี่ คือมันเป็นกิเลสที่ละเอียด และมันแทรกซึมได้ทุกสถานการณ์ธรรม ทุกสถานการณ์มรรคเลย 

ถ้าไม่ชัด ถ้าไม่แน่จริงเนี่ย อย่าทิ้งกาย อย่าทิ้งรูป แม้กระทั่งรูปกายก็อย่าเพิ่งรีบทิ้ง เพราะผู้ที่ทิ้งรูปกายจริงๆ คือพระอนาคามี คือทำลายรูปโดยสมบูรณ์เลย และชัดเจนมาก ชัดเจนมาก

แต่ลักษณะเรานี่ยังคลุมๆ เคลือๆ คือว่าสติอ่อน ปัญญายังน้อย สมาธิยังไม่ตั้งมั่นพอ เพราะนั้นรั้งรูปไว้ก่อน เป็นฐานไว้ก่อน รูปกายไว้ เพื่อไม่ให้แตกกรอบกายก่อน แล้วค่อยๆ หยั่งลึกลงไปในความรู้สึกของกายประกอบกันไป สลับไปสลับมา 

ทบทวนไปทบทวนมา ระหว่างรูปกับกาย กายกับรูป อยู่ตลอด อย่าให้ออกนอกสองสิ่งนี้ อย่าไปรู้เกินสองสิ่งนี้ ...สองสิ่งคือรูปกับกายปัจจุบัน แล้วมันจะค่อยๆ ชัดเจน ทั้งรูป ทั้งกาย ทั้งสิ่งหนึ่ง แล้วจะเห็นกายเป็นแค่สิ่งหนึ่ง 

ตอนนั้นน่ะจิตมันจะหยุดๆๆๆ หยุดปรุง หยุดแต่ง ปุ๊บ สมมุติบัญญัติก็ลบไปเรื่อย หมดค่า หมดความหมายไปเรื่อย ... ที่มันหมดความหมายเพราะมันหมดสมมุติบัญญัติ เพราะจิตมันไม่ออกไปบัญญัติเป็นสมมุติภาษา มันเลยหมดความหมาย 

ซึ่งไปตรงกับความเป็นจริง...ที่มันก็ไม่มีความหมายอะไรอยู่แล้ว แต่ที่มีความหมายว่าเป็นแขนเป็นขาเป็นตึงเป็นแน่นเป็นปวดนี่ ทั้งหมดนี่เป็นบัญญัติอยู่ สมมุติภาษาอยู่ ยังเรียกกล่าวขานเป็นภาษา ...จนมันรวมเป็นหนึ่งขึ้น มันจะหมดภาษาไป 

พอหมดภาษาปุ๊บ กายเป็นธรรมจะปรากฏขึ้น ...จากปัจจุบันกาย ก็จะเป็นปัจจุบันธาตุ จากปัจจุบันธาตุก็จะเป็นปัจจุบันธรรม ...เมื่อเป็นปัจจุบันธรรมนี่ ทุกอย่างเป็นปัจจุบันธรรมหมดเลย ไม่มีว่าส่วนที่เป็นรูปและไม่มีรูป คือเวทนาจิตธรรม คือสัญญา สังขาร วิญญาณ ก็คือเป็นธรรมหนึ่ง ธรรมหนึ่งธรรมเอก และจะเห็นธรรมหนึ่งก็ด้วยจิตหนึ่งจิตเอก

เพราะนั้นทั้งหมดทั้งปวงในโลก เหลือแค่สองสิ่ง คือสิ่งหนึ่งที่ถูกรู้กับอีกสิ่งหนึ่งที่รู้อยู่ แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีความหมายใดๆ เลยในสองสิ่งนี้ ใกล้จบแล้วตรงนั้นน่ะ...ใกล้จบแล้ว

แต่ตอนนี้ยังไม่ใกล้จบ ยังห่างอยู่ ...ยังอีกหลาย continue


โยม – กราบขอบคุณพระอาจารย์ค่ะ



................................ 


วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 10/8 (ต่อเนื่อง)



พระอาจารย์

10/8 (560225C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

25 กุมภาพันธ์ 2556


โยม – พระอาจารย์คะ ถ้าเรารู้เวทนา กับรู้จิตไปด้วยได้มั้ยคะ หรือว่าจะให้เน้นเฉพาะกายไว้ก่อน

พระอาจารย์ – เมื่อกี้เราบอกแล้ว ... เวทนา จิต ธรรม เหมือนใบไม้บนยอดไม้ โยมรู้โยมเห็น โยมก็เด็ด เหมือนกับเด็ดใบไม้ยอดไม้ ...ถามว่าต้นไม้นี่ตายมั้ย 

ใบไม้ ยอดไม้ กิ่งไม้ ดอกผลนี่ มันติดต้นใช่มั้ย เพราะมันมีต้นใช่มั้ย ...เอ้า สมมุติดอกเป็นเวทนา ผลนั้นเป็นธรรมารมณ์ ใบนั้นเป็นจิต เอ้า เด็ดไป ...ตายมั้ย 

เราถึงบอกว่ากายนี้เป็นเหตุ กายใจเป็นเหตุ เข้าใจคำว่า กายใจเป็นเหตุมั้ย ...ถ้าไม่มีต้นมันจะมีใบมั้ย ถ้ามันไม่มีต้น มันจะมีใบ ดอก ผลมั้ย

กายนี้เป็นเหตุของจิต กายนี้เป็นเหตุของเวทนา กายนี้เป็นเหตุให้เกิดธรรมารมณ์ ทั้งที่ว่ามันไม่สมควรจะมีเหตุอันนั้นด้วย แต่จิตมันมาหมายเหตุแห่งกายนี้ผิด มันจึงมีเวทนา จิต ธรรม ขึ้นมา

เมื่อกี้เราพูดแล้ว แก้ที่เหตุ ... พระพุทธเจ้าสอนว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมที่จะเข้าไปสู่ความดับที่เหตุนั้นๆ...พระอัสสชิสอนให้พระสารีบุตรฟังตรงที่บิณฑบาตนะนี่ พระสารีบุตร เข้าใจ แจ้งตรงนั้นเลย ว่าที่ทำมา ภาวนาปฏิบัติมาตั้งนาน ทั้งหมด ผิดหมดเลย 

การที่ระลึกรู้ลงที่กายเดียวนี่ เรียกว่าศีล เราบอกแล้วไงว่าศีล ...ไตรสิกขาคืออะไร ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่นอกจากศีล ไม่เกินจากศีล ไม่ลืมศีล ไม่ทะลุศีล ไม่ก้าวล่วงศีลนี้...คือกาย กายเดียวศีลเดียว ศีลเอก ศีลหนึ่ง

ใครเขาจะเด็ดยอด เด็ดใบ เด็ดดอก เด็ดผล กลัวใบกลัวดอกกลัวผลมันจะแตกออก แล้วต้นไม้ก็น่าจะตาย เดี๋ยวคงตายสักวันน่ะ  ...ไม่สน เราไม่สน เราสอนให้คนขุดดิน

ขุดลงไปที่ดิน ...ใบมันจะงอก ดอกจะออก ผลจะร่วง ช่างหัวดอก ช่างหัวใบ ...มันร่วงเอง พอถึงคราวแก่มันก็ร่วงของมันเอง งอกใหม่ก็งอกใหม่ ...ก็ต้องเข้าใจ เพราะว่าต้นไม้ยังไม่ตาย ...แล้วทำอะไรอยู่ ...ขุดดินอยู่ เหมือนกุลีเลยนะ 

ไม่ได้ขุดเปล่าๆ ปลี้ๆ นะ ...เจอรากฝอยตัดรากฝอย เจอรากแขนงตัดรากแขนง ขุดไป วนไป รอบไป เจอรากแก้ว...ถ้ากำลังสามารถตัดรากแก้วได้...ตัด 

ไม่ต้องไปโค่นต้นไม้หรอก ก็เราตัดรากฝอย รากแขนง รากแก้วแล้ว ...ใบ ดอก ผลมันจะออกมั้ย  หือ มันจะออกได้มั้ย 

มันต้องไปคอยระวังเท่าทันมั้ยนี่ มันต้องไปคอยดูความเกิดความดับของมันมั้ยนี่ ...มันมาเกิดมาดับ ไม่สนใจด้วย เมื่อมันยังมีน้ำหล่อเลี้ยงมันก็ออกไปเถอะ แต่ถ้าตัดราก...รับรองอย่างเดียวว่ามันตายแน่ มันไม่เกิดแล้ว มันไม่ออกดอกออกผลมาเพาะเป็นต้นไม้ใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว

จึงเรียกว่าขุดรากถอนโคน...ด้วยศีลนะ สมาธินะ ปัญญานะ ...ในศีลสมาธิปัญญานี่ ดูสิ ไตรสิกขานี่ ท่านพูดว่ามีเรื่องจิตเรื่องเวทนาเรื่องอะไรมั่งไหมนี่

เมื่อกี้เราพูดถึงคำว่า กายเป็นธรรม ... เข้าใจที่ว่า เห็นกายเป็นธรรมมั้ย เป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในสภาวะที่ไร้รูปไร้นามน่ะ หรือเป็นสภาวะที่ไม่มีภาษาบัญญัติสมมุติน่ะ มันก็เหมือนเป็นก้อนกองอะไรก็ไม่รู้

นั่นแหละ ดวงจิตผู้รู้ที่เห็นกายในลักษณะอาการนั้น ไม่ได้หมายว่ากายอีกต่อไปแล้ว หมายความว่ากายนั้นคือลักษณะธรรมหนึ่ง เป็นก้อนธรรมหนึ่ง เมื่อนั้นเอง ลักษณะจิต ลักษณะเวทนา ลักษณะธรรมารมณ์ ก็คือลักษณะก้อน เหมือนก้อนกายนี้ ...เป็นธรรมหนึ่ง เช่นเดียวกัน

ตรงนี้ที่ท่านเรียกว่า มหาสติ ด้วยมหาสติ...ไม่ใช่ว่ามาก...แต่ใหญ่ คำว่าใหญ่คือครอบ คลุม ทั้งปัฏฐานสามเป็นอันเดียวกัน คือธรรมหนึ่ง ... ตรงนั้นแหละไม่แบ่งแล้วว่านี่กาย นี่เวทนา นี่จิต นี่ธรรม ทั้งหมดคือธรรมหนึ่ง...แล้วเห็นด้วยจิตหนึ่งคือรู้

แต่ถ้าไม่เริ่มที่นี้ ตรงนี้ คือศีลนี้ มันจะเป็นดอกๆ ดวงๆ ไม่จบ...รู้กี่ที ดูกี่ปีดูกี่ชาติ ...เราพูดเป็นชาติด้วยก็ได้นะ ...มันก็ยังแตกดอกออกใบๆ เจอน้ำออก เจอฝนออก ถึงจะดูเหมือนร่วงๆๆ เพราะมันฤดูแล้ง หมดน้ำ แต่มันยังไม่ตาย ...พอฝนมามันก็ออกดอกออกใบอีก 

แล้วไปคอยเด็ดใบเด็ดดอกเด็ดผล...เหนื่อยมั้ย เหนื่อยว่ะ เดี๋ยวก็มาอีกแล้ว อีกแล้วๆๆ มาพร้อมกับกิเลสน่ะจิตน่ะ ...เข้าใจรึยังว่า นี่ปลายเหตุ มันแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ

เพราะอะไร ...เพราะไม่เข้าใจว่าศีลคืออะไร เพราะเป็นการปฏิบัติที่ออกนอกองค์ศีล เพราะมันเป็นการปฏิบัติที่คิดว่าตรงแล้ว ใช่แล้ว น่าจะเร็วแล้ว น่าจะไม่คลาดเคลื่อนแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่าทั้งหมดออกนอกองค์ศีลคือปกติกาย ...คือไม่รู้ตัว

ตัว...รู้...สติ เพราะนั้นเมื่อใดที่รู้ตัว นั่นแหละอยู่ในองค์ศีล ถ้าเป็นกายเวทนานี่...ใช่ แต่ถ้าไปดูเวทนาจิต ยินดียินร้าย พอใจไม่พอใจ หรือธรรมารมณ์ ราคะ โทสะ หงุดหงิด ปฏิฆะ พยาบาท ความอยาก ความไม่อยาก ความปรุงแต่ง เรื่องราว อารมณ์ จิต เคลื่อนไปเคลื่อนมา ไหลไปไหลมา ...ถ้าดูอย่างนี้ไม่มีคำว่าจบหรอก


โยม – ถ้าเราดูกายไปเรื่อยๆ จนไม่มีความรู้สึกของกายแล้ว เราจะทำยังไงต่อล่ะคะ

พระอาจารย์ – ไม่ต้องถาม ให้มันถึงตรงนั้นก่อน มันไปตามครรลองของมันเอง ...ไม่ใช่ให้ “เรา” พาไป ไม่ใช่ “เรา” พาไป ...ตอนนี้จิตเราว่า “เรา” จะทำยังไงต่อ 

ไปถึงตรงนั้นไม่มี “เรา” ว่าแล้ว จะไม่มี “เรา” ว่าแล้ว มันจะเป็นไปตามธรรม มันจะหมดอำนาจของ “เรา” ที่จะมาเป็นไกด์ไลน์โร้ดแม็พแล้ว

แต่ตอนนี้ยังมี ...เพราะนั้นอย่าไปเชื่อมัน ว่า “เรา” จะทำยังไง ...ไม่มีหรอก ไม่มีหนทางหรอก เพราะมันไม่ทำอะไรเลย ไม่มีใครทำอะไรเลย...มีแต่เขาแสดงไปตามธรรม แล้วก็หน้าที่ของใจก็คือรู้ไปตามธรรมนั้นๆ ...นั่นหละคือเรียกว่าเดินในองค์มรรคแล้ว

เดินแบบลูกข่างน่ะ เคยเห็นลูกข่างมั้ย มันหมุนๆๆ ในตัวของมันเอง แต่ว่ามันก็ไปของมันนะ มันหมุนเข้าหาตัวของมันเอง แต่มันก็เดินไปตามทางของมันนะ ...นั่นแหละคือหยุดแต่เดิน หยุด “เรา” ไม่มี “เรา” แต่คือการเดินในองค์มรรค

เพราะอะไร เพราะธรรมมันจะเดินผลัดหน้าผลัดตาของมันให้เห็นเลย ให้รู้เอง ให้เห็นเอง...แล้วก็ให้ละออกไปเอง นั่นแหละ เรียกว่ามรรคเดิน กำลังเดินด้วยปัญญา 

แล้วก็ไม่มีการเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ด้วยภาษาบัญญัติ แล้วไปแบ่งว่านี่คือนั่น นั่นคือนี่ แล้วจะเลือกอันนี้ต้องรู้ อันนี้ไม่รู้ อันนั้นต้องรู้ก่อน อันนั้นต้องรู้หลัง...ไม่มีอ่ะ ไอ้พวกนี้เป็น “เรา” จัดการหมดเลย “เรา” เป็นผู้จัดการอยู่ เมเนจเมนท์ ...รู้จักยามมั้ย หน้าที่ของยามทำยังไง


โยม – เฝ้าประตู

พระอาจารย์ – ต่อให้เป็นผู้จัดการมา ก็ให้เขาผ่านไป หรือว่าเป็นเด็กส่งของ หน้าที่ไม่ต้องไปตามเขา คุณอยู่หน้าประตู เปิดประตูกับปิดประตูไว้ หน้าที่ของคุณคือทำแค่นี้ แล้วก็ดูว่าใครเข้าใครออก ...เนี่ย คือหน้าที่ของเราเหลือแค่นั้นแหละ เหลือแค่ดู รู้ กับเห็น 

ไม่เลือก ไม่บอกนะว่าจะต้องเลือกดูจิตหรือดูเวทนาเป็นหลักนะ ...ก็ทำไม หา ถ้าจะดูเวทนาเป็นหลัก กายเข้ามาไม่ได้รึไง เอ้า ถ้าวันนี้เขียนป้ายไว้เลย เออ ห้ามกุลีเข้า เออ ต้องเป็นระดับดอกเตอร์เข้า ไอ้อย่างนี้ไม่ใช่หน้าที่ยามแล้วนะเนี่ย

อย่าเลือก...เลือกไม่ได้ จะเลือกไม่ได้ ...ถึงตรงนั้นแล้วจะไม่เลือกอะไรแล้ว 

แต่ก่อนที่มันจะทำใจให้ได้อย่างนั้นน่ะ มันต้องเริ่มที่ฐานกายนี้ ...เพราะอะไร เพราะลักษณะของเวทนา จิต ธรรม นี่ ความชัดเจนในตัวของมัน หรือการปรากฏขึ้นในตัวของมันนี่ มันจะเป็นระลอก เป็นกลุ่ม แล้วก็หายไป สักพักสักระยะเดี๋ยวก็มาใหม่ แล้วก็อยู่เป็นระลอก แล้วก็หายไปใหม่ เข้าใจมั้ย

แล้วบางทีพอมันหายไปแล้ว จะอยู่ในลักษณะเคว้งคว้าง ...เอ๊ จะดูอะไรดี เนี่ย แล้วพอไม่มีอะไรดูมันก็ประมาท หมายความว่า...รู้ก็ไม่สามารถจะตั้งลอยๆ ได้ สติไม่สามารถจะตั้งลอยๆ อยู่ได้ เพราะมันไม่มีอะไรให้กำหนดรู้น่ะ เพราะจิตก็ไม่มี อารมณ์ก็ไม่มี เวทนาก็ไม่มี

กายมีดันไม่ดู แน่ะ เข้าใจมั้ย มันจะหาดูแต่ที่มันหมายไว้ว่าจะดูคือเวทนาหรือจิต แต่มันไม่มีให้ดูน่ะ จะทำยังไง คราวนี้จะอยู่ในท่าทางไหน ...ดัก เมื่อไหร่มันจะมาวะๆ ดักรอ ดักรู้ๆ เป็นผู้ดัก เออ เขาบอกให้เป็นผู้รู้ กลับเป็นผู้ดัก กลายเป็นผู้ดัก ไม่ใช่ผู้รู้แล้วนะ ผู้ดักจะรู้  ...ทั้งๆ ที่ว่าของมีให้รู้ไม่รู้

แต่คราวนี้ว่าทำไมถึงเรียกว่ากายเป็นหลัก ทำไมถึงบอกว่ากายเป็นศีลเป็นรากฐาน เพราะปัจจยาการของกาย ความสืบเนื่องของกาย มีมาตั้งแต่ปฏิสนธิ...จนถึงวันตาย หมายความว่าการปรากฏ หรือการดำรง หรือการตั้งอยู่แห่งกายนี้ไม่ขาดเลย ...ถ้าขาดก็หมายความว่าตาย ก็ยังไม่ตายนี่ ใช่มั้ย

เพราะนั้นปัจจยาการความสืบเนื่อง ความต่อเนื่องของกายนี่ มันไม่มีหยุด เมื่อมันไม่มีหยุด สติที่มาระลึกและมาหยั่งรู้ดูเห็นอยู่ในกายปัจจุบันนี่ มันจึงเกิดความต่อเนื่อง รู้...จึงต่อเนื่องอยู่กับกายได้ ตั้งอยู่กับกายได้ด้วยความต่อเนื่อง

เพราะกายถึงแม้จะเกิดดับ เกิดตรงนี้ดับตรงนี้ ก็มาเกิดรูปนี้ เกิดทรงนี้ เกิดทรงนี้ความรู้สึกนี้ แล้วก็มาเกิดรูปทรงนี้ใหม่ ...คือมันจะมีการทดแทนอยู่ตลอดเวลา เป็นความจริงที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา

เพราะนั้นเมื่อสติที่ระลึกรู้ต่อเนื่องๆ รู้ต่อเนื่องกับอาการทางกาย ที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องหาไม่ต้องค้น มันมีอยู่แล้ว สัมปชัญญะจึงเกิดขึ้น ... สัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม ตัวสติที่เกิดขึ้น ที่อบรมบ่มจนเกิดสัมปชัญญะต่อเนื่องปุ๊บ ตรงนี้มันจึงจะหล่อหลอมจิตรวมเป็นหนึ่ง คือสัมมาสมาธิ

เพราะนั้นพวกที่ดูเวทนา ดูจิต ดูอารมณ์นี่ จะไม่มีสมาธิที่เป็นสัมมาเลย จะไม่มีรู้จักคำว่าจิตตั้งมั่น จะไม่มีความรู้สึกว่าจิตไม่หวั่นไหวรวมเป็นหนึ่งอยู่ภายในเลย จะมีแค่แปล๊บๆ แปล๊บๆ แล้วก็หาย แปล๊บๆ แล้วก็หาย อยู่อย่างนั้น ...จะไม่รู้จักหรือเข้าไปหยั่งถึงคำว่า รสชาติของสัมมาสมาธิเลย รสชาติของศีลก็ยังไม่ถึงเลย

แต่ถ้าเราเอากายเป็นกรอบขอบเขต เป็นปริมณฑล เป็นอาณาเขต เป็นที่ระลึก เป็นที่ตั้งของรู้ เป็นที่ตั้งของสติ เป็นธรรมที่คู่รู้คู่เห็นของใจ จิตจะรวมเป็นหนึ่ง เป็นดวงจิตผู้รู้อยู่ คราวนี้เมื่อรวมเป็นดวงจิตผู้รู้อยู่ มันก็อยู่แสดงธรรมชาติของใจ หรือดวงจิตผู้รู้อยู่ มันเป็นธรรมชาติคนละอันกันกับกาย

เมื่อมันรวมเป็นตัวผู้รู้อยู่ มันก็จะแยกออก มันจะแยกออกจากธรรมเบื้องหน้ามันคือขันธ์ ในที่นี้คือกาย มันก็จะแยกออก พอแยกออกตัวนี้ก็ชัด ตัวรู้ตัวเห็นก็ชัด มันก็เหมือนกับมีลูกกะตาข้างในนี่ สว่างอยู่ข้างใน สว่างรู้สว่างเห็นอยู่ข้างใน นั่นแหละอานิสงส์ของสัมมาสมาธิ

นั่นแหละคือรสชาติของสมาธิจะบังเกิดขึ้นกับจิต และอยู่ในสภาวะนั้น มันจะเกิดความมั่นคงภายใน หมายความว่า ตาเห็น หูได้ยิน กระทบเสียง กระทบกลิ่น กระทบรูป มีความคิด มีความจำ มีเรื่องให้ต้องคิดต้องจำ ตรงนี้มันจะไม่แตกเลย ไม่หวั่นไหวออกไปเลย ไม่ส่าย มันก็รู้เห็นอยู่อย่างนี้

ด้วยอำนาจของการรู้เห็นเป็นกลางอยู่อย่างนี้แหละ เรียกว่าสมาธิจึงเป็นเหตุให้เกิดทัสสนะ ทัสสนะแปลว่าเห็น ญาณทัสสนะ แปลว่าหยั่งรู้หยั่งเห็น มันก็จะเห็นสภาพเบื้องหน้าคือกายตามความเป็นจริง

เพราะนั้นมันจะต้องเห็นกายตามความเป็นจริงก่อน อันดับแรก อันดับต้นเลย คือความเป็นกายของมหาภูตรูป ดินน้ำไฟลมที่รวมตัวกัน พูดภาษาสมัยใหม่ก็คือสสาร หรือธาตุ หรือพลังงานที่รวมกัน
เป็นแค่ก้อน เป็นแค่กอง 

ไม่มีชีวิต ไม่มีความเป็น life ในก้อนกองนี้ ไม่มีความเป็น alive น่ะ คือไม่มีความเป็นบุคคล คือไม่มีความเป็นเรา มันเป็นก้อนธาตุ ก้อนดิน ก้อนไฟ ก้อนอากาศ ก้อนวูบๆ วาบๆ อย่างนี้ต่างหาก เนี่ย คือกายตามสภาพที่แท้จริง

ปัญญาญาณ ตรงนี้เรียกว่าเห็นด้วยญาณ ...แล้วมันจะไปลบเลิกเพิกถอนความเห็น...ที่เคยเชื่อว่ากายนี้เป็นหญิงเป็นชาย ชื่อนั้นชื่อนี้ สวยไม่สวย 

ดูสิ แข็งนี่ ตอนนี้ก็มีใช่มั้ยความแข็ง ความรู้สึกว่าแข็งมีมั้ย ทุกคนก็มี แข็งมันสวยมั้ย ความรู้สึกว่าแข็งมันสวยมั้ย มันบอกมั้ยว่ามันเป็นผู้หญิง มันบอกว่าเป็นผู้ชายมั้ย มันบอกว่าเป็นของเรามั้ย มันพูดอะไรมั้ย เห็นไหม ...เออ นี่แหละ มันจะต้องเห็นกายในแง่มุมนี้ มิตินี้ ต่อเนื่องๆๆ ถ้าอยู่อย่างนี้ 

อย่าไปไอ้นู่นก็อยากเห็น เวทนาก็จะไปเห็น จิตก็จะไปเห็น เรียกว่าอะไร มากเรื่อง เรื่องมาก จิตหนึ่ง...มันไม่เป็นหนึ่งแล้ว ไอ้นั่นก็จะรู้ ไอ้นี่ก็จะดู ไอ้นั่นก็จะอยากรู้ ไอ้นั่นก็จะเป็นปัญญาได้ ไอ้นี่ก็จะเกิดปัญญาได้ ไอ้นั่นก็จะละได้เร็ว มันจะเป็นสองสามสี่ห้า ...มันไม่เป็นหนึ่ง

ถ้าไม่เป็นหนึ่งหมายความว่า ก็ไม่เป็นสมาธิ ยังไงก็ไม่เป็นสมาธิ คือจิตตั้งมั่น เป็นกลาง เป็นเอก เป็นหนึ่ง ...แต่พอเอาอันเดียว ไม่เรื่องมาก ...

ไอ้นั่นเขาเคยทำเคยดูเขาว่าดี เอ้า เอาแล้ว จะตามแล้ว ... เนี่ย ลึกๆ มันจะมีสัญญาพวกนี้อยู่ เคยอ่านเคยได้ยินเขาเล่ามา คนนั้นก็ท่าทางดีปฏิบัติได้ดีแล้วเขาบอกว่าเขาทำอย่างเนี้ย จะทำตามเขามั่งอ่ะ ...เนี่ย คือสีลัพพตปรามาส คือการลูบคลำในวัตรและศีลนะ 

แทนที่มันจะตรงต่อศีล กลับไปเป็นการลูบคลำในวัตรปฏิบัติ ความเชื่อความเห็นแล้ว ...มันก็เกิดความหลากหลายในการปฏิบัติหรือว่าวิถีการปฏิบัติ ...แม้กระทั่งมหาสติปัฎฐานก็ยังมาเถียงกันอยู่เลย จะดูกายเวทนา หรือจะดูจิตดูธรรมดี 

ส่วนมากบางคนก็จะแบ่งเป็นกลุ่มเลย สำนักนี้ดูจิต สำนักนี้ดูเวทนา ใช่มั้ย มันก็แบ่ง ...แต่ว่าเป็นลูกศิษย์พุทธะ คือว่าตามพระพุทธเจ้าท่านบอกเลย คือศีลสมาธิปัญญา เอาอย่างนี้ดีกว่า ...ถ้าตัดสินอะไรไม่ได้ เอาว่าศีลสมาธิปัญญาเป็นกรอบดีกว่ามั้ย

และความหมายของคำว่าศีลคืออะไร ปกติกาย ใช่มั้ย เนี่ย ถ้าลงที่ว่าศีลเป็นกรอบ ศีลเป็นหลัก ศีลเป็นตัวเริ่มต้นหรือว่าจุดเริ่มต้นของมรรคแล้วนี่ ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากพระพุทธเจ้าท่านแนะว่า มรรคมีองค์แปด ในการปฏิบัตินี่ต้องอยู่ในกรอบของไตรสิกขา

แล้วเราถามว่า เมื่อใดที่เราดูเวทนา จิต ธรรม หรือดูแต่เวทนา ไม่สนใจจะรู้ดูกายเลยนี่ แปลว่าขณะนั้นไม่รู้ตัวเลย ไม่รู้ว่ามีตัวนี้นั่งนอนยืนเดินอยู่เลย หมายความว่าขณะนั้นเมื่อนั้น...ให้รู้ไว้เลยว่าออกนอกองค์ศีลแล้ว

ถ้าออกนอกองค์ศีลไม่ต้องถามว่าสมาธิ ปัญญา จะเกิดมั้ย เพราะศีลเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิจึงเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญาจึงจะเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจจนหลุดและพ้น ทุกอย่างเป็นกระบวนการตามขั้นตอนของเขาอย่างนี้ 

เป็นปัจจยาการของศีลสมาธิปัญญา เกื้อกูล สงเคราะห์ เอื้อกัน สมัครสมานสามัคคีกัน ร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ขัดแย้งกันแต่ประการใด จะขาดจากตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้เลย หรือลัดกระบวนการข้ามขั้นตอนไม่ได้เลย หรือจะเลือกเอาตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้เลย 

เหมือนก้อนหินก้อนเส้าสามเส้าน่ะ ที่ตอนไปตั้งแค้มป์แล้วก่อไฟ เอาหินสามก้อนมาวางไว้ตั้งหม้อข้าวต้มน้ำ ก้อนเดียวได้มั้ย สองก้อนได้มั้ย ตั้งไม่ได้ เนี่ย ศีลสมาธิปัญญาเหมือนก้อนเส้า ต้องสาม จึงจะตั้งหม้อหุงข้าวต้มแกงได้ ผลจึงจะบังเกิด

แต่พอมาเริ่ม เรายังไม่เข้าใจเลย ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร คิดเอาเอง ฟังคนเขาบอก เขากล่าวอ้างขึ้นมาก็ว่าดีแล้ว ถูกแล้ว ตรงแล้วใช่แล้ว ทำเลย ...สุดท้ายผลก็คลาดเคลื่อนไปมาหมดเลย 

กิเลสก็แค่เข้าไปมุดหัวอยู่ เดี๋ยววันดีคืนร้ายก็มา...ความคิดน่ะ พอเอาเข้าจริงไล่จับไล่เด็ด เดี๋ยวก็หายไป เผลอก็มาอีกแล้ว พรึ่บเลย มาพร้อมกับความหลงน่ะ ไม่หายไปไหนหรอก

เพราะว่าอะไร ...ต้นเหตุมันยังอยู่นี่ คาราคาซังอยู่ ทั้งหมดมันเกิดเพราะหมายมั่นกายนี้ผิดว่าเป็นเรา มันจึงมีเรื่องของเรา จิตของเรา มันจึงมีเรื่องราวของเราในอดีต เรื่องราวของเราในอนาคต ความคิดในจิต เรื่องเราในจิต เรื่องเราในความคิดความจำนี่ มันอาศัยอะไรเป็นฐาน ...กายใช่มั้ย

มันอาศัยกายนี้เป็นแม่แบบให้เกิดรูปของเราในอดีตอนาคต ใช่มั้ย มันไปเข้าใจว่าตัวนี้เป็นกายเรา มันจึงมีกายเราข้างหน้าข้างหลัง ใช่มั้ย มันจึงมีเรื่องราวของกายคนอื่นใช่มั้ย เพราะไปสำคัญว่ากายคนอื่นก็เหมือนกายเรานี่แต่มีชื่อคนละชื่อ เลยเป็นบุคคลอีกบุคคลขึ้นมา ทั้งหมดนี่เพราะมันไม่เห็นตรงนี้ ไม่เข้าใจตรงนี้ต่างหาก

ถึงบอกว่าศีลนี่ทิ้งไม่ได้เลย ละเมิดล่วงเกินไม่ได้ มันจะไปอยู่กับกายที่เป็นสักกายหมด คือกายปรุงแต่ง เรื่องราวในจิต เวทนาในจิต ที่เกิดขึ้นล่วงหน้าลับหลัง อะไรก็ตามน่ะ เป็นเพราะเนื่องด้วยอุปาทานกาย ของเรา มันก็เลยมีเวทนา เราสุข เราทุกข์ในกายนั้นซะอย่างนั้นน่ะ

ลองนึกสิว่าคนเคยด่า หรือเราไปทำผิดมา รู้สึกเลยว่าเสียใจ ดีใจขึ้นมา ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่มีเลย แต่พอมีอุปาทานกายขึ้นมาในอดีตอนาคตนะ ร้องไห้น้ำตาไหลก็ได้ หัวเราะก็ยังได้เลย เห็นมั้ย มีเวทนามั้ยนั่นน่ะ มียินดียินร้ายเกิดขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่ว่ารูปจริงไม่มี กายจริงไม่มีเลย ...แต่ดูเหมือนจริงขึ้นมา เที่ยงขึ้นมา

แล้วคอยนั่งคอยดูคอยสร้างขึ้นมาอยู่นั่น บอกแล้ว...มันจะไปจบได้ยังไง เป็นไปไม่ได้เลย ก็หลงเท่าเก่าน่ะ เพราะมันลึกๆ บอกแล้วว่าจะหอบผ้าหอบผ่อนตามเขาอยู่เรื่อย เพราะคิดว่าเข้าใจว่าจะลงหลักปักฐานกับมันแล้วจะได้ผลร่ำรวยธรรม หรือถึงขั้นนิพพานไปเลยไง

แต่สุดท้ายก็โดนหลอกหมดแหละ เพราะมันไม่จบไม่สิ้น ยิ่งดูยิ่งมากขึ้น ยิ่งดูยิ่งมา มาอีกแล้ว เดี๋ยวก็มาให้ดูอีกแล้ว ... แล้วไม่เข้าใจว่าอะไรคืออะไรเลย

แต่ถ้าตรงนี้ มันจะจบ มันจะหด มันจะสั้น มันจะเหลือแค่โง่ๆ ที่นั่งกับรู้...รู้กับนั่ง แล้วมันทำไง... “อะไรเป็นนั่งกันแน่วะเนี่ย แล้วนั่งคืออะไรกันแน่” เนี่ย มันเริ่มเข้ามาโยนิโสมนสิการ เกิดความแยบคายในอาการนั่ง ว่าใครนั่งกันแน่ หรือไม่มีใครนั่งกันแน่ หรือมันเป็นแค่อะไรที่ปรากฏอยู่บ่ดาย ซื่อๆ กันแน่ ...ไม่มีความมีชีวิต

มันเห็นซ้ำเห็นซากอย่างนี้ต่างหาก และให้สังเกตดู ถ้ามันเห็นอย่างเนี้ย ความร่อนเร่พเนจรของจิตในอดีตอนาคต ความยินดีหมายร้ายในอดีตอนาคต จะน้อยลงๆๆ ...เราบอกแล้วไง ถ้าขุดรากไปนี่ ต้นไม้มันโทรม แต่ถ้าเด็ดใบ ต้นไม้ไม่โทรม เพียงแค่หายหลอกตาแค่นั้นเอง

แต่ถ้าขุดรากถอนราก ยิ่งหลายๆ รากฝอยรากแขนงไปเรื่อยๆ จะเห็นเลย ต้นไม้นี่ใบมันเริ่มหรอมแหรมๆๆ ...ไม่ได้เด็ดนะเนี่ย อ้าวทำไมใบมันน้อยลง 

เพราะว่า เหตุแห่งการปรากฏขึ้นของจิต ของอดีตอนาคต เพราะความสำคัญผิดในกายปัจจุบันนี้เอง ทุกอย่างเริ่มที่ปัจจุบัน จึงเกิดปัจจยาการอดีตอนาคตขึ้นมา

คือถ้าเชื่อพระพุทธเจ้านี่ ไม่ยากหรอก แล้วก็ไม่ช้าด้วย ...แต่ถ้าเชื่อจิตน่ะ ปวดหัวเลย เชื่อความคิดความเห็นตัวเองนี่ปวดหัวเลยนะ มันจะตีกัน มันไม่สนับสนุนเกื้อกูลกันเลย 

แม้แต่นั่งสมาธินี่ เมื่อวานกำหนดอย่างนึง ไม่สงบ ...วันนี้ลองมากำหนดลมดีมั้ง วันนี้ลมก็ได้ เอ๊ ลมก็ไม่ดี เลิกดีกว่า พรุ่งนี้พุทโธ หรือว่าสัมมาอรหัง หรือว่าจะกำหนดเป็นนิมิต หรือว่าจะพิจารณากาย ...เอาแล้ว เริ่มคิด เริ่มหา เริ่มทำเล็คเชอร์อยู่ข้างใน 

มัวแต่เล็กเชอร์อยู่นั่นน่ะ เป๊ง...หมดเวลา ยังไม่ได้ไปไหนเลย ... แล้วก็ลอง เป็นหนูทดลองยาอยู่อย่างนั้นน่ะ วันนี้ ดูเวทนาไปดูเวทนามา ไม่ชัดแล้ว เบื่อแล้ว เปลี่ยนไปดูอันอื่น เนี่ย คอยตามคนนั้นทีคนนี้ที ไม่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน มันจะตั้งหลักตั้งฐานได้อย่างไร จิตมันจะรวมเป็นหนึ่งอยู่ในที่อันเดียวได้อย่างไร

เพราะนั้นเวลามาฟังหลวงปู่ หลวงปู่ท่านพูดอธิบายเรื่อง ดวงจิตผู้รู้ เคยฟังมั้ย นั่นแหละ ตีงูน่ะ ตีที่หัวเลย ถ้าจับงูน่ะจับที่หัว รับรองไม่โดนกัด เพราะบีบมันทั้งหัวทั้งปากน่ะ


โยม – หนูเคยทำแล้ว มันเหมือนผีเข้าก็ไม่ใช่ แต่ว่าเห็นกายมันดิ้น อีกอันนึงนี่กายแข็งทื่อไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยค่ะ ...ก็เอ๊ ไอ้คนเห็นนี่มัน อ้าว ทำไมตัวนี้ดิ้น แล้วทำไมไอ้ตัวนี้มันไม่รู้สึกอะไรเลย หนูไม่รู้ตอนนั้น

พระอาจารย์ – โยมไม่เห็นอยู่ตัวนึง คือตัวที่สงสัย


โยม – ตัวนี้ ตรงกลางนี่นะ

พระอาจารย์ – โยมไม่เห็นอีกตัวที่เข้าไปหมายสมมุติบัญญัติมารองรับเหตุและผล


โยม – ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลยค่ะ ได้แต่กำหนดรู้ว่าหนักหนอๆ

พระอาจารย์ – นั่นแหละ ทั้งหมดน่ะมันอยู่ในรากลึกของความคุ้นเคยที่จะต้องเข้าไปมีการหมายค่า ให้ค่า ว่าคืออะไร เรียกว่าอะไร จริงหรือไม่จริงอย่างไร


โยม – ก็รู้สึกว่าหนัก ดิ้นไม่ได้ หนูก็กำหนดหนักหนอๆ

พระอาจารย์ – นั่นแหละ เขาเรียกว่าฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านในธรรม


โยม – อ๋อ

พระอาจารย์ – ด้วยจิตที่มันไม่เข้าใจ สงสัยว่านี้คืออะไร มันจึงพยายามบัญญัตินามสมมุตินามขึ้นมา เพื่อมาทำลายความสงสัย ทั้งหมดจึงยิ่งสงสัย แล้วเป็นภาระ จึงหนัก จึงข้อง กับสภาวะธาตุสภาวธรรมนั้นๆ


โยม – เมื่อกี้ท่านบอก เห็นจิต เห็นกาย เห็นใจผู้รู้ โยมยังไม่เห็นใจผู้รู้

พระอาจารย์ – ไม่เห็นก็ไม่เห็น ทำไงล่ะ ...อย่าไปอยากเห็นล่ะกัน ยิ่งอยากเห็นก็ยิ่งไม่เห็น เพราะความอยากมันบัง ถ้าไม่อยากเห็น แล้วก็รู้ไปว่านั่ง เดี๋ยวก็เห็นเองแหละ เนี่ย การภาวนาถ้าเรื่องมากแล้วก็มากเรื่อง จะงง ถ้าอยากมากไม่อยากมาก ยิ่งช้า

แต่ถ้าเฉยๆ ง่ายๆ เบาๆ ปกติ ธรรมดา นั่งก็รู้ว่านั่งธรรมดา จบ อย่าเรื่องมาก อย่ามากเรื่อง แล้วก็ดูอาการต่อไปของมัน ว่ามันจะเป็นยังไงปรากฏให้เห็นในกาย อย่าใจร้อน อย่าโลภมาก อย่าโลภอะไรยิ่งกว่านั้น

ทุกอย่างเป็นเงื่อนเค้า เค้าลางที่จะก่อให้เกิดความอยาก มันกระตุ้นต่อมกระสันน่ะ เพราะลึกๆ น่ะมันมีความกระสันอยู่ภายในคืออวิชชานี่ คือต่อมอยาก พอมีอะไรมากระตุ้นต่อม เสียงกลิ่นรสนี่มากระตุ้นปุ๊บ ต่อมกระสันเกิด แล้วมันจะไปจ่อมจ่ออยู่ตรงนั้น

แต่ถ้าเราเท่าทันมัน คือไม่ตามมัน ไม่เชื่อมัน แล้วก็ถือกายเป็นหลัก เอากายเดียวเป็นตัวยึดตัวเหนี่ยว แล้วก็อดทนต่อความอยากนั้นๆ อยากรู้อยากเห็นนั้นๆ เรียกว่าขันติเป็นตบะที่แผดเผากิเลส 

ถ้าไม่มีขันติเป็นตบะแผดเผาแล้วมันจะทานทนต่ออำนาจความอยากไม่ไหว อยากในธรรม โลภในธรรม ไม่สันโดษในธรรม ไม่สันโดษในปัจจุบัน

คือมันเห็นแค่นี้ มันรู้แค่นี้ ก็อยู่แค่นี้แหละ ไม่เกินนี้ไป ได้เท่าไหนก็เท่านี้ เห็นเท่าไหนก็เท่านี้ เข้าใจเท่านี้ก็เห็นเท่านี้ รู้เท่านี้ก็รู้เท่านี้ ...นี่ถ้าเป็นคนพอเนื้อพอตัวพอดีแล้วนี่ จึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา การดำเนินอยู่ในองค์มรรคก็เกิดขึ้น การดำรงอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา เดินอยู่ท่ามกลางความพอดี

ไม่ใช่เดินอยู่ท่ามกลางความอยากและไม่อยาก แล้วแต่ความอยากจะบังคับให้เดินไปอย่างไร ...อันนี้ออกนอกมรรคหมด เป็นความสุดโต่งในองค์มรรค ติดขอบ หลุดขอบ นอกขอบ นอกจอ หลุดเฟรม หลุดมรรคาปฏิปทา

ถึงบอกว่าถ้าไม่มีศีลแล้วนี่ มันจะหาขอบไม่เจอ ถ้าไม่มีกายปัจจุบันแล้ว มันจะไม่รู้จักคำว่าขอบเขตของจิตควรจะอยู่ที่ไหน มันควรจะพอดีอยู่แค่ไหน 

จึงเรียกว่าศีลเนี้ย เป็นเหง้า เป็นฐาน เป็นรากเป็นฐาน...ที่จะล่วงเกิน ล่วงล้ำมิได้ ขาดเสียมิได้เลย


(มีต่อ แทร็ก 10/9) 



วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 10/7 (ต่อเนื่อง)




พระอาจารย์

10/7 (560225B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

25 กุมภาพันธ์ 2556


พระอาจารย์ –

ทั้งหมดนี่...การพูด การอธิบาย การสาธยายธรรม การจำแนกสมมุติธรรม ภาษาธรรม บัญญัติธรรม สังขารธรรม สมมุติธรรม ที่ท่านเอ่ยอ้างมาเป็นปริยัติภาษา 

ว่าศีลคืออะไร ความแท้จริงของศีลคืออะไร ประโยชน์ของศีลคืออะไร 
สมาธิคืออะไร แท้จริงของสมาธิที่เป็นสัมมาคืออย่างไร 
ปัญญาที่เรียกว่าปัญญาที่แท้จริงคืออะไร ปัญญาที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา 
ปัญญาที่เรียกว่าเป็นปัญญาที่จะเป็นเหตุให้เกิดความหลุดและพ้น จากขันธ์และโลก 
มรรคคืออะไร การปฏิบัติที่แท้จริง เป้าหมายของการปฏิบัติที่แท้จริงคืออะไร

นี่คือหน้าที่ของครูบาอาจารย์เหล่าอริยสงฆ์สาวก ที่ท่านจะน้อมนำสาธยายแจกแจงให้ตรงตามอรรถและธรรม ที่พระพุทธเจ้าเคยทำ แล้วสอนสั่งให้ทุกคนทำ เพื่อผลในองค์มรรค คือความเกิดความตายในสังสารวัฏน้อยลง จนถึงขั้นที่เรียกว่าไม่เกิดอีกเลย...นั่นแหละคือผล

เพราะฉะนั้นการวัดผลของการปฏิบัติ ...ไม่ใช่จิตดี จิตไม่ดี ไม่ใช่จิตสงบ ไม่ใช่จิตไม่คิดไม่นึกแล้วดี ... แต่ให้วัดว่า ทุกข์น้อยลงไหม ความหมายมั่น ความจริงจังกับสิ่งต่างๆ จนเป็นทุกข์ มันน้อยลงไหม ความข้องติด ความยึดถือ ความแนบแน่น ความเนิ่นนานในกองทุกข์ ในความเป็นทุกข์ สั้นลงไหม หรือยาวขึ้นไหม 

ตัวนี้จะเป็นตัววัดผล ซึ่งไม่ต้องไปถามใครเลย ไม่ต้องไปให้ใครพยากรณ์เลยว่าถูกรึยังๆ ...ถามตัวมึงเองเหอะ ทุกข์มันน้อยลงรึเปล่าล่ะ ...นี่ ต้องถามอย่างนี้เลย

เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม การกระทำอย่างไรก็ตาม ถ้าทำแล้ว ถ้าคิดแล้ว ถ้าไปจมอยู่กับมันแล้ว เป็นทุกข์มากขึ้น ให้รู้ไว้เลย...ผิด 

ผิดอะไร ... ผิดมรรค ผิดจากศีล ผิดจากสมาธิ ผิดจากปัญญา มันคลาดเคลื่อนจากศีล คลาดเคลื่อนจากสมาธิ คลาดเคลื่อนจากปัญญา เพราะนั้นผลจึงมีแต่ว่าทุกข์มากขึ้น ทุกข์สะสมขึ้น ทุกข์ยาวนานขึ้น ทุกข์แนบแน่นขึ้น ทุกข์แข็งแกร่งขึ้น ...นั่นน่ะใช่เลย ยิ่งทำยิ่งทุกข์ หลับหูหลับตายิ่งทุกข์

"ทำไมไม่สำเร็จสักที" ...นี่ ทุกข์แล้ว เห็นมั้ย ลองคิดเข้าไปดิ ไปยืนคิด เดินคิด นั่งคิด เมื่อไหร่จะสำเร็จวะ ทุกข์มั้ย ลองดูดิ๊ ... จะเห็นเลยว่าอะไรเป็นสมุทัย 

แล้วยังไม่แก้อีกรึไง หือ หรือโง่ปานนั้นก็ไม่ต้องว่าอะไรแล้ว ...มันก็จะรู้เลยว่าอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วจะไปทำทำไม ... เพราะมันเป็นรูปแบบรึไง หรือเค้าทำกันในโลก หรือเค้าแนะนำให้ทำ หรือว่ามันต้องทำเพราะถ้าไม่ทำเดี๋ยวคนอื่นเขาว่า ...ก็คือโง่ต่อไปแล้วกัน

แต่ถ้ามันฉลาดแล้ว มันก็รู้ว่าอันนี้เป็นเหตุให้ทุกข์ จะไปคิดทำไม หือ ถ้านั่งอยู่เฉยๆ แต่ว่ามีความรู้อยู่เห็นอยู่ แล้วก็มีตัวอาการนั่งอยู่ แล้วไม่มีทุกข์ ...แต่ว่าไม่มีความรู้อะไรเลยนะ ปัญญาปัญแหยะก็ไม่รู้ แยกอะไรก็ไม่ออก อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นศีล อะไรเป็นสมาธิ อะไรคือสงบ อะไรคือหลุดพ้น...ไม่รู้  อะไรคือกิเลส อะไรเป็นเหตุปัจจัย ไม่รู้อะไรสักอย่าง...มีแต่รู้ว่านั่ง

แต่ขณะที่รู้ว่านั่ง...ให้สังเกตดูว่า มันว่างๆ มันเบาๆ มันไม่มีอารมณ์อะไรมาข้องแวะ มันไม่ดิ้นรนกระสับกระส่าย มันไม่ทุรนทุราย ... แต่มันไม่เหมือนกับที่คาดไว้น่ะ แล้วมันก็ไม่ได้ผลเหมือนอย่างที่เคยหวังไว้น่ะ ...จะเชื่ออันไหนดีล่ะ หือ

ตรงเนี้ย ครูบาอาจารย์อีกแหละที่ต้องคอยมาย้ำ...เพราะเดี๋ยวมันจะเสียศูนย์ เพราะมันพร้อมที่จะเสียศูนย์อยู่แล้ว บอกแล้วไงว่าสันดานจิตมันเหมือนผู้หญิงที่หอบผ้าหอบผ่อน รอ เมื่อไหร่กูจะไปได้ซะทีนะอยู่นั่นแหละ ...คือมันจะเกินเลย เกินจริงอยู่ตลอด

อะไรที่มันปรากฏอยู่ธรรมดาๆ ณ ปัจจุบันนี้ ..."เซ็งว่ะ มันไม่มีอะไรเลย" ...นั่นน่ะสิ ตรงนี้ ที่มันจะทนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เพราะมันจะหาอะไรที่เลิศกว่า หรือเหนือกว่า ยิ่งกว่า ล้ำกว่า วิจิตรกว่า พิสดารกว่า มหัศจรรย์กว่า เป็นธรรมมากกว่า ...กระทั่งเป็นธรรมมันยังบอกว่า ต้องเป็นธรรมที่มากกว่านี้เลย

ทำไม...ธรรมแค่นี้มันไม่พอ...มันเป็นอะไร หือ มันเป็นโรคอะไร ...มันเป็นโรคตัณหาไง มันกำเริบ มันเป็นโรควิภวตัณหา ความไม่หยุด ไม่อิ่ม ไม่เต็ม ไม่พอ ... ไม่รู้จักหรือที่จะสะกดคำว่า พ.พาน อ.อ่าง ด.เด็ก สระอี ไม่เป็น รู้มั้ยว่าอ่านว่ายังไง...“พอดี” 

มันมีแต่เกิน...เกินจริง เกินธรรม เกินเหตุ เกินปัจจุบัน เกินกาย เกินจิต เกินรู้ ...มันชอบอะไรเกินๆ ถ้าไม่เกินแล้วมันรู้สึกไปอวดคนอื่นไม่ได้ ถ้าเขาถามว่าไปวัดมาแล้วได้อะไร ถ้าตอบว่าไม่ได้อะไร หงอยเลย หงอย

แล้วถ้าเขาบอกว่าเขาได้อะไร เขาอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งหงอยใหญ่ มันอวดกันไม่ได้นี่ เอาธรรมไปอวดเขาไม่ออก ถ้าบอกว่าไม่รู้อะไรเลย ไอ้คนที่อยู่ข้างๆ ก็มองค้อน นั่น ก็เลยเกิดอาการขวนขวายในจิต จะต้องให้ได้ไปแข่งไปอวดเขา เอาความสงบไปอวดเขา ถึงไม่ได้บอกให้คนรู้ ก็อวดตัวเอง

ทั้งหมดน่ะ มันคลาดเคลื่อนจากธรรม คลาดเคลื่อนจากองค์มรรค คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายของมรรค ...มันกลับเป็นการสะสมพอกพูน เพิ่มพูน ตัวเรา ของเรา ธรรมของเรา จิตของเรา การปฏิบัติของเรา ผลของเรา

เพราะนั้นที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งแรกสิ่งต้น เบื้องแรกเบื้องต้น สังโยชน์เบื้องต้น คือ สักกายทิฏฐิ...ละ วิจิกิจฉา...ละ สีลัพพตปรามาส...ละ

แต่ไปๆ มาๆ ปฏิบัติไป ปฏิบัติมา ...ถ้า “เรา” ไม่ดีขึ้นจะไม่เลิกปฏิบัติ ... เออ มึงเลิกซะเหอะ อย่าปฏิบัติอย่างนั้นเลย  เนี่ย จะออกจาก “เรา” นะ ... แต่ว่าพอจะเลิกก็ไม่กล้าเลิกอีกแล้ว ก็ถ้า “เรา” ไม่ปฏิบัติ ถ้า"เรา" ทำแล้วไม่หวังผล ไม่ได้ผลอะไรขึ้นมา แล้ว "เรา" จะปฏิบัติทำไม

แน่ะ มันจะเริ่มแล้ว เริ่มมีเงื่อนไขขึ้นมาให้ติดให้ข้องกับ “เรา” ไม่ยอมให้สูญเสียอะไรที่เป็น “เรา” อะไรที่ “เรา” จะได้มาหรือไม่ได้มา ...นี่คือความเคยชินในการอยู่กับมัน ใช้กับมัน จนอเนกชาติมาแล้ว ไม่ต้องนับ ไม่ต้องรันนิ่งนัมเบอร์

เพราะนั้นการที่จะมาแก้นิสัย การที่จะมาแก้สันดาน ไม่มีอะไรแก้ได้เลย บอกให้ ไม่มีวิธีการอื่น ไม่มีอุบายอื่น นอกจากมรรค...ศีลสมาธิปัญญา อย่างที่เราพูด ...เชื่อหรือไม่เชื่อไม่รู้ ลองเอา ต้องลองเอาเอง

ต้องพิสูจน์เอง ว่าลองนั่งเฉยๆ แล้วไม่เอาอะไรเลย จะไม่ทำอะไรเลย จะรู้ว่านั่ง นอกเหนือจากรู้ว่านั่ง จะไม่สนใจตามมัน มันจะเสนอแนะ มันจะบ่นจะว่า มันจะเตือนจะบอก มันจะลากจะจูง มันจะแนะให้ออกจากนั่ง ให้ลืมว่ารู้ว่านั่ง...ไม่เอา ลองดู...แล้วดูผลมันไป

ไม่ได้อะไรหรอก...แต่ไม่ทุกข์นะ ไม่ได้อะไรหรอก...แต่ไม่มีความอยากหรือความไม่อยากสะสมไปในวันข้างหน้าวันต่อไป ...ให้สังเกตอย่างนี้ เอาตัว เอากาย เอาวาจา เอาจิต เอาใจของตัวเอง พิสูจน์ทราบด้วยตัวเอง มันจึงจะยอม

ใครยอม...จิต จิตใคร...จิตเรา ... นี้จึงเรียกว่าการอบรมจิตด้วยศีล มันต้องอบรม...อบรม รู้จักเป็นกุลสตรีมั้ย ถ้าเป็นกุลสตรี ต้องอยู่ในกรอบ อยู่ในบ้าน ... อยู่ ณ ที่นี้ 

บ้านคืออะไร บ้านคือนี้ นี้คืออยู่ตรงไหน ตรงกายนี้ ปัจจุบันกายนี้ คือกรอบ จะไปกระโดกกระเดกเที่ยวร่อนเร่ไปมาตามตรอกซอกซอยใด ไม่ไปนะ อย่าตามไปนะ อย่าไปจม อย่าไปแช่ อย่าไปนอนค้างกับเขานะ มันอันตราย...เดี๋ยวจะเป็นทุกข์

กลับบ้าน ...อบรมด้วยศีล สติ คือกลับบ้าน ...แน่ะ ไปอีกแล้ว ก็อบรม...ศีล...สติ รู้จักบ้านรึยัง ยังไม่รู้ ยังไม่ชัด เออ กลับบ่อยๆ บ้านตัวเองยังไม่รู้จัก เกิดมาทำไมวะนี่หา มึงไม่มีกายรึไง ฮึ


โยม – ก็มันไม่รู้

พระอาจารย์ – ต้องสอนมัน ต้องเตือนมัน ต้องบอกมัน ด้วยสติ ถ้าสติยังไม่เอาอยู่ ด่ามันเลย สอนมันซะมั่ง ว่ามันจะคิดไปหาอะไร พูดกับตัวเอง...เพื่อให้มันกลับ ต้องให้มันกลับ คือเขาเรียกว่าบางทีต้องหวดด้วยไม้เรียว 

แต่อย่าไปด่าคนอื่นนะ เดี๋ยวโดนชก ...ด่าตัวเอง ด่าจิตตัวเอง แล้วต่อไปก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องเตือนมากแล้ว มันจะรู้ว่าที่ไหนควรอยู่ อยู่แล้วเป็นสุข สุขของมันคือไม่มีเรื่อง ไม่ใช่สุขสบายแบบกินข้าวอิ่มนะ ... แต่สุขแบบไม่มีเรื่อง คือสุขสงบสันติ ไม่มีเรื่อง ไม่เป็นทุกข์

นั่นน่ะ มันจะต้องฝึกด้วยตัวนี้ก่อนเป็นลำดับแรก คือสติในกาย สติที่อยู่กับปัจจุบันกาย สติที่อยู่กับปัจจุบันศีล กายคือปกติกายนี่ คำว่าปกติกายนี่คือความหมายของคำว่า “ศีล”

เพราะนั้นจิตมันก็จะมีศีลเป็นรั้ว คือกายนั่นเอง เป็นรั้วกางกั้น ไม่ให้มันหลุดเล็ดรอดออกไปในอดีตในอนาคต สร้างอดีตสร้างอนาคต สร้างเรื่องราวในอดีต สร้างเรื่องราวในอนาคต แล้วก็ไปจมปลักจมแช่ ไปค้างคืนกับเขา ในอดีตในอนาคต นั่นน่ะ ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่มีจริง

เมื่อใดที่มันรู้จักบ้าน แล้วก็อยู่ในบ้าน มันจะเห็นว่าบ้านเนี่ย เป็นที่คุ้มกะลาหัว เป็นที่อยู่แล้วปลอดภัย อยู่แล้วร่มเย็น เห็นมั้ย เมื่อมันอยู่ได้ในระยะหนึ่ง ชั่วคราวหนึ่งนี่ มันจะเห็นอานิสงส์ของศีล คือมีความร่มเย็น เป็นกลาง มีความร่มเย็นและเป็นกลาง นี่คืออานิสงส์ของศีล ด้วยอำนาจของสติ ที่เป็นสัมมา

เมื่อมีความร่มเย็นของศีลเกิดขึ้น รักษาไว้ ต่อเนื่องไว้ สม่ำเสมอไว้ ไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายหาธรรมที่ยิ่งกว่านี้ ไม่ต้องไปแข่งขันประชันใคร กับนักปฏิบัติ หรือว่าตามตำรา หรือคนนั้นคนนี้ว่า ... มันก็จะพอกพูนอำนาจ อานิสงส์ของศีล ไปตามกำลัง

ถึงบอกว่า ประกอบเหตุอย่างไร ผลได้อย่างนั้น คือว่าต้องอยู่กับการประกอบเหตุแห่งศีลด้วยการประกอบด้วยสติ ไม่ได้ประกอบด้วยความอยากนะ

เมื่อประกอบเหตุแห่งศีลด้วยสติ คือประกอบเหตุด้วยการระลึกรู้ลงที่กาย ซ้ำๆ ซากๆ ต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย สม่ำเสมอ เป็นผลลัพธ์...ที่จะทำให้จิตรวมเป็นหนึ่ง จิตตั้งมั่น เป็นกลาง...อยู่ภายใน 

ไม่ใช่ไปตั้งอยู่ที่อื่น ไม่ใช่ไปรวมอยู่ที่อื่นนะ รวมแล้วอยู่ภายในนี้ อยู่ภายในกายนี้ เพราะมันอยู่ในกรอบกาย มันจะไปรวมที่ไหนล่ะ มันก็รวมอยู่ในกายนี้ มันก็ตั้งมั่น มั่นคงอยู่ในกายนี้

เมื่อมันตั้งมั่นมั่นคง หมายความว่า อะไรมากระทบผ่านหู ผ่านตา ผ่านจมูก ผ่านลิ้น ผ่านความคิด ผ่านความจำ มันจะไม่จับมาเป็นอารมณ์ ... นี่คืออานิสงส์ของสมาธิเริ่มบังเกิดแล้วนะ คือมันมีความมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ส่ายแส่

และก็รักษาไว้ อย่าเพิ่งรีบ อย่าเพิ่งหาปัญญา...อย่าเพิ่ง "แหม ต้องไปพิจารณาอย่างนั้นอย่างนี้ให้เกิดปัญญา ตำรานั้นต้องพิจารณากายอย่างนั้นในแง่นั้นมุมนี้" ... ไม่เอาอ่ะ อยู่อย่างนี้ไปก่อน แล้วก็รู้กับกายไว้ รู้กับกายไว้ จิตก็จะมั่นคงตั้งมั่นขึ้นไปเรื่อยๆๆๆ

จนมันแยกออกชัดเจน กายอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง คนละอย่างกัน ... มันเห็นเป็นสองอย่าง มันมีสองอย่าง ...เมื่อมันมีสองอย่างเมื่อไหร่ มันจะมีอาการหนึ่งปรากฏขึ้นมาคืออาการเห็น เหมือนตามันลืมขึ้นข้างใน แล้วมันเห็นอาการข้างหน้ามัน คืออาการคือกาย...แต่มันจะเห็นในมิติใหม่

มันเห็นในมิติใหม่ มันเห็นกายในมิติใหม่ ...มิติที่ไม่มีความคิด มิติที่ไม่มีความจำมาประกอบ มิติที่ไม่มีอดีตมาแทรก มิติที่ไม่มีอนาคตมาบอกมาคุม มิติที่ไม่มีภาษา มิติที่ไม่มีบัญญัติ มิติที่ไม่มีสมมุติ ไม่มีนาม ไม่มีชื่อ

มันจะเป็นมิติที่ เป็นก้อนๆ เป็นกองๆ อะไรก็ไม่รู้ ตรงเนี้ย เรียกว่า เห็นตามความเป็นจริง จิตเห็นกายในมิติที่หมดคำพูดความเห็น เพราะนั้นตัวนั้นไม่เรียกว่าจิต แต่ตัวนั้นเรียกว่าใจผู้รู้ผู้เห็น จึงเป็นแค่ดวงจิตดวงใจผู้...รู้ผู้เห็น 

แล้วมันเห็นกาย เห็นสภาพกาย เห็นสภาวะกายตามความเป็นจริง ...ตัวที่เห็นสภาวะกาย สภาวธรรมของกายตามความเป็นจริงนั้น เรียกว่า ญาณทัสสนะ

แต่เมื่อใดเวลาใดกำลังของสติ ความตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันกายน้อย อ่อน หมด สภาวะญาณทัสสนะ เสื่อม คลาย จาง หาย อันนี้เป็นธรรมดาเลย เป็นตามเหตุอันควร เป็นตามปัจจัยอันควรเลย ... ไม่ผิด แล้วก็ไม่ถูก แต่จริง ...จริงตามธรรม ตามเหตุแห่งธรรมนั้นๆ

เพราะนั้น ถ้าจะกลับสู่ความเป็นจริงเช่นนี้ เห็นความเป็นจริงอย่างนี้ ต้องประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิปัญญาซ้ำอีก ...ไม่มีลัด ไม่มีอุบาย ไม่มีว่าจะสต๊าฟมันให้ได้คงที่นิรันดร ...ก็ซ้ำๆ ซากๆ วนเวียนอยู่ในศีลสมาธิปัญญา เป็นตายขายขาดอยู่ในศีลสมาธิปัญญา 

ไม่ออกนอก ไม่ลืม ไม่จาง ไม่หาย ไม่ขาด...จากศีลสมาธิปัญญา เมื่อใด นั่นแหละเรียกว่าการประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิปัญญานั้นบริบูรณ์ เต็ม...เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มที่เต็มทาง เต็มฐาน แล้ว จึงจะเกิดคำว่า มหาสติ มหาสมาธิ และมหาปัญญา

ถ้าถึงขั้นมหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญา หมายความว่า ดวงจิตผู้รู้นี้ ถูกหล่อหลอม ถูกควบคุม ถูกอบรมด้วยศีลสมาธิปัญญาแบบเต็มที่ ...จึงเกิดภาวะที่เรียกว่า ศีลสมาธิปัญญานี่ มันกลายเป็นหนึ่งเดียวกันกับใจ

เมื่อมันเป็นหนึ่งเดียวกันกับใจ หมายความว่า ดวงจิตดวงใจผู้รู้ผู้เห็นนั้น จะมีอาการรู้เห็นเป็นอัตโนมัติ ...เหมือนเป็นอัตโนมัติ ไม่ปราศจากการรู้และการเห็นแม้แต่ขณะใดขณะหนึ่ง แปลว่า ไม่สามารถปรากฏหรือบังเกิดสภาวธรรม สภาวะจิตที่เรียกว่า “ไม่รู้” ได้เลย เพราะมันจะอยู่ด้วยองค์แห่งความรู้และเห็นตลอดเวลา

ตรงนี้ จิตนี้ ลักษณะธรรมตรงนี้ที่ท่านเรียกว่า "รัตตัญญู"  คำว่า รัตตัญญู แปลว่าอะไร แปลว่า เป็นผู้ที่ ไม่มีกลางค่ำกลางคืนน่ะ คือเป็นผู้ที่ไม่หลับ ไม่มีเวลาหลับ นอนก็นอนไป แต่จิตไม่นอน จิตไม่หลับ คือไม่หลง ไม่หาย ทั้งๆ ที่ว่าอาสวะยังไม่หมดนะ แต่ด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญา...ที่ยิ่ง ที่เป็นอธิ ที่เป็นมหา

มันจะเกิดเป็นอธิ เป็นมหา ได้อย่างไร ... เพราะความพากเพียร ณ ทุกปัจจุบันไป 
หลง ลืม...รู้ใหม่ 
หลง ลืม...รู้ใหม่ 
หลง ลืม...รู้ใหม่


(มีต่อ แทร็ก 10/8)