วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 10/14



พระอาจารย์

10/14 (560302E)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

2 มีนาคม 2556



พระอาจารย์ –  เพราะนั้นก็อาศัยพลังทั้งภายนอก และก็พลังทั้งภายในสนับสนุน 

เพราะลำพังถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้แนะว่าศีลสมาธิปัญญาคืออะไรที่แท้จริง แค่นี้ปิดทางมรรคเลย ...แล้วก็หลับหูหลับตาทำไป เรียกว่าทำแบบลูบๆ คลำๆ  สุดท้ายก็เจอตอ หรือไม่เจอตอก็เจองูแว้งกัด  เพราะมันตาบอดในศีลสมาธิปัญญา

แต่เมื่อมีภายนอก-ภายในสนับสนุนกัน มันก็ไปบรรเจิดจรรโลงขึ้นในมรรค คือว่าแสงสว่างในมรรคก็เกิดได้  มันก็เห็นลู่ทาง ช่องทาง ที่จะหลุด ที่จะพ้นออกจากขันธ์ ออกจากโลกอย่างไร ...นั่นล่ะคือเส้นทางของมรรค

และไม่มีเส้นทางอื่นเลย ... นี่ ยืนยันได้ด้วยตัวของมันเอง  ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ไม่มีเส้นทางอื่น ไม่มีวิธีการอื่นเลย ไม่มีอุบายอื่นเลย  มีแต่หลัก...ศีลสมาธิปัญญา...หลักเดียวเท่านั้น 

ไตรสิกขา หลักเดียวเท่านั้นน่ะ โดยมีการประกอบในองค์มรรค คือสติ มหาสติ...เป็นพื้นเลย ที่จะเดินหรือว่ามรรคนี่ถึงจะเคลื่อน ...ช้าหรือเร็วอยู่ที่สติ...มหาสติ คือความสม่ำเสมอและต่อเนื่องนั่นเอง

เมื่อใดที่เกิดความสม่ำเสมอและต่อเนื่องนั่นแหละ มันจะเป็นไปเพื่อให้เข้าถึงมหาสติ  นั่นแหละคือความรวดเร็วฉับพลัน ว่องไว เท่าทันต่อทุกกระบวนท่าของจิตที่มันออกมาพร้อมกับความไม่รู้ แล้วมันจะสร้างให้มันจริงขึ้นมา 

มันจะเท่าทันหมดทุกกระบวน ทุกลักษณะของจิตที่มันจะพาออกนอกนี้ไป ...อย่างที่เราเคยบอกว่า เหมือนตัวตลกมาเล่นหน้าเวทีแล้วกูไม่ตลกเลยน่ะ  ...ซึ่งแต่ก่อนเคยหัวเราะน้ำหูน้ำตาเล็ด 

แต่ตอนนี้ดูแล้ว เฉย เพราะรู้ว่ามันแสดงตลก มันไม่ใช่ของจริง ...ตลกมันหน้าด้านแสดงได้ก็เก่งแล้วว่ะ  แบบ...งัดมาทุกมุขแล้วมันยังไม่หัวเราะเลย แค่ยิ้มก็ยังไม่ยิ้มด้วยเลย  มีแต่เฉยๆๆๆ 

เหมือนมึงไม่ได้เล่นอะไรให้กูดูอย่างนั้นน่ะ ...ตลกมันคงไม่ทำงานต่อแล้วล่ะ ไปหลอกคนอื่นดีกว่า มีคนหัวเราะขี้แตกขี้แตนเยอะ ในโลกนี่เยอะ มันก็ไปหลอกคนเหล่านั้น จิตน่ะ

นี่คือจิตนะ ถ้ามันหลอกไม่ได้ ก็หมดมุขแล้ว ...เนี่ย ปัญญาญาณเป็นอย่างนี้  ถึงรู้ว่าหมดไปยังไง สิ้นไปยังไง ...ไม่มีใครมาพิสูจน์ทราบได้ ต้องตัวมันเองจริงๆ 

เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ใครเห็นได้หรอก มันเป็นเรื่องจำเพาะกายจำเพาะจิตนั้นจริงๆ  แล้วไม่สามารถจะมาอวดอ้างสรรพคุณได้ด้วย ใครจะไปเชื่อ  มันก็เลยอยู่ในที่อยู่ในทางนั่นแหละ

ก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปพูดให้ฟัง ...มันเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม มันเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพิสูจน์ทราบ และลองทำดู มันถึงจะคุยกันพอเข้าใจ ...เรียกว่าพูดภาษาคนรู้เรื่อง

ไอ้เรานี่พูดภาษาคนแล้วคนฟังไม่รู้เรื่อง  เพราะเราพูดภาษาคน แต่มันไม่ได้เป็นคน ปัญหาคือตรงนี้  เพราะเราพูดนี่พูดภาษาคน เพราะนั้นคนที่พยายามกลับมาเป็นคนจริงๆ น่ะ มันถึงจะฟังภาษาคนรู้เรื่อง 

แต่ไอ้คนที่ไม่รู้จักเลย และไม่พยายามทำให้ตัวเองกลับมาเป็นคนเลย มันจะฟังภาษาคนนี่ไม่รู้เรื่อง ...ก็เป็นภาษาธรรมดานี่เอง ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ เรื่องธรรมดาที่มันเจอตั้งแต่มันเกิดจนตาย ...ก็วนเวียนอยู่ในเรื่องธรรมดาของความเป็นคนนี่เอง 

แต่มันไม่ยอมทำตัวมันให้เป็นคนขึ้นมาเลย มันก็จะฟังภาษาคนไม่รู้เรื่อง ...เพราะเราไม่ได้พูดลึกลับซับซ้อนอะไร พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนอะไรลึกลับซับซ้อนพิสดารอะไร

แต่มันชอบอยู่ในภาวะที่เกินความเป็นคนขึ้นไป หรือต่ำกว่าความเป็นคนไป  แล้วไม่ลืมหูลืมตา  ฟังไม่รู้เรื่องหรอกๆ ...ดีไม่ดีมันก็ด่า ใช่มั้ย ไม่ด่าก็ติหรือวิพากษ์วิจารณ์ ...ไอ้ลักษณะอย่างนี้เขาเรียกว่าหาเหาใส่หัว อยู่ดีไม่ว่าดี ... เนี่ย จิต หากรรม หาเหาใส่ตัวโดยที่ไม่สมควร 

ถึงบอกว่าถ้าไม่สำรวมจิต ถ้าไม่ระวังจิต ...ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่กับพระนะ แต่กับทุกคน อย่างมันเห็นคนเดินผ่านบนท้องถนนมันก็หาเรื่องได้ หมายความว่าจิตแค่ไปนึกว่า 'ทำไมอย่างนั้นนะ ไม่เห็นดีเลย น่าจะ อย่างนี้' 

นี่ มันไปแล้ว เกิดการปรามาส เกิดการล่วงเกินแล้ว ...นี่ถ้าไม่สำรวม ไม่ระวัง เท่าทันนี่  จิตน่ะมันจะก่อร่างสร้างทุกมโนกรรม...ซึ่งมีอกุศลเป็นพื้นเลย

เพราะนั้นโดยธรรมชาตินี่ โดยกรรมวิบากเช่นนี้ จึงหาคนที่เกิดมาหน้าตามันหมดจดสมบูรณ์โดยไร้ฝ้าราคีไม่มีหรอก ...เหล่านี้คือเกิดจากมลทินของจิต มันก่อร่างสร้างขันธ์ขึ้นมา 

เพราะนั้นขันธ์แต่ละขันธ์นี่ มันจะมีภาวะที่มันไม่มีคำว่าหมดจดสมบูรณ์ได้  แล้วก็แตกต่างกันไป ดำ ขาว กระดำกระด่าง  แม้แต่ผิวพรรณ สีผิวนี่ยังไม่เป็นหนึ่งเดียวกันเลย

ทุกอย่างมีเหตุหมดนะ ไม่ใช่มันมาจากดวง ...แต่ด้วยเหตุจิตมันที่เป็นมลทิน คอยแต่งแต้มรูปขันธ์นามขันธ์  จะปรุงแต่งขันธ์มาอย่างไร ตามอำนาจของมัน 

เพราะนั้นระหว่างนี้ พวกเรานี่ก็ใช้ชีวิตอยู่เพื่อก่อร่างสร้างขันธ์ แล้วก็ก่อร่างสร้างภพในอนาคต...ด้วยความไม่รู้เลย

แต่เมื่อใดที่อยู่ในองค์มรรค ทุกอย่างน่ะเป็นการลบล้าง และกำลังลบภพอนาคต และกำลังมาลบถึงที่สุดคือลบภพปัจจุบัน ชาติปัจจุบัน ...นี่ถึงเรียกว่ากลับสู่ความเป็นคน ...แล้วก็ลบออกจากความเป็นคน ลาออกจากความเป็นคน ไม่กลับมาเป็นคนอีก

แต่ถ้ายังไม่เป็นคนนี่ไม่ต้องพูดถึง มันก็ไปเตรียมสร้างภพสร้างชาติข้างหน้าแล้วกัน ...จิตมันก็จะก่อร่างสร้างภพสร้างชาติ ที่คาด ที่หมาย ที่หวัง  แล้วมันก็ทำไปๆ มันก็สะสมกำลัง เป็นอนุสัย เป็นวิบาก ที่จะรอรับผลในภายภาคหน้า 

มันเลยไม่รู้จัก มันเลยเกิดมัวเมาไม่รู้จักโทษแห่งการเกิด โทษแห่งการที่ปล่อยให้จิตล่องลอย เลื่อนลอย คิดไปมา แบบไม่มีทิศไม่มีทาง ...แล้วยังสนับสนุนมันอีกต่างหาก

เพราะนั้นกว่าที่มันจะหันเห...มายอมหรือศิโรราบ ราบคาบต่อศีลสมาธิปัญญา นี่ ต้องใช้กำลังทั้งภายนอกและภายใน  ครูบาอาจารย์ก็ช่วยแนะนำ ตักเตือน ... ให้ทวนบ่อยๆ 

เพราะมันทวนเองไม่ไหว ...เว้นเสียแต่เป็นพระพุทธเจ้าองค์เดียวที่เป็นเอง นี่เขาเรียกว่าสามารถด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครบอก ใครนำ ใครสอนด้วย ... เก่งมั้ยล่ะ

นี่บอกก็แล้ว สอนก็แล้ว มันยังดื้อเลย มันยังไม่ยอมเลย ...อย่างพวกเราตอนนี้ ต่อให้พระพุทธเจ้ามานั่งเทศน์ ยังไม่ฟังเลย  จิตระดับที่มันเป็นอย่างนี้ ดีไม่ดียังไม่เชื่อเลยว่ามีพระพุทธเจ้า 

เพราะพระพุทธเจ้าตามที่เราคิด กับพระพุทธเจ้าตามความจริง...ไม่เหมือนกันนะ  แต่ละคนก็มีภาพพระพุทธเจ้าไม่เหมือนกัน ...เพราะนั้นต่อให้พระพุทธเจ้าองค์จริงมานั่งแล้วพูดอย่างนี้ให้ฟัง ...ก็อาจจะฟัง ว่าไพเราะ น่าเชื่อ สมควร ...แต่จะทำตามมั้ย นี่อีกเรื่องนึง 

มันจะเป็นอย่างนี้จริงๆ นะ จิตนี่ ...มันดื้อ มันอหังการในตัวของมันเองมากๆ มันมีความถือเนื้อถือตัวในตัวของมันเอง ว่าทุกอย่างที่มันคิด ทุกอย่างที่มันปรุง ทุกอย่างที่มันออกมาเป็นความเห็น สรุปเป็นความเห็นขึ้นมาแล้วนี่คือ...ใช่ จริง ต้องเชื่อ อย่างเนี้ย


เพราะนั้นก็มีสองเรื่อง...กายกับใจ  ทำกายกับใจให้อยู่คู่กันในปัจจุบัน นี่แหละคือมรรค  เมื่อใดที่รักษามรรคคือกาย-ใจปัจจุบันได้ต่อเนื่อง นั่นน่ะคือผล 

ง่าย ลัด ...ไม่รู้จะลัดตรงไหน ตรงจนไม่รู้จะตรงยังไง  จนทิ่มหูทิ่มลูกตา ทิ่มจนตูดทะลุหัวแล้ว  มันตรงจนไม่รู้จะตรงขนาดไหนแล้ว

แต่จิตน่ะมันคอยจะชักใบให้เรือเสีย ...แล้วยังจะไปดูมันทำไม ยิ่งดูยิ่งเชื่อมัน ยิ่งดูมันก็จะยิ่งปรุงเหตุและผลที่น่าเชื่อถือขึ้นมาให้เห็นน่ะ  แล้วก็เสร็จ ติดบ่วงมัน ..ก็ไม่ได้เห็นหรอกว่ามันดับไป เดี๋ยวก็มาใหม่

แต่ถ้าเชื่อศีลสมาธิปัญญา ...มีแค่นี้เอง กาย-ใจปัจจุบัน รู้กายรู้ใจ  แล้วจะเห็นทุกอย่างอยู่ในนั้นแหละ ...แล้วก็ละทุกอย่างที่มันออกมานอกเหนือจากกายใจ นั่นแหละคือหน้าที่ของมรรค...ด้วยปัญญา 

ถ้าไม่มีปัญญา มันจะไม่ละ มันละไม่ออก และมันจะไม่ยอมละ ...แล้วมันยังจะจับมาเป็นเรื่อง แล้วจับมาเป็นสาระ แล้วจับมาเป็นเหตุชี้นำ

ทุกอย่างที่มันออกมานอกเหนือจากกายใจแล้วเป็นเหตุชี้นำให้ทำตาม ให้รู้ไว้เลยนั่นน่ะคือสุดโต่งในองค์มรรค อาจจะตกขอบหรืออาจจะไม่ทันตกขอบ หรืออาจจะหลุดนอกขอบไปเลยก็ได้ 

เหตุนั้นๆ จึงเรียกว่าอัตตกิลมถานุโยคและ กามสุขัลลุกานุโยค มันเกิดที่ไหน สังเกตไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ ... กายใจที่เดียวนั่นแหละ จะเข้าใจโดยตลอด


โยม –  พระอาจารย์คะ จะขออุบายพระอาจารย์ได้ไหมคะ

พระอาจารย์ –  อือ ท่องไว้ว่า "ทำอะไรอยู่" ... กลับมาท่องถามตัวเองอยู่ตลอดว่าทำอะไรอยู่ นั่นแหละ เป็นคำบริกรรม เพื่อให้กลับมาอยู่ในศีลสมาธิปัญญา ...ไปยืนเดินนั่งนอนดูตัวเองนั่นแหละ เป็นมรรค


โยม –  แล้วครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ พอจะมีมั้ย

พระอาจารย์ –  ก็มี ...คือถ้าเป็นสายกรรมฐานส่วนมากท่านจะเน้นเรื่องสมถะ แล้วก็รูปแบบการปฏิบัติ ซึ่งมันจะเอามาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ค่อยได้ 

แต่อย่างอาจารย์ปราโมทย์ ลักษณะก็คล้ายๆ กันกับเรา แต่คนจะไปเข้าใจว่าท่านสอนแต่การดูจิตแล้วก็เน้นให้ดูจิตอย่างเดียว ไม่ใช่หรอก ท่านก็สอนกาย-จิต...กายใจ

แต่เราเน้นศีล เราเน้นกาย จิตเป็นรอง ...อย่าไปเข้าใจว่าจิตเป็นตัวนำ แล้วก็ต้องเอาจิตเป็นหลัก ดูจิตเป็นหลัก ... เราบอกว่าเอากายเป็นหลักแล้วเอาจิตเป็นรอง 

คือไม่ได้ขัดแย้งกับท่านน่ะนะ ... แต่อย่างนี้พวกเรามันจะได้หลักฐาน...ได้รากฐาน แล้วมันจะได้ความมั่นคงของใจ ...ไม่ใช่ได้ความมั่นคงของจิตนะ แต่มันจะได้ความมั่นคงของใจ...คือดวงจิตผู้รู้

เมื่อใดที่เข้าถึงดวงจิตผู้รู้  เมื่อใดที่เห็นสภาวะที่เรียกว่า นีี่คือดวงจิตผู้รู้  จนมันตอบตัวเองได้แน่ ...ที่อาจารย์เพิ่นพูดคือดวงจิตผู้รู้  แล้วถึงตรงนั้นแล้วมันจะชัดเจน ...เนี่ย ดวงจิตผู้รู้ 

ตรงนั้นน่ะทุกอย่างจะเหมือนกับฟ้าที่ใส กระจ่าง ชัดเจน ... เหมือนกับเราจะเห็นไม่มัวๆ สลัวๆ อย่างนี้

เมื่อใดที่ดวงจิตผู้รู้ที่มันปรากฏชัดอย่างนั้น เหมือนกับฟ้านี่ เคลียร์  ทุกอย่างเคลียร์หมด อะไรเป็นอะไร หมาเป็นหมา ต้นไม้เป็นต้นไม้ สัตว์เป็นสัตว์ ทุกอย่างเคลียร์ในตัวมันเองหมดเลย ...นั่นแหละเพราะสัมมาสมาธิบังเกิดขึ้น

เราถึงบอกว่าให้ยึดหลักกายนี่ จะเข้าถึงดวงจิตผู้รู้ ... แต่ถ้าเอาจิตดูจิตเป็นหลัก จะได้จิตดี คือจิตว่าง จิตสบาย จิตไม่มีอะไร ...ผลมันได้แค่เปลือกนะ ได้แค่อารมณ์นั้น 

นอกจากผู้ที่มีชวนะดี สามารถน้อมลงที่ใจผู้รู้ได้ โดยอาศัยจิตเป็นฐานที่ตั้ง ...แล้วจากนั้นไปจึงจะลิงก์ไปถึงกาย หมายความว่าเป็นธรรมหนึ่งเดียวกัน นี่ก็ได้ ...เราไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้นะ

แต่ว่าในลักษณะอย่างของพวกเรานี่ ...คือ ดูสีสันวรรณะ ดูรูปโฉมโนมพรรณแล้ว...ไม่น่าจะได้นะ (โยมหัวเราะกัน) เป็นไปได้ยาก ...มันติดเยอะ 

คือมันเป็นพวกลูกอีช่างถูกหลอกน่ะ พร้อมที่จะถูกหลอกอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว คือปัญญามันยังต่ำเตี้ยติดดิน ...คงไม่ได้หวนที่จะระลึกถึงดวงจิตผู้รู้ขึ้นมาโดยลักษณะใช้จิตเป็นฐาน หรือใช้ธรรมารมณ์เป็นฐานหรอก

แต่ว่าถ้าใช้กายหรือว่าศีลเป็นฐานเลย นี่ มันชัดเจนมาก ...จะเข้าสู่ใจ ดวงจิตผู้รู้ได้  แล้วเข้าถึงหลักมั่นคงของใจที่ตั้งมั่นเป็นกลางเป็นสัมมาสมาธิ 

เมื่อนั้นน่ะทุกอย่างจะหายสงสัย ...แล้วมันจะค่อยๆ จางคลายจากความสงสัยในธรรม ว่าอะไรเป็นธรรม หรือว่าธรรมไหนจะต้องกำหนด ...แล้วจะรู้เองว่ามันจะต้องอย่างไร แล้วจะเห็นธรรมหนึ่ง 

เมื่อใดที่มันเห็นธรรมหนึ่งแล้ว มันจะหายสงสัยว่าจะกำหนดธรรมไหนดี ...ตอนนี้มันยังคาสงสัยว่าจะเอาธรรมไหนมากำหนดพิจารณาดี ...จนเมื่อมันเห็นเป็นธรรมหนึ่งนั่นแหละ  

ด้วยจิตหนึ่ง...มันจึงจะเห็นธรรมหนึ่ง ... เมื่อใดที่จิตหนึ่งบ่อยๆ รวมอยู่ที่จิตหนึ่งบ่อยๆ ดวงจิตผู้รู้บ่อยๆ มันจะเห็นธรรมหนึ่ง มันจะเข้าใจความหมายคำว่าธรรมหนึ่ง หรือว่าธรรมเอก


เมื่อเข้าถึงธรรมเอกนั่นแล้ว นั่นแหละ มันจะไม่สงสัยในธรรมว่าจะเอาอะไรมากำหนดเลย ...ทุกอย่างคือธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกขณะ...ปรากฏด้วยธรรม  


......................................


วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 10/13



พระอาจารย์

10/13 (560302D)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

2 มีนาคม 2556



โยม –  มีอุบายที่จะให้แบบมีฉันทะ...ในการพอใจในแค่การดูการรู้

พระอาจารย์ –  นึกถึงหน้าเราไว้...(โยมหัวเราะกัน)  ...เห็นหน้าเรามั้ยนี่ หน้าตาที่เราจริงจัง ...นึกถึงหน้า นึกถึงเสียงเราไว้  

เอาเหอะ ...คือยังไงน่ะ ศรัทธานี่ มันไม่ได้เกิดในวันเดียว  เขาเรียกว่ายังไง...'กรุงโรมนี่ไม่ได้สร้างภายในวันเดียว' เคยได้ยินรึเปล่าคำนี้

ฝืนทวนบ่อยๆ ผลมันจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่รู้น่ะ แต่มันยังไม่สะสมผลจนเกิดความศรัทธาและก็ยอมรับขึ้นมา ...แต่ว่าฝืนทวนบ่อยๆ นั่นน่ะ เตือนตัวเองบ่อยๆ แล้วก็กระชาก หมุนตัวกลับ จากอาการอื่นๆ ที่มันจะพาค้นพาหา พาดูพาเห็นออกไป

ไม่เอา ...ตัดอกตัดใจ ขัดใจพ่อตาแม่ยายมันหน่อย  เอาอย่างเนี้ย จะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เป็นกุลสตรี เป็นแม่ศรีเรือนซะหน่อยอย่างนี้ ...ต้องคอยบอกมันอย่างนี้

แล้วมันจะค่อยๆ เห็นผล ...เมื่อมันเห็นผลทีละเล็กทีละน้อย มันก็จะรู้สึกว่า...'ไม่เห็นจะต้องรู้อะไรก็สบายดี' มันว่า ...นี่ คือผลแรก... 'ไม่เห็นเดือดร้อนเลย' 

ก็ไม่เห็นรู้สึกว่าจะต้องไปแข่งขันอะไรกับใคร ไม่เห็นจะต้องวิ่งตามมรรควิ่งหาผลอะไรเลย  ก็อยู่อย่างนี้ สบายดีแล้ว มันรู้สึกเย็นดี  ไม่มีเรื่องมาก น้อยเรื่องลง ไม่ค่อยมีเรื่อง ไม่ค่อยจะเป็นเรื่องอะไร ... เออ มันเริ่มเห็นผลอย่างนี้

เริ่มเห็นความสุขในการหยุดอยู่แล้ว ...แล้วก็รู้อันเดียวในสิ่งอันเดียว แล้วมันเริ่มรู้สึกเบาดี ไม่มีธุระ ไม่ต้องไปหาธุระ ไม่ต้องไปหาจ็อบ ...ก็อยู่ได้ ไม่เห็นตายเลย  ก็ไม่เห็นเป็นสุข ก็ไม่เห็นเป็นทุกข์ ก็อยู่ดี ... เออ อย่างนี้

ศรัทธาในศีล ศรัทธาในสมาธิ มันก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น จนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นอจลศรัทธา ...ถ้าเป็นอจลศรัทธานี่หมายความว่าเป็นพระอริยะ...ไม่เปลี่ยนแล้ว 

ไม่มีการขอสมาทาน ลาออกจากศีลสมาธิปัญญาแล้ว ...คือเหมือนกับถูกจับบวชตลอดชีวิตแล้วประมาณนั้นน่ะ คือเข้าถึงเลย ...นี่เขาเรียกว่าอจลศรัทธาแล้ว

แต่พวกเรามันยัง...เดี๋ยวบวชเดี๋ยวสึก เดี๋ยวสึกเดี๋ยวบวชๆ  คือเข้าๆ ออกๆ ...ถ้าเผลอเมื่อไหร่นี่ คือเจ้าอาวาสเผลอเมื่อไหร่กูก็สึก...ไปเลย แล่นโลดไปมา ออกนอกวัด ออกนอกขันธสีมา ออกนอกเขตสงฆ์

คือกายนี่เป็นเขตสงฆ์ หนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบนี่ถือเป็นอาราม เป็นพัทธสีมา ...ผู้ที่อยู่ในนี้ด้วยความสงบ ไม่กระวนกระวาย ไม่กระสับกระส่าย  นั่นแหละเจ้าอาวาส คือสงฆ์ คือสังฆะ

เพราะนั้นสงฆ์นี่ไม่มีหญิงไม่มีชายนะ ... ลักษณะของใจผู้รู้ผู้เห็น นั่นน่ะ ไม่มีหญิงไม่มีชายนะ ไม่มีเพศ ไม่มีสถานะ ไม่มีพรรษา  เพราะไม่มีอายุ...ใจไม่มีอายุ  เพราะนั้นจะมานั่งลำดับพรรษาอาวุโสไม่ได้ แต่ถ้ารูปกายนี่ได้ ตามสมมุติได้

แต่ถ้าใจนี่...เท่ากัน  ไม่ว่าใจพระพุทธเจ้า ใจพระอริยะ ใจพระอัครสาวก หรือใจพระอรหันต์ธรรมดา ไม่มีอายุ ...เท่ากัน เหมือนกัน อยู่ที่เดียวกัน ไม่มีลำดับ ไม่มีบุคคลเลย ... ใจ นั่นแหละถึงจะเป็นสังฆะ หรือเป็นสงฆ์ที่แท้จริง

แต่ถ้ายังเป็นสงฆ์ไม่แท้จริง มันก็...เดี๋ยวจะออกให้ได้ๆ  คือคอยจะชะแง้ชะเง้อตามช่องตามรู คือตามช่องตาหูจมูกลิ้นกาย  เนี่ย มันมีช่องแตกช่องลอดที่ไหนก็ลอดช่องออกไป มันมีแสงสีเข้ามากระทบนี่ มันเถิดเทิงๆ ...มันก็จะไปๆๆ 

เนี่ย เขาเรียกว่ายังไม่สมบูรณ์  ใจยังไม่สมบูรณ์ จิตยังไม่สมบูรณ์  มันยังมีการทะยานไปตามอารมณ์ คือจะไปเกิดกับอารมณ์นั้น คือจะไปสนุกกับอารมณ์นั้น

เพราะว่าประตูหน้าต่างวัดนี่เปิดตลอดนะ ปิดไม่ได้ ...นอกจากว่าเจ้าอาวาสนั้นจะเป็นผู้ที่อบรมได้ดีแล้ว จึงรู้ว่า แม้เสียงจะดังแบบมาตีฉิ่งตีฉาบอยู่หน้าประตู กูก็ไม่เคลื่อน เฉย ...นั่น ผู้บริบูรณ์แล้ว 

ก็ปล่อยให้มันบ้าไป ...เพราะว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ เพราะว่านี่คือความเป็นไปในโลก เพราะว่านี่คือธรรมชาติของความเป็นจริงของโลก...มันเป็นอย่างนี้ แก้ไขไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ข้องเกี่ยวไม่ได้ เขาก็ยังเป็นกันอยู่อย่างนี้แหละ

นี่ ท่านเข้าใจ ท่านถึงไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ที่จะไปและมากับมัน ทั้งในแง่จัดการห้าม หรือ สนับสนุน ...ก็แยกกันเป็นคนละปริมณฑลกัน เหมือนกับนี่เป็นเขตสงฆ์นะ  นั่นเป็นเขตโลกนะ เอาไปเลยโลกียะ  นี่เขตสงฆ์เป็นโลกุตตระ มันไม่เกลือกกลั้วกัน

แล้วก็ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายกัน แล้วก็ไม่เข้าไปจัดการอะไรกัน ...ไอ้ตัวมันก็เข้ามาไม่ถึง ตัวเราก็ไม่เข้าไปถึงมัน ... เนี่ย โลกุตตระกับโลกียะ ก็อยู่คู่กันด้วยความสันติ เป็นสันติธรรม

นี่แหละที่ท่านเรียกว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ  คือมันแยกกันโดยสิ้นเชิง ...ไม่ใช่ว่าโลกุตตรธรรมมันจะไปบดบัง หรือปิดบัง หรือว่าเปลี่ยนแปลงโลกียธรรมนะ...ไม่มี ไม่ข้องกันเลย ...เหมือนน้ำกับน้ำมัน คนละส่วนกัน

เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว  ถามว่าน้ำที่อยู่บนใบบัวน่ะ มันจะรักษารูปลักษณ์ของน้ำได้ตลอดมั้ย ...ก็ใบบัวมันไหว น้ำก็กลิ้งไปกลิ้งมา บางทีก็กระจายๆ ไป 

แต่พอสภาวะใบบัวนั้นมันหยุดนิ่ง น้ำก็มารวมกันใหม่ ...แต่ว่าไม่หายไปไหน เข้าใจมั้ย กลับมาคืนสภาพเดิมตลอดเวลา แล้วก็ไม่ซึมซาบหายไปกับใบบัว ขอบบัว หรือว่าตกหล่นไปไหน

นั่นน่ะคือสภาพที่มันเป็นอมตะ ไม่มีวันสลาย ...แต่ว่าไอ้รูปลักษณ์รูปทรง มันจะเป็นยังไงก็ได้  เพราะไม่มีที่ตั้งที่แน่นอน 

ไม่ใช่ว่าใจก็คืออย่างนี้หนา ... นี่ ไอ้ใจที่รวมเป็นหนึ่งแล้วก็เป็นก้อนอยู่กลางใบบัว แล้วไม่ยอมขยับเขยื้อนไปไหน ...นั่นเขาเรียกดวงจิตผู้รู้ เข้าใจมั้ย

แต่ลักษณะของใจแล้ว ไม่ได้รวมเป็นที่ใดที่หนึ่งนะ  แล้วแต่สภาวะของขันธ์ สภาวะของโลก ไม่ใช่ว่า มันจะรวม ...ไอ้นี่ตอนนี้คือว่ามันอยู่ในมรรคอยู่ 

แต่ถ้าหมดมรรคแล้วนี่ มันไม่รู้ต้องรู้อะไรแล้ว  เพราะนั้นมันก็กลับมาเป็นตัวของมัน ...ไอ้นี่หมายความว่าเขาเป็นผู้ที่กินบำนาญแล้วนะ หมดงาน ไม่ทำงานแล้ว  คนที่กินบำนาญเขาจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้

แต่พวกเรานี่...นอกจากยังไม่ได้กินบำนาญแล้ว เขายังไม่รับบรรจุเลยนะ ... เออ ถ้าบรรจุแล้วก็ยังพออุ่นใจ  นี่บรรจุก็ยังไม่บรรจุเลย 

ก็ยังเป็นพวกว่างงาน ไร้งาน  แล้วก็เดินสะโหลสะเหล สะเปสะปะ สมัครงานที่นั้นที่นี้  เขาก็ยังไม่รับ  ... มัวแต่ยืนใบสมัครอยู่นั่นล่ะ สำนักนั้นดีมั้ย สำนักนี้ดีมั้ย  หลายสำนัก หลายเผ่าพันธุ์ มันก็เริ่มไฮบริดแล้วนะ เนี่ย 

กว่าจะมารวมศีลสมาธิปัญญาเป็นหนึ่งนี่ ไม่ใช่ของง่ายนะ ที่ยอม...ยอมเลย ยอมจำนนต่อศีลสมาธิปัญญาจริงๆ เลย ว่าหนึ่งคือหนึ่งจริงๆ แล้วนี่...ไม่มีแตกกระสานซ่านกระเซ็นไปไฮบริดกับอันนู้นอันนี้เลย 

นั่นแหละ มันถึงจะ ...'โอ กูเหนื่อยแทบตาย เหนื่อยกับตัวเอง เหนื่อยเพราะจิตของเจ้าของนี่เอง'  มันไม่อิ่ม มันไม่เต็มซักที  ทำเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มไม่เต็มในศีล ทำเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มไม่พอในสมาธิ ทำเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มไม่พอในปัญญา 

พอติดขั้นสมาธินะ ทำเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มไม่พอในความสงบ เอ้า บอกให้เลย  สงบวันนี้เท่านี้ พรุ่งนี้ต้องมากกว่านี้ ต้องยิ่งกว่านี้  พรรษาหน้าๆ ต้องเอาให้แบบประเภทฟ้าดินถล่มนี่กูไม่รู้เรื่องเลยน่ะ ...นั่นมันยังไม่พอเลย

มันไม่อิ่มในศีลสมาธิปัญญา ... จริงๆ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะมันไม่เข้าใจ แค่นั้นเอง ...มันไม่เกิดสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นของศีลสมาธิปัญญา หรือว่าไตรสิกขา หรือว่าองค์มรรค 

พอมันเริ่มเข้าใจชัดเจน แล้วมันทำไปด้วยฝึกฝนไปด้วย ...ก็ค้นควานไปด้วย มันก็มีนะ ในระหว่างทำ ...แต่ก็ตั้งหลักตั้งฐานไว้ ว่าต้องเอาอย่างนี้นะเป็นหลักเป็นฐานไว้ก่อน 

แต่ว่าจิตมันก็ยังเคลื่อนไปเคลื่อนมา จนมันค่อยๆ รามือๆ วางมือไป ...ด้วยความหักหาญกันบ้าง ด้วยการโอ้โลมปฏิโลมจิตบ้าง อย่างว่า 'เออ จะหาไปทำไม ทำมาไม่รู้จักเท่าไหร่ ไม่เห็นได้อะไรซักที ไม่ทำก็ได้' อย่างเนี้ย

มันก็เริ่ม "เอาวะ เอาอันเดียว" ... พอเริ่มหยุดๆๆ นั่น ผลที่แท้จริง ความอิ่มเต็มในศีลเริ่มเกิด ความอิ่มเต็มในสมาธิ ...จิตตั้งมั่นเป็นกลาง เป็นแค่ดวงจิตผู้รู้อยู่เฉยๆ นี่ 

ก็แค่ดวงจิตที่รู้ๆๆๆ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆๆๆ ...ไม่เห็นมันจะมีความสงบอะไร ทุกอย่างก็ยังเคลื่อนไหว มีอารมณ์ทุกอย่างมี กิเลสทุกตัวมีหมดเลย ...ก็รู้ๆๆๆ 

แต่นี่มันอิ่มเต็มในสมาธิ อิ่มเต็มในดวงจิตผู้รู้อยู่ ...เพราะนั้นอะไรเกิดขึ้นมา ไม่สนใจอะไรเลย นอกจากรู้ ...มันก็ไม่ไปไม่มาแล้ว 

ไม่ไปไม่มากับอารมณ์ ไม่ไปไม่มากับอาการของจิต ไม่ไปไม่มากับอดีต ไม่ไปไม่มากับอนาคต ไม่ไปไม่มากับรูปเสียงกลิ่นรส ...มันก็รู้ มันก็เต็มอยู่ที่รู้นั่น เต็มอยู่ในที่เดียว ศีลเต็ม สมาธิเต็ม ปัญญามันเริ่มชัดเจนขึ้น

ที่เริ่มสับสนลังเล...ว่าจะต้องมีกำลังของความสงบหนุนมั้ย หรือต้องเห็นกายผู้หญิงเป็นอสุภะมั้ย เห็นกายเราเป็นอสุภะมั้ย ต้องเห็นเป็นกระดูกมั้ย ...ก็ไม่ต้อง ...ก็เห็นเป็นแต่อะไรก็ไม่รู้ 

เริ่มเข้าใจ เริ่มชัดเจนแล้วในความเป็นกาย...ว่าเห็นกายยังไง รู้กายยังไง ที่ไม่มีทั้งราคะและปฏิฆะ โดยที่ว่าไม่ได้ไปคิดค้นด้นเดา หรือว่าต้องไปเหนี่ยวไปรั้งให้จิตไปอยู่ในความเห็นใดความเห็นหนึ่ง

ด้วยความที่ตั้งมั่นเป็นกลางและเห็นกายตรงๆ นี่แหละ  มันเชื่อแล้ว มันเริ่มเชื่อในศีล เริ่มเชื่อในผลของศีล เริ่มเชื่อในสมาธิ เริ่มเชื่อในผลของสมาธิแล้ว เริ่มทิ้งตำรา เริ่มทิ้งสิ่งที่เคยเชื่อตามความจำมาแล้ว เริ่มทิ้งคำครูบาอาจารย์แล้ว 

เริ่มทิ้งหมดเลย...ทิ้งหมดนะ เริ่มเชื่อในอันเดียวแล้ว เชื่อในศีลสมาธิปัญญา อย่างเดียว นอกจากนี้ไม่เชื่อแล้ว จิตมันจะหาทางให้เชื่อ ไม่เชื่อแล้ว ...นี่ มันเริ่มอยู่เหนืออำนาจของจิตแล้ว 

ด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญาเหนืออำนาจของจิต เหนืออำนาจความปรุงแต่ง ...แต่ก่อนมันมีแต่ข่มเรานะ เรื่องราวในจิตกับอารมณ์ในจิตนี่ มันจะข่มอยู่ตลอด เป็นเหนือเราอยู่ตลอด เหนือการกระทำของเราตลอด

มาถึงตรงนี้ ศีลสมาธิปัญญาเหนือแล้ว ... 'มึงไม่ได้กินกูหรอก' บอกให้เลย ทิ้งได้ เหมือนกับสลัดทิ้งได้โดยไม่ใยดี สลัดทิ้งเหมือนกับของไม่มีค่าไม่มีสาระ เหมือนน้ำลายที่บ้วนทิ้งลงข้างถนนเลย ...ทิ้งจิต ทิ้งอารมณ์ในจิต

มันก็เด็ดทิ้ง ปลิดทิ้ง เด็ดทิ้ง ปลิดทิ้งๆ ...ซึ่งแต่ก่อนนี่ กว่าจะเอาชนะจิต กว่าจะเอาชนะอารมณ์นี่  เลือดยางหัวแทบออก มันยังไม่เลิกคิดเลย ...ยังไม่หยุดจากอารมณ์นั้น 

ทรมานแล้วทรมานเล่า อุกฤษฏ์แล้วอุกฤษฏ์อีก  มันก็ไม่ได้แสดงว่าลดวางจางคลายเลย  หายไปสักพักนึง ก็มาใหม่ จนลังเลในการปฏิบัติภาวนาเลย

ไอ้นี่ ที่ทั้งหลายทั้งมวลเลย...ที่ว่าพระนี่บวชอยู่ได้ไม่นานแล้วก็สึก ปฏิบัติแบบอุกฤษฏ์เอาเป็นเอาตาย แล้วสุดท้ายก็สึกไปมีเมียหมด...เสร็จ  

ตอนมาภาวนาตั้งท่าเหมือนนักรบแบบกูเป็นพวกคอมมานโดเลย แรงเยอร์ไง ออกจากสมรภูมิรบ...เสร็จ ตายหมด ยังไม่ได้ชนะข้าศึกตรงไหน

เพราะไม่เข้าใจ พอไม่ได้ดั่งใจ หรือว่าไม่ได้ดั่งหวัง ...เสร็จเลย หมดกำลังเลย เหมือนกับถอนสมอเลย ว่า 'วาสนาคงไม่ถึงแล้ว ทำขนาดนี้แล้ว' ...เออ ให้มึงทำมากกว่านี้ก็วาสนาไม่ถึงหรอก 

ก็มึงทำไม่ถูก ...ไม่ถูกต่อศีล ไม่ตรงต่อศีล  ไม่ถูกต่อสมาธิ ไม่ตรงต่อสมาธิ  ไม่ถูกต่อปัญญา ไม่ตรงต่อปัญญา ...ยังไงนี่มันต้องถอนสมอแน่ๆ ไม่มีทางถึงหรอก วาสนาไม่ถึงนะ

แต่นี่ไม่ต้องมีวาสนาก็ถึง แถมไม่ต้องบวชด้วยเอ้า  เออ ก็ถึง...ถึงกายก่อน แล้วค่อยถึงใจ ...ถ้าถึงกายก็ถึงศีลน่ะ ...ถ้าตีก็แปลว่าตีถูกหัวงูแล้ว แต่งูยังไม่ตาย นั่น ถึงกายก่อนแล้วค่อยถึงศีล 

เมื่อถึงกายน่ะหมายความว่าอะไร  ...กำลังตีหัวจับหัวอยู่ หางนี่เป็นยังไง...หางส่าย นั่นน่ะจิต  ดูเหอะ ยังไม่ตาย ส่ายกวัดแกว่งไปมา


โยม –  อย่างเมื่อคืนนั่งก็รู้สึกว่ากายมันระงับ แต่ว่าเห็นเลยว่าจิตมันหลบ

พระอาจารย์   นั่นแหละ มันยังไม่ตายดี สลบ ...แล้วก็อยู่ในกำมือของสติ กำมือของศีล อย่าคลายมือ 

ถ้าคลายมือหมายความว่า ละงาน สัมมาอาชีโว สัมมากัมมันโต ...ปล่อย งูก็เลื้อยเลยน่ะ เสร็จ ไปกัด ไปแว้งกัดตรงโน้นตรงนี้ ไปก่อลูกก่อหลานแพร่เผ่าพันธุ์ ...ได้หมด จิตพาเกิดได้หมด

เพราะนั้นในเบื้องต้นเบื้องแรกนี่ จับกาย จับหัวงู ...หางนี่ส่าย ทุรนทุราย  กระวนกระวาย กระสับกระส่าย อ้างนั่นอ้างนี่ ...เงื่อนไขมาเป็นพะเรอเกวียนเลยแหละ 

จะเสร็จเล่ห์เหลี่ยมมันมั้ย เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมมันมั้ย ...นี่อยู่ที่กำลังใจ ศรัทธาในศีล ที่จะประคองรักษา  กำมือที่กำหัวงูไว้ ด้วยสัมมาสติ ...นี่คือสัมมาสติ

สัมมาสติแปลว่าการระลึกรู้ชอบนะ เป็นการระลึกรู้อันควรอันชอบ  คือระลึกในก้อนศีลกองศีลเหมือนจับหัวงู...ให้มั่นให้แน่น  หางส่ายไปเถอะ เดี๋ยวมันก็หมดแรงเองน่ะ ...พอหมดแรงนั่นแหละ มันเริ่มอยู่ตัวแล้ว

เพราะนั้นเวลาเราทำงานอื่นนี่  เราจะกำหัวงูไม่ได้ตลอดหรอกในการดำรงชีวิต ในการข้องแวะปฏิสัมพันธ์กับงาน เพื่อน พ่อแม่ ครอบครัว เหตุการณ์ มันจะมีพวกนี้ ...เพราะนั้นจิตมันจะเคลื่อนตลอดเวลา

ไม่เคลื่อนก็ไม่ได้ด้วยนะ เพราะมันยังติดอยู่ในพันธะสัญญาของโลก ...คือมันไปเซ็นสัญญาแบบเป็นข้าทาสของเขาอยู่ ...ทิ้งก็ไม่ได้ วางก็ไม่ได้ 

จะหยุดคิด หยุดทำงานก็ไม่ได้  จะหยุดพูดหยุดคุย ไม่ปฏิสัมพันธ์ ไม่ปฏิสันถารก็ไม่ได้  เนี่ย มันติดพันธะสัญญากันอยู่ ...นี่คือกรรมวิบาก

แต่มันไม่ได้หมายความว่าติดพันธะสัญญาแล้ว จะเห็นดีเห็นงามไปกับพันธะสัญญานั้นนี่ ...คือมันก็ต้องมีที่ว่า คอยทบทวนให้ศีลนี่มาครอบครองขันธ์ ให้สติครอบครองขันธ์บ้าง...เป็นระยะ เป็นช่วง 

เท่าที่จะทำได้... ต้องบอกอย่างนี้... ไม่ใช่เวลาใดเวลาหนึ่งแค่นั้น ...แต่เท่าที่จะทำได้ เท่าที่จะรู้ได้

เมื่อใดที่รู้ได้...รู้  เมื่อใดที่รู้ต่อเนื่องได้...รู้ต่อเนื่อง  ลืม หลง...ช่างมัน  หรือว่าจงใจจะต้องปฏิสัมพันธ์ จงใจจะต้องมีอารมณ์ จงใจจะต้องฟุ้งซ่าน ช่างมัน รู้ได้เมื่อไหร่ เอา...รู้  

แล้วไม่ต้องหา ไม่ต้องไปทำที่อื่น...ทำที่เดียว ...คือบางทีรู้แล้วยังมาตั้งท่า 'เอ๊ะ กูจะดูอะไรดีวะเนี่ย'  นั่น รออีกแล้ว  ถ้าจิตก็ไม่ชัด อารมณ์ในจิตก็ไม่ชัด กิเลสตัวไหนตัวหนึ่งก็ไม่รู้จะเรียกอะไรดี มันก็รออยู่นั่นน่ะ 

ถามมันเลยตรงนั้นว่า 'หรือมึงไม่มีกายนั่ง มันกำลังนั่งรอรึเปล่า หรือมึงยืนรอ หรือมึงเดินรอ'  นี่... กายอยู่ตรงนี้ กายมีทันทีเลย  นี่เขาเรียกว่าพลิกหัวเรือกลับเลย ปึง โอปนยิโก น้อมกลับตรงที่ปัจจุบันกาย ปัจจุบันศีล 

ทีนี้เลิกหาเลิกรอแล้ว ...เดี๋ยวพอเลิกหาเลิกรอ ทีนี้มาแล้ว...จิตมาแล้ว มาเป็นเรื่องๆๆๆ ว่า “ยังไม่พอ ยังไม่เห็น ยังไม่เข้าใจ ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนั้น” ... มาแล้ว โค้ช มาแล้วโค้ช

มาโคลงเรือ...มึงจะได้คว่ำไง  นั่นแหละ ไม่อยากเห็นก็เห็นแล้ว จิตน่ะ อยากดูจิตนัก ตอนนั้นก็เห็นเลย ตอนที่กำลังรู้ว่านั่งอยู่น่ะ มาให้เห็นเลย ...ตอนแรกก็หา ไม่รู้จะดูอะไรดี  พอกลับมาตั้งอยู่ที่กายล่ะเห็นเลย มาเป็นระลอกๆ เลย

อดีตก็มา สัญญาก็มา  เรื่องคนนั้น เรื่องคนนี้  ยังไม่ได้ทำตรงนั้น เมื่อกี้ยังไม่ได้ขี้ ตอนนี้อยากขี้ขึ้นมาแล้ว ยังไม่ทันเยี่ยว ยังไม่ทันกินน้ำ ...เนี่ย มาแล้วนะ ดูสิ มันกำลังมาโคลง 'เมื่อไหร่มึงจะออกจากกายวะ จะได้มาเป็นเสี่ยวเป็นซี้กัน' 

พอไปทำตามนั้น สบายใจเฉิบ ล่องลอย  จิตหาย อารมณ์ก็หาย สบายดี  เป็นอะไรที่ ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์  แต่เพลิดเพลินดี ล่องลอยไปมานี่นะ ทำตามสบายสะดวก

แต่พอตั้งมั่นลงที่ฐานกาย ฐานปัจจุบันศีลนะ โคลงใหญ่เลย ...ไอ้คนที่อยู่ในโคลงก็ตื่นเต้นตกใจ “เอาไงดีวะกูๆ  จะไปห้ามมันยังไง จะไปดับมันยังไง จะไปละมันยังไง  แล้วมันต้องดูอันนี้ หรือจะดับอันนั้น หรืออันนั้นจะดับกันแน่วะ" 

เอาแล้ว เริ่มเลือกแล้ว เริ่มคลางแคลงสงสัย เริ่มวิจิกิจฉา ...ถึงบอกว่ายังไงก็ละไม่ได้หรอกวิจิกิจฉา  ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ...เพราะมันยังไม่มั่นใจในศีล เพราะมันยังไม่เข้าถึงศีล เพราะยังไม่มีศีลจริงๆ 

เพราะนั้นเราต้องเลียนแบบไว้ก่อน ยังไม่เป็นโสดาบันใช่ไหม เลียนแบบโสดาบันท่านถือศีล ท่านถือกาย เอางี้ดีกว่า ...นี่ ต้องเชื่ออย่างนี้ไว้ก่อน ต้องสร้างความเห็นอย่างนี้ก่อน เรียกว่าสัมมาทิฏฐิแบบพื้นๆ ก่อนในองค์ศีล

แล้วก็ค่อยเด็ดเดี่ยวกล้าหาญขึ้นไปเรื่อยๆ  เดี๋ยวมันจะมีกำลังของสมาธิคือตั้งมั่นขึ้นๆ ...พอตั้งมั่นสัมมาสมาธิ คราวนี้ก็เริ่มหัวแข็งแล้ว เหมือนหัวแข็งกับความคิด หัวแข็งกับจิต 

"กูก็โค้ชของกูเองได้โว้ย กูไม่ต้องฟังเสียงโค้ช" ... นี่ ไม่ต้องใช้โค้ชแล้ว กูเล่นเองได้ แพ้ชนะเรื่องของกู ...แน่ะ เริ่มแล้ว เริ่มตั้งมั่น โดยไม่ใส่ใจอาการที่เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ นั่นคือความฟุ้งซ่านในจิต

ไอ้วิธีการนั้นวิธีการนี้ คือความฟุ้งซ่านอันนึง มันเป็นนิวรณ์ เข้าใจรึยังว่า...นิวรณ์มันมีอยู่ในชีวิตเลยนะ มันไม่ใช่มีตอนนั่งสมาธินะ ...มันมีตลอด 

ไม่อยู่ในนิวรณ์ในข้อนี้ อุทธัจจกุกกุจจะ ก็มีพยาบาทบ้าง ราคะ...อยาก อยากกินนั่น อยากลุกไปที่เย็น อยากสบาย นี่ก็ราคะ  เสียงนั้นมาเสียงนี้ไป คนนั้นมาเรียก นี่ ปฏิฆะหงุดหงิด พอทุกอย่างราบเรียบไม่มีอะไร ก็ง่วง ซึม หายเลย ลอย นี่ถีนมิทธะ

พวกนี้คือนิวรณ์...มันเป็นพื้นอารมณ์ของจิตของปุถุชน ... เพราะนั้นมันจึงอยู่ด้วยภาวะที่กางกั้นสัมมาสมาธิตลอดเวลา ไม่ใช่มากางกั้นเฉพาะตอนนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมนะ ... ตลอดชีวิต อยู่ด้วยนิวรณ์

เพราะนั้นมันจึงไม่ปรากฏดวงจิตผู้รู้ที่เป็นสัมมาสมาธิตั้งมั่นขึ้นได้เลย ถ้าไม่ดำรงองค์ศีล...สติ  คือกายกับสติระลึกรู้ เห็นมั้ย ...เพราะนั้นทุกอย่างมันมีปัจจยาการของมันอยู่ 

ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วไปนั่งหลับหูหลับตาแล้วไปทำให้มันสงบขึ้นมาเลย โดยที่ว่าไม่รู้จักเลยว่าศีลคืออะไร สติคืออะไร แล้วก็มาพุทโธๆ ไป หรือกำหนดลมๆ ไป เดี๋ยวมันก็รวมเองน่ะ ...นั่นประเภทฟาสท์ฟูดไง แดกด่วน ฉับพลัน มักง่าย ไม่เข้าใจ

พอมันไม่เข้าใจตรงต่อศีลสมาธิปัญญา...ว่ามันมาตามลำดับขั้นตอนอย่างไรแล้วนี่  ผลมันไม่ได้แน่นอน ผลมันเริ่มเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวมีเทวดามาหาบ้าง เดี๋ยวผีก็มาหา ทำไมญาติที่ตายไปแล้วมา เอ หรือเราลืมกรวดน้ำวะ 

เนี่ย ผลมันจะไปเรื่อย หรือบางทีก็ว่างๆๆ เหมือนลอยในอวกาศ ดีไม่ดีก็มีแสงสีปรากฏ หรือพระพุทธเจ้ามาเทศน์มาโปรด หรือหลวงปู่มั่นมาเมตตาสงเคราะห์มาเทศนธรรมให้ ...อู้ย ได้หมดนะ

เพราะมักง่าย...ก็เลยได้อะไรง่ายๆ สำเร็จรูปไง  ดีไม่ดี พระพุทธเจ้ามานั่งเทศน์ให้ทั้งวัน  ออกมาก็คุยใหญ่คุยโตเลย โหย ภาคภูมิใจ พระพุทธเจ้ามา ...นี่เราคงเป็นสาวกที่ท่านเมตตา 

แหม มันมีค่าขึ้นมาเลยกูนี่ กูช่างมีค่าขึ้นมา ...จากดินน้ำไฟลมธรรมดานี่ กูมีค่าขึ้นมาเลยแหละ แปลว่ากูต้องมีซัมธิงรองกับพระพุทธเจ้าแน่ๆ ไม่งั้นท่านไม่มานะ ...มันก็มีค่าขึ้นมา

หรือว่ากูเห็นแสงสีนี่ กูต้องมีซัมธิงอะไรไลท์ๆ ขึ้นมา คนอื่นถึงไม่เห็นเหมือนเรา มันได้ผลไม่เหมือนเรา ... นี่ ผลมันจะเป็นอย่างนี้ เรื่อยเปื่อย หาความแน่นอนไม่ได้

แต่ถ้าผลในองค์มรรค ผลในศีลสมาธิปัญญา ผลนี่แน่นอนเลยคือ ละ วาง จาง คลาย ขาด หาย หลุด พ้น ไม่หวนคืน ...แน่นอน ถ้าอย่างนี้แน่นอน  ศีลแน่นอน สมาธิแน่นอน ผลอันเดียวกัน 

ที่นี้ไม่ต้องถามใครเก่งใครดีกว่ากันน่ะ ตั้งหน้าตั้งตาละลูกเดียว กูไม่สน  ละเอาจนไม่มีอะไรให้กูละ ... ไหน มีมั้ย ...นี่ มันถามเลย มันดูเลยว่า ตรงไหน อะไรที่มันติด อะไรที่มันข้อง มาดิ อยากเห็น...จะได้ละ ไม่กลัวเลยนะ 

นั่นน่ะ เหมือนกับเดินเข้าหาเสือเลย ไม่กลัวเสือกัดและกินน่ะ ...นั่นจิตพระอรหันต์ จิตที่ถือธรรมาวุธ หรือว่าศีลสมาธิปัญญาเป็นอาวุธ...ไม่กลัว

แต่ก่อนนี่กลัวเสือกลัวหมีกลัวตะเข้ กลัวผี  ...นี่ ไม่กลัวแล้ว ไม่กลัวตาย ไม่กลัวอะไรเลย ... จะได้เห็นว่ากูติดอะไรมั่ง  จะได้ฟาด จะได้ฟัน ที่มันเคลือบงำ ครอบงำใจดวงนี้ อุดอู้มานานแล้วว่ะ  พอได้อาวุธนะ กูจะล้างมันให้หมดสิ้นเลย โคตรมัน ประมาณนั้นน่ะ...จิตมันกล้าหาญขนาดนั้น

เพราะนั้นเวลาหลับเวลานอนไม่ต้องพูดถึง ไม่ต้องนอน ไม่อยากนอน ไม่รู้จะนอนทำไม  เสียเวลา...เสียเวลาทำงาน  อยู่มันอย่างนั้นน่ะ ค่อนแจ้ง อยู่ได้ หลับแค่ห้านาที สิบนาทีพอแล้ว ให้มันหลับของมันเอง ก็ได้ ไม่เห็นตายเลย

ไอ้พวกเรานี่ ...ถ้าไม่ได้แปดชั่วโมง ผิดสุขศึกษานะ (หัวเราะกัน) หมอว่าไม่ถูกต้องนะนี่ นอนน้อยไปมั้ง  ก็เชื่อไปหมด ...แปดแล้วยังมีต่ออีก ต่อสักครึ่งชั่วโมง แน่ะ 

'เดี๋ยวมันจะทำงานวันนี้มันจะสะโหลสะเหลนะ เดี๋ยวมันจะคิดอะไรไม่โลดแล่น' ... มีข้ออ้างมาสนับสนุนให้หลงเพลินอย่างนั้นจิตน่ะ ... จิตมันมักง่าย เอาแต่สบาย  

อะไรที่มันลำบาก อะไรที่มันยาก อะไรที่มันต้องขวนขวาย ต้องทบทวน ต้องทวนกลับ อย่างลักษณะศีลสมาธิปัญญานี่เป็นตัวที่ทำลายจิต เพราะนั้นตัวมันก็ต่อต้านทุกอย่าง 

"เพราะถ้ามันทำอย่างนี้กูตายดิ กูก็ไม่เหลือให้หลอกมึงดิ" ... มันกลัวตัวมันเองจะตาย มันก็ขัดขวางศีลสมาธิปัญญาในตัวของมันอยู่แล้ว...นี่



(ต่อแทร็ก 10/14)