วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 10/7 (ต่อเนื่อง)




พระอาจารย์

10/7 (560225B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

25 กุมภาพันธ์ 2556


พระอาจารย์ –

ทั้งหมดนี่...การพูด การอธิบาย การสาธยายธรรม การจำแนกสมมุติธรรม ภาษาธรรม บัญญัติธรรม สังขารธรรม สมมุติธรรม ที่ท่านเอ่ยอ้างมาเป็นปริยัติภาษา 

ว่าศีลคืออะไร ความแท้จริงของศีลคืออะไร ประโยชน์ของศีลคืออะไร 
สมาธิคืออะไร แท้จริงของสมาธิที่เป็นสัมมาคืออย่างไร 
ปัญญาที่เรียกว่าปัญญาที่แท้จริงคืออะไร ปัญญาที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา 
ปัญญาที่เรียกว่าเป็นปัญญาที่จะเป็นเหตุให้เกิดความหลุดและพ้น จากขันธ์และโลก 
มรรคคืออะไร การปฏิบัติที่แท้จริง เป้าหมายของการปฏิบัติที่แท้จริงคืออะไร

นี่คือหน้าที่ของครูบาอาจารย์เหล่าอริยสงฆ์สาวก ที่ท่านจะน้อมนำสาธยายแจกแจงให้ตรงตามอรรถและธรรม ที่พระพุทธเจ้าเคยทำ แล้วสอนสั่งให้ทุกคนทำ เพื่อผลในองค์มรรค คือความเกิดความตายในสังสารวัฏน้อยลง จนถึงขั้นที่เรียกว่าไม่เกิดอีกเลย...นั่นแหละคือผล

เพราะฉะนั้นการวัดผลของการปฏิบัติ ...ไม่ใช่จิตดี จิตไม่ดี ไม่ใช่จิตสงบ ไม่ใช่จิตไม่คิดไม่นึกแล้วดี ... แต่ให้วัดว่า ทุกข์น้อยลงไหม ความหมายมั่น ความจริงจังกับสิ่งต่างๆ จนเป็นทุกข์ มันน้อยลงไหม ความข้องติด ความยึดถือ ความแนบแน่น ความเนิ่นนานในกองทุกข์ ในความเป็นทุกข์ สั้นลงไหม หรือยาวขึ้นไหม 

ตัวนี้จะเป็นตัววัดผล ซึ่งไม่ต้องไปถามใครเลย ไม่ต้องไปให้ใครพยากรณ์เลยว่าถูกรึยังๆ ...ถามตัวมึงเองเหอะ ทุกข์มันน้อยลงรึเปล่าล่ะ ...นี่ ต้องถามอย่างนี้เลย

เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม การกระทำอย่างไรก็ตาม ถ้าทำแล้ว ถ้าคิดแล้ว ถ้าไปจมอยู่กับมันแล้ว เป็นทุกข์มากขึ้น ให้รู้ไว้เลย...ผิด 

ผิดอะไร ... ผิดมรรค ผิดจากศีล ผิดจากสมาธิ ผิดจากปัญญา มันคลาดเคลื่อนจากศีล คลาดเคลื่อนจากสมาธิ คลาดเคลื่อนจากปัญญา เพราะนั้นผลจึงมีแต่ว่าทุกข์มากขึ้น ทุกข์สะสมขึ้น ทุกข์ยาวนานขึ้น ทุกข์แนบแน่นขึ้น ทุกข์แข็งแกร่งขึ้น ...นั่นน่ะใช่เลย ยิ่งทำยิ่งทุกข์ หลับหูหลับตายิ่งทุกข์

"ทำไมไม่สำเร็จสักที" ...นี่ ทุกข์แล้ว เห็นมั้ย ลองคิดเข้าไปดิ ไปยืนคิด เดินคิด นั่งคิด เมื่อไหร่จะสำเร็จวะ ทุกข์มั้ย ลองดูดิ๊ ... จะเห็นเลยว่าอะไรเป็นสมุทัย 

แล้วยังไม่แก้อีกรึไง หือ หรือโง่ปานนั้นก็ไม่ต้องว่าอะไรแล้ว ...มันก็จะรู้เลยว่าอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วจะไปทำทำไม ... เพราะมันเป็นรูปแบบรึไง หรือเค้าทำกันในโลก หรือเค้าแนะนำให้ทำ หรือว่ามันต้องทำเพราะถ้าไม่ทำเดี๋ยวคนอื่นเขาว่า ...ก็คือโง่ต่อไปแล้วกัน

แต่ถ้ามันฉลาดแล้ว มันก็รู้ว่าอันนี้เป็นเหตุให้ทุกข์ จะไปคิดทำไม หือ ถ้านั่งอยู่เฉยๆ แต่ว่ามีความรู้อยู่เห็นอยู่ แล้วก็มีตัวอาการนั่งอยู่ แล้วไม่มีทุกข์ ...แต่ว่าไม่มีความรู้อะไรเลยนะ ปัญญาปัญแหยะก็ไม่รู้ แยกอะไรก็ไม่ออก อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นศีล อะไรเป็นสมาธิ อะไรคือสงบ อะไรคือหลุดพ้น...ไม่รู้  อะไรคือกิเลส อะไรเป็นเหตุปัจจัย ไม่รู้อะไรสักอย่าง...มีแต่รู้ว่านั่ง

แต่ขณะที่รู้ว่านั่ง...ให้สังเกตดูว่า มันว่างๆ มันเบาๆ มันไม่มีอารมณ์อะไรมาข้องแวะ มันไม่ดิ้นรนกระสับกระส่าย มันไม่ทุรนทุราย ... แต่มันไม่เหมือนกับที่คาดไว้น่ะ แล้วมันก็ไม่ได้ผลเหมือนอย่างที่เคยหวังไว้น่ะ ...จะเชื่ออันไหนดีล่ะ หือ

ตรงเนี้ย ครูบาอาจารย์อีกแหละที่ต้องคอยมาย้ำ...เพราะเดี๋ยวมันจะเสียศูนย์ เพราะมันพร้อมที่จะเสียศูนย์อยู่แล้ว บอกแล้วไงว่าสันดานจิตมันเหมือนผู้หญิงที่หอบผ้าหอบผ่อน รอ เมื่อไหร่กูจะไปได้ซะทีนะอยู่นั่นแหละ ...คือมันจะเกินเลย เกินจริงอยู่ตลอด

อะไรที่มันปรากฏอยู่ธรรมดาๆ ณ ปัจจุบันนี้ ..."เซ็งว่ะ มันไม่มีอะไรเลย" ...นั่นน่ะสิ ตรงนี้ ที่มันจะทนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เพราะมันจะหาอะไรที่เลิศกว่า หรือเหนือกว่า ยิ่งกว่า ล้ำกว่า วิจิตรกว่า พิสดารกว่า มหัศจรรย์กว่า เป็นธรรมมากกว่า ...กระทั่งเป็นธรรมมันยังบอกว่า ต้องเป็นธรรมที่มากกว่านี้เลย

ทำไม...ธรรมแค่นี้มันไม่พอ...มันเป็นอะไร หือ มันเป็นโรคอะไร ...มันเป็นโรคตัณหาไง มันกำเริบ มันเป็นโรควิภวตัณหา ความไม่หยุด ไม่อิ่ม ไม่เต็ม ไม่พอ ... ไม่รู้จักหรือที่จะสะกดคำว่า พ.พาน อ.อ่าง ด.เด็ก สระอี ไม่เป็น รู้มั้ยว่าอ่านว่ายังไง...“พอดี” 

มันมีแต่เกิน...เกินจริง เกินธรรม เกินเหตุ เกินปัจจุบัน เกินกาย เกินจิต เกินรู้ ...มันชอบอะไรเกินๆ ถ้าไม่เกินแล้วมันรู้สึกไปอวดคนอื่นไม่ได้ ถ้าเขาถามว่าไปวัดมาแล้วได้อะไร ถ้าตอบว่าไม่ได้อะไร หงอยเลย หงอย

แล้วถ้าเขาบอกว่าเขาได้อะไร เขาอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งหงอยใหญ่ มันอวดกันไม่ได้นี่ เอาธรรมไปอวดเขาไม่ออก ถ้าบอกว่าไม่รู้อะไรเลย ไอ้คนที่อยู่ข้างๆ ก็มองค้อน นั่น ก็เลยเกิดอาการขวนขวายในจิต จะต้องให้ได้ไปแข่งไปอวดเขา เอาความสงบไปอวดเขา ถึงไม่ได้บอกให้คนรู้ ก็อวดตัวเอง

ทั้งหมดน่ะ มันคลาดเคลื่อนจากธรรม คลาดเคลื่อนจากองค์มรรค คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายของมรรค ...มันกลับเป็นการสะสมพอกพูน เพิ่มพูน ตัวเรา ของเรา ธรรมของเรา จิตของเรา การปฏิบัติของเรา ผลของเรา

เพราะนั้นที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งแรกสิ่งต้น เบื้องแรกเบื้องต้น สังโยชน์เบื้องต้น คือ สักกายทิฏฐิ...ละ วิจิกิจฉา...ละ สีลัพพตปรามาส...ละ

แต่ไปๆ มาๆ ปฏิบัติไป ปฏิบัติมา ...ถ้า “เรา” ไม่ดีขึ้นจะไม่เลิกปฏิบัติ ... เออ มึงเลิกซะเหอะ อย่าปฏิบัติอย่างนั้นเลย  เนี่ย จะออกจาก “เรา” นะ ... แต่ว่าพอจะเลิกก็ไม่กล้าเลิกอีกแล้ว ก็ถ้า “เรา” ไม่ปฏิบัติ ถ้า"เรา" ทำแล้วไม่หวังผล ไม่ได้ผลอะไรขึ้นมา แล้ว "เรา" จะปฏิบัติทำไม

แน่ะ มันจะเริ่มแล้ว เริ่มมีเงื่อนไขขึ้นมาให้ติดให้ข้องกับ “เรา” ไม่ยอมให้สูญเสียอะไรที่เป็น “เรา” อะไรที่ “เรา” จะได้มาหรือไม่ได้มา ...นี่คือความเคยชินในการอยู่กับมัน ใช้กับมัน จนอเนกชาติมาแล้ว ไม่ต้องนับ ไม่ต้องรันนิ่งนัมเบอร์

เพราะนั้นการที่จะมาแก้นิสัย การที่จะมาแก้สันดาน ไม่มีอะไรแก้ได้เลย บอกให้ ไม่มีวิธีการอื่น ไม่มีอุบายอื่น นอกจากมรรค...ศีลสมาธิปัญญา อย่างที่เราพูด ...เชื่อหรือไม่เชื่อไม่รู้ ลองเอา ต้องลองเอาเอง

ต้องพิสูจน์เอง ว่าลองนั่งเฉยๆ แล้วไม่เอาอะไรเลย จะไม่ทำอะไรเลย จะรู้ว่านั่ง นอกเหนือจากรู้ว่านั่ง จะไม่สนใจตามมัน มันจะเสนอแนะ มันจะบ่นจะว่า มันจะเตือนจะบอก มันจะลากจะจูง มันจะแนะให้ออกจากนั่ง ให้ลืมว่ารู้ว่านั่ง...ไม่เอา ลองดู...แล้วดูผลมันไป

ไม่ได้อะไรหรอก...แต่ไม่ทุกข์นะ ไม่ได้อะไรหรอก...แต่ไม่มีความอยากหรือความไม่อยากสะสมไปในวันข้างหน้าวันต่อไป ...ให้สังเกตอย่างนี้ เอาตัว เอากาย เอาวาจา เอาจิต เอาใจของตัวเอง พิสูจน์ทราบด้วยตัวเอง มันจึงจะยอม

ใครยอม...จิต จิตใคร...จิตเรา ... นี้จึงเรียกว่าการอบรมจิตด้วยศีล มันต้องอบรม...อบรม รู้จักเป็นกุลสตรีมั้ย ถ้าเป็นกุลสตรี ต้องอยู่ในกรอบ อยู่ในบ้าน ... อยู่ ณ ที่นี้ 

บ้านคืออะไร บ้านคือนี้ นี้คืออยู่ตรงไหน ตรงกายนี้ ปัจจุบันกายนี้ คือกรอบ จะไปกระโดกกระเดกเที่ยวร่อนเร่ไปมาตามตรอกซอกซอยใด ไม่ไปนะ อย่าตามไปนะ อย่าไปจม อย่าไปแช่ อย่าไปนอนค้างกับเขานะ มันอันตราย...เดี๋ยวจะเป็นทุกข์

กลับบ้าน ...อบรมด้วยศีล สติ คือกลับบ้าน ...แน่ะ ไปอีกแล้ว ก็อบรม...ศีล...สติ รู้จักบ้านรึยัง ยังไม่รู้ ยังไม่ชัด เออ กลับบ่อยๆ บ้านตัวเองยังไม่รู้จัก เกิดมาทำไมวะนี่หา มึงไม่มีกายรึไง ฮึ


โยม – ก็มันไม่รู้

พระอาจารย์ – ต้องสอนมัน ต้องเตือนมัน ต้องบอกมัน ด้วยสติ ถ้าสติยังไม่เอาอยู่ ด่ามันเลย สอนมันซะมั่ง ว่ามันจะคิดไปหาอะไร พูดกับตัวเอง...เพื่อให้มันกลับ ต้องให้มันกลับ คือเขาเรียกว่าบางทีต้องหวดด้วยไม้เรียว 

แต่อย่าไปด่าคนอื่นนะ เดี๋ยวโดนชก ...ด่าตัวเอง ด่าจิตตัวเอง แล้วต่อไปก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องเตือนมากแล้ว มันจะรู้ว่าที่ไหนควรอยู่ อยู่แล้วเป็นสุข สุขของมันคือไม่มีเรื่อง ไม่ใช่สุขสบายแบบกินข้าวอิ่มนะ ... แต่สุขแบบไม่มีเรื่อง คือสุขสงบสันติ ไม่มีเรื่อง ไม่เป็นทุกข์

นั่นน่ะ มันจะต้องฝึกด้วยตัวนี้ก่อนเป็นลำดับแรก คือสติในกาย สติที่อยู่กับปัจจุบันกาย สติที่อยู่กับปัจจุบันศีล กายคือปกติกายนี่ คำว่าปกติกายนี่คือความหมายของคำว่า “ศีล”

เพราะนั้นจิตมันก็จะมีศีลเป็นรั้ว คือกายนั่นเอง เป็นรั้วกางกั้น ไม่ให้มันหลุดเล็ดรอดออกไปในอดีตในอนาคต สร้างอดีตสร้างอนาคต สร้างเรื่องราวในอดีต สร้างเรื่องราวในอนาคต แล้วก็ไปจมปลักจมแช่ ไปค้างคืนกับเขา ในอดีตในอนาคต นั่นน่ะ ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่มีจริง

เมื่อใดที่มันรู้จักบ้าน แล้วก็อยู่ในบ้าน มันจะเห็นว่าบ้านเนี่ย เป็นที่คุ้มกะลาหัว เป็นที่อยู่แล้วปลอดภัย อยู่แล้วร่มเย็น เห็นมั้ย เมื่อมันอยู่ได้ในระยะหนึ่ง ชั่วคราวหนึ่งนี่ มันจะเห็นอานิสงส์ของศีล คือมีความร่มเย็น เป็นกลาง มีความร่มเย็นและเป็นกลาง นี่คืออานิสงส์ของศีล ด้วยอำนาจของสติ ที่เป็นสัมมา

เมื่อมีความร่มเย็นของศีลเกิดขึ้น รักษาไว้ ต่อเนื่องไว้ สม่ำเสมอไว้ ไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายหาธรรมที่ยิ่งกว่านี้ ไม่ต้องไปแข่งขันประชันใคร กับนักปฏิบัติ หรือว่าตามตำรา หรือคนนั้นคนนี้ว่า ... มันก็จะพอกพูนอำนาจ อานิสงส์ของศีล ไปตามกำลัง

ถึงบอกว่า ประกอบเหตุอย่างไร ผลได้อย่างนั้น คือว่าต้องอยู่กับการประกอบเหตุแห่งศีลด้วยการประกอบด้วยสติ ไม่ได้ประกอบด้วยความอยากนะ

เมื่อประกอบเหตุแห่งศีลด้วยสติ คือประกอบเหตุด้วยการระลึกรู้ลงที่กาย ซ้ำๆ ซากๆ ต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย สม่ำเสมอ เป็นผลลัพธ์...ที่จะทำให้จิตรวมเป็นหนึ่ง จิตตั้งมั่น เป็นกลาง...อยู่ภายใน 

ไม่ใช่ไปตั้งอยู่ที่อื่น ไม่ใช่ไปรวมอยู่ที่อื่นนะ รวมแล้วอยู่ภายในนี้ อยู่ภายในกายนี้ เพราะมันอยู่ในกรอบกาย มันจะไปรวมที่ไหนล่ะ มันก็รวมอยู่ในกายนี้ มันก็ตั้งมั่น มั่นคงอยู่ในกายนี้

เมื่อมันตั้งมั่นมั่นคง หมายความว่า อะไรมากระทบผ่านหู ผ่านตา ผ่านจมูก ผ่านลิ้น ผ่านความคิด ผ่านความจำ มันจะไม่จับมาเป็นอารมณ์ ... นี่คืออานิสงส์ของสมาธิเริ่มบังเกิดแล้วนะ คือมันมีความมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ส่ายแส่

และก็รักษาไว้ อย่าเพิ่งรีบ อย่าเพิ่งหาปัญญา...อย่าเพิ่ง "แหม ต้องไปพิจารณาอย่างนั้นอย่างนี้ให้เกิดปัญญา ตำรานั้นต้องพิจารณากายอย่างนั้นในแง่นั้นมุมนี้" ... ไม่เอาอ่ะ อยู่อย่างนี้ไปก่อน แล้วก็รู้กับกายไว้ รู้กับกายไว้ จิตก็จะมั่นคงตั้งมั่นขึ้นไปเรื่อยๆๆๆ

จนมันแยกออกชัดเจน กายอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง คนละอย่างกัน ... มันเห็นเป็นสองอย่าง มันมีสองอย่าง ...เมื่อมันมีสองอย่างเมื่อไหร่ มันจะมีอาการหนึ่งปรากฏขึ้นมาคืออาการเห็น เหมือนตามันลืมขึ้นข้างใน แล้วมันเห็นอาการข้างหน้ามัน คืออาการคือกาย...แต่มันจะเห็นในมิติใหม่

มันเห็นในมิติใหม่ มันเห็นกายในมิติใหม่ ...มิติที่ไม่มีความคิด มิติที่ไม่มีความจำมาประกอบ มิติที่ไม่มีอดีตมาแทรก มิติที่ไม่มีอนาคตมาบอกมาคุม มิติที่ไม่มีภาษา มิติที่ไม่มีบัญญัติ มิติที่ไม่มีสมมุติ ไม่มีนาม ไม่มีชื่อ

มันจะเป็นมิติที่ เป็นก้อนๆ เป็นกองๆ อะไรก็ไม่รู้ ตรงเนี้ย เรียกว่า เห็นตามความเป็นจริง จิตเห็นกายในมิติที่หมดคำพูดความเห็น เพราะนั้นตัวนั้นไม่เรียกว่าจิต แต่ตัวนั้นเรียกว่าใจผู้รู้ผู้เห็น จึงเป็นแค่ดวงจิตดวงใจผู้...รู้ผู้เห็น 

แล้วมันเห็นกาย เห็นสภาพกาย เห็นสภาวะกายตามความเป็นจริง ...ตัวที่เห็นสภาวะกาย สภาวธรรมของกายตามความเป็นจริงนั้น เรียกว่า ญาณทัสสนะ

แต่เมื่อใดเวลาใดกำลังของสติ ความตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันกายน้อย อ่อน หมด สภาวะญาณทัสสนะ เสื่อม คลาย จาง หาย อันนี้เป็นธรรมดาเลย เป็นตามเหตุอันควร เป็นตามปัจจัยอันควรเลย ... ไม่ผิด แล้วก็ไม่ถูก แต่จริง ...จริงตามธรรม ตามเหตุแห่งธรรมนั้นๆ

เพราะนั้น ถ้าจะกลับสู่ความเป็นจริงเช่นนี้ เห็นความเป็นจริงอย่างนี้ ต้องประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิปัญญาซ้ำอีก ...ไม่มีลัด ไม่มีอุบาย ไม่มีว่าจะสต๊าฟมันให้ได้คงที่นิรันดร ...ก็ซ้ำๆ ซากๆ วนเวียนอยู่ในศีลสมาธิปัญญา เป็นตายขายขาดอยู่ในศีลสมาธิปัญญา 

ไม่ออกนอก ไม่ลืม ไม่จาง ไม่หาย ไม่ขาด...จากศีลสมาธิปัญญา เมื่อใด นั่นแหละเรียกว่าการประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิปัญญานั้นบริบูรณ์ เต็ม...เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มที่เต็มทาง เต็มฐาน แล้ว จึงจะเกิดคำว่า มหาสติ มหาสมาธิ และมหาปัญญา

ถ้าถึงขั้นมหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญา หมายความว่า ดวงจิตผู้รู้นี้ ถูกหล่อหลอม ถูกควบคุม ถูกอบรมด้วยศีลสมาธิปัญญาแบบเต็มที่ ...จึงเกิดภาวะที่เรียกว่า ศีลสมาธิปัญญานี่ มันกลายเป็นหนึ่งเดียวกันกับใจ

เมื่อมันเป็นหนึ่งเดียวกันกับใจ หมายความว่า ดวงจิตดวงใจผู้รู้ผู้เห็นนั้น จะมีอาการรู้เห็นเป็นอัตโนมัติ ...เหมือนเป็นอัตโนมัติ ไม่ปราศจากการรู้และการเห็นแม้แต่ขณะใดขณะหนึ่ง แปลว่า ไม่สามารถปรากฏหรือบังเกิดสภาวธรรม สภาวะจิตที่เรียกว่า “ไม่รู้” ได้เลย เพราะมันจะอยู่ด้วยองค์แห่งความรู้และเห็นตลอดเวลา

ตรงนี้ จิตนี้ ลักษณะธรรมตรงนี้ที่ท่านเรียกว่า "รัตตัญญู"  คำว่า รัตตัญญู แปลว่าอะไร แปลว่า เป็นผู้ที่ ไม่มีกลางค่ำกลางคืนน่ะ คือเป็นผู้ที่ไม่หลับ ไม่มีเวลาหลับ นอนก็นอนไป แต่จิตไม่นอน จิตไม่หลับ คือไม่หลง ไม่หาย ทั้งๆ ที่ว่าอาสวะยังไม่หมดนะ แต่ด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญา...ที่ยิ่ง ที่เป็นอธิ ที่เป็นมหา

มันจะเกิดเป็นอธิ เป็นมหา ได้อย่างไร ... เพราะความพากเพียร ณ ทุกปัจจุบันไป 
หลง ลืม...รู้ใหม่ 
หลง ลืม...รู้ใหม่ 
หลง ลืม...รู้ใหม่


(มีต่อ แทร็ก 10/8) 




วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 10/6




พระอาจารย์

10/6 (560225A)

25 กุมภาพันธ์ 2556


พระอาจารย์ –  ปฏิบัติเกินแล้วมันอย่างนี้แหละ  

เกินอะไร...เกินเหตุ เลยอะไร...เลยเหตุ เพราะนั้นน่ะ ไอ้ที่มันดำรงคงอยู่นี่ จะพอใจกับมันก็ตาม จะไม่พอใจกับมันก็ตาม ...ควบคุมไม่ได้ เพราะการประกอบขึ้น การตั้งอยู่นี่ มันอาศัยเหตุและปัจจัย กรรมและวิบาก เป็นตัวหล่อเลี้ยงมันอยู่

ทำไมต้นไม้มันยังไม่ล้ม ... ทำไม


โยม – ยังให้อาหารมัน

พระอาจารย์ – รากยังแข็งแกร่ง ลมพายุไม่ได้พัด อายุยังไม่หมดไป จะบอกให้มันล้ม มันก็ไม่ล้ม ...ทำไมจะไปเดือดร้อนกับมัน ว่าทำไมถึงไม่ล้ม ...เราจะไปเดือดร้อนกับมันมั้ย เราจะไปหาวิธีทำให้มันล้มดีมั้ย แล้วถ้าไปทำให้มันล้ม มันล้มจริงมั้ย หรือไปทำให้มันล้มแล้วดีใจที่มันล้ม 

เนี่ย ทำไมปล่อยให้มันล้มเองไม่ได้ แล้วทำไมทนอยู่กับมันไม่ได้ ... ก็ตายไปซะสิ ขันธ์นี่ มันเป็นทุกข์นี่ เกิดนี่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์นี่ ตายไปซะเลย ทำให้มันตายไปซะเลยสิ จะอยู่กับมันทำไม ใช่มั้ย 

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้ แต่สอนให้เข้าใจว่ามันคืออะไร มันตั้งอยู่ด้วยอำนาจของอะไร และควรจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรดี จึงจะเกิดความสงบ สันติ และร่มเย็น แล้วไม่มีเชื้อให้เกิดความว่าก่อเกิดซ้ำซากอีกต่อไป ...นี่ต่างหาก เรียกว่าปัญญา

ไม่ใช่โง่...ตั้งหน้าตั้งตา ตัด ละ ขาด จะเอาให้ขาด...เป้าขาดล่ะมั้ง ... มันไม่ขาดหรอก มันแค่หายไป เดี๋ยวก็มาใหม่ ... คือนักภาวนาพอเริ่มต้น เป้าหมายนิพพานคือว่าง นิพพานคือหมด จบ สิ้น ...คือกูประเภท get rid น่ะ จะ clear cut   

ก็ไม่เห็นมันเคลียร์คัทได้เลย ประเดี๋ยวก็วัชพืชงอกอีกแล้ว ...ตราบใดที่มีน้ำ มีดิน มีไฟ มีลม มันก็งอก ...เพราะเมล็ดพันธุ์มันยังมี มันไม่หายไปไหนหรอก 

แล้วทำไมมันถึงจะไม่งอกไม่เกิด หือ ... ก็ถ้ามันไม่มีดิน...ถ้าไม่มีดินมันจะมีการเกิดขึ้นไหม นั่นล่ะคือเหตุ บอกแล้วว่าถ้าไม่เห็นเหตุ ถ้าไม่แจ้งที่เหตุนี่...มันไม่จบ

กาย...เราถึงบอกว่ากายนี่เป็นเหตุ ถ้าไม่มีกาย...โยมจะไปเห็นคนเห็นพระมั้ย ถ้าไม่มีกาย โยมจะได้ยินเสียงคนเขาชมคนเขาด่ามั้ย ถ้าไม่มีกาย ถ้าไม่มีการอ่านการจำนี่ โยมจะอ่านหนังสือ อ่านข้อความอ่านตำรับตำรา มีความรู้ความเห็นของคนนั้นคนนี้มั้ย

อะไรมันเป็นเหตุ รูปเสียงกลิ่นรสภายนอกนี่เป็นเหตุ หรือกายนี้เป็นเหตุกันแน่ แล้วจะแก้ที่ไหนดี ...แล้วจะแก้ที่ไหน แก้ทีเดียวแล้วจบ เบ็ดเสร็จ แก้แล้วเบ็ดเสร็จ ถึงบอกว่ามรรคนั่นแหละคือความเบ็ดเสร็จ ศีลสมาธิปัญญานั่นแหละเบ็ดเสร็จ ...อันนี้เขาเรียกว่า ขุดราก ขุดเหง้า ถอนโคน ล้มทั้งกระดาน

ถ้าตราบใดที่ยังเล่นหมากรุกอยู่ แล้วจะทิ้งเบี้ย โยนเบี้ยทิ้ง โยนอะไรทิ้ง โยนม้า โยนเรือ โยนขุน เดี๋ยวกูก็เอาอันนี้มาตั้งเป็นโคน เป็นขุนก็ได้ หน้าตาไม่เหมือนเดิม แต่กูจะเรียกอย่างนี้มีอะไรมั้ย ตราบใดที่ยังมีกระดานให้กูเล่นน่ะ

สมมุติมันก็เปลี่ยนได้หมดแหละ อะไรก็เปลี่ยนได้ แล้วก็หมายมั่นขึ้นมาใหม่ วันนี้ว่าคนผอมสวย วันข้างหน้าว่าคนอ้วนสวย ทำไม ผิดอะไร ก็โลกเขาเห็นค่ากันอย่างนี้ สวยจริงไม่สวยจริงไม่รู้ แต่เขาว่าสวยก็เลยต้องสวยตามเขา

จิตมันก็ถูกน้อมนำให้เกิดความเชื่อตามๆ กันไป ตามๆ กันมา เนี่ย สีลัพพตปรามาสนะ ความบ่งบอกให้เกิดความคิดความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา แล้วเกิดความหมายมั่น

เมื่อหมายมั่น สุขมา ทุกข์เกิด และเมื่อมีสุขมาทุกข์เกิด ก็มีสุขดับทุกข์ดับ เนี่ย มาแล้วลูกระนาด ปัจจยาการแห่งการเกิด สืบเนื่องแห่งการเกิด ไม่จบไม่สิ้น แล้วก็วนเวียนซ้ำซาก

แล้วก็แก้แบบลูบหน้าปะจมูก ลูบแขนปะขา ลูบขาปะตัว ปัดไปเรื่อย เหมือนแมงหวี่แมงวันตอมหูตอมตาอยู่อย่างนั้น น่ารำคาญ ไม่ไปไม่มา ตราบใดที่ยังมีขี้ให้มันตอม ใช่มั้ย ... กายก็มีอยู่ มันจึงมีแมงหวี่แมงวันมาตอม ...อะไรเป็นเหตุกันแน่

ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าสอนธรรมที่เข้าไปสู่ความดับที่เหตุนั้นๆ

ธรรมที่เข้าไปสู่ความดับที่เหตุนั้นๆ คือธรรมอะไร...สมาธิธรรม ศีลธรรม ปัญญาธรรม สติธรรม นี้คือธรรมที่จะเข้าไปสู่เหตุ หรือมรรคมีองค์แปดนั่นเอง

และเมื่อเข้าไปถึงเหตุ เหตุที่มันจะเข้าไปเห็น หรือทำความแจ้ง ทำความชัด ทำความเรียนรู้ คือเหตุ คือทุกข์ เหตุนั้นคือทุกข์ และทุกข์นั้นคือทุกขสัจ...ทุกขอริยสัจ คือทุกข์ตามความเป็นจริง...ตรงเนี้ยคือเหตุ

แล้วกิจที่พึงกระทำต่อทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไร ท่านว่าให้กำหนดรู้ ท่านไม่เคยบอกให้ละทุกข์หนา แต่ความหมายของทุกข์ที่ท่านบอกไม่ใช่ทุกข์อุปาทาน แต่คือทุกขสัจ ทุกขสัจคือทุกข์ตามความเป็นจริง คือทุกข์ ณ ปัจจุบัน ทุกข์นี้คืออาการที่ปรากฏทุกปัจจุบันไป

เมื่อใดที่มากำหนดที่เหตุนี้ ... อะไรล่ะเป็นตัวที่สามารถกำหนดหยั่งอยู่ที่เหตุนี้ได้ หือ ถ้าไม่ใช่ศีล ถ้าไม่ใช่สติ ถ้าไม่ใช่สมาธิ ถ้าไม่ใช่ปัญญา มันจะไม่สามารถมาผูกติดแนบแน่นอยู่กับทุกขสัจ ณ ปัจจุบันนี้ได้เลย

เพราะนั้นเมื่อใดที่มันไม่ผูกติดแนบแน่นอยู่กับทุกขสัจตัวแรกตัวนี้ ตัวต้น ตัวต้นหัวต้นธาตุ ต้นธาตุต้นธรรมนี่ ต้นเหตุ ต้นของการเกิดนี่ มันจะแจ้งในอริยสัจมั้ย มันจะแจ้งในเรื่องทุกขสมุทัยมั้ย มันจะแจ้งในองค์มรรคมั้ย มันจะแจ้งในนิโรธคามินีมั้ย ... ไม่แจ้งนะ

เห็นมั้ยว่า ทำไมถึงต้องมากำหนดรู้ ทำไมถึงต้องมีสติระลึกรู้อยู่ในกาย ... แล้วไม่ไปแจ้งที่อื่น นี่ตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านวางหลักไว้มาตั้งแต่ 2500 ปี แล้วผู้ที่ปฏิบัติตามหลักนี้เท่านั้น จึงจะบังเกิดอริยจิต คือความรู้แจ้ง รู้จริง รู้ชัด ในองค์อริยสัจสี่

ทั้งหมดที่ดำเนินหมุนเวียนเป็นปัจจยาการนี่ อยู่ในเงื่อนงำของอริยสัจสี่ และไตรสิกขาทั้งสิ้น และไตรลักษณ์มันก็จะรู้แจ้ง รู้รอบ รู้โดยตลอดว่า ไม่นอกเหนือจากนี้เลย นี้คือความจริง นอกจากนี้ ไม่จริง ...แก้ที่อื่น แก้ได้ไม่จริง

มันแก้ด้วยการ เข้าใจ เข้าใจธรรม เข้าใจทุกข์ ...เข้าใจ แยกแยะทุกสิ่งที่ไม่จริง ออกจากความจริง เมื่อใดที่โยมทั้งหลายท่านทั้งหลาย นั่ง...แล้วรู้ว่านั่ง อาการที่ปรากฏว่านั่ง นี้คือปัจจุบันกาย นี้คือเหตุที่ปรากฏตามจริง

นี้คือเหตุที่ปรากฏโดยที่ไม่ได้อยากให้เกิดหรือไม่ได้ไม่อยากให้เกิด แต่มันอาศัยการรวมตัวหล่อหลอมขึ้นของปัจจยาการล้านเก้าพันแปดมั้ง แต่มันมีแล้ว ปรากฏแล้วจริง ...สิ่งนี้ที่ท่านเรียกว่าศีล สิ่งนี้ที่ท่านเรียกว่าปกติกาย สิ่งนี้ท่านเรียกว่าปกติทุกข์ที่ปรากฏ

ถ้าเอาสติมาจดจ่อระลึกรู้ ณ อาการนั่ง ปรากฏการณ์แห่งการนั่ง ความรู้สึกในอาการนั่ง เรียกว่าอะไร เรียกว่านี้คือการปฏิบัติต่อองค์มรรค เรียกว่ามีการดำเนินในองค์มรรค มรรคคือการกระทำ กระทำอย่างนี้เรียกว่ามรรค มรรคเกิดแล้ว ด้วยการรู้ว่านั่ง ก็คือรู้ทุกข์นั่นเอง

แต่เป็นทุกขสัจนะ คือทุกข์ที่มีอยู่จริง ทุกข์ที่ปรากฏอยู่จริง ...ไม่ใช่ทุกข์ในอดีต ไม่ใช่ทุกข์ในอนาคต ไม่ใช่กายในอดีต ไม่ใช่กายในอนาคต ไม่ใช่กายนอกคือกายคนอื่น กายผัวกายเมียกายคนที่รัก กายคนที่เกลียด กายคนที่พึงพอใจ กายคนที่ไม่พอใจ กายที่เป็นเจ้านาย กายคนที่เป็นลูกน้อง...ไม่มี 

กายเดียว ปัจจุบันเดียว ศีลเดียว ศีลหนึ่ง ศีลเอก จิตหนึ่ง จิตเอก...ก็ตั้งมั่นอยู่กับสิ่งหนึ่ง ทุกข์หนึ่งที่ปรากฏ ณ ปัจจุบัน

แต่โดยอำนาจของจิตผู้ไม่รู้ ยังมี ยังไม่หาย ยังไม่หมด ยังไม่วาง ยังไม่จาง ยังไม่คลาย แล้วมันจะทำหน้าที่อะไร สันดานก็คือ คิด ปรุง หา อยาก ไม่อยากอยู่ตรงนี้ ไม่ชอบตรงนี้ จะหาอะไรที่รู้มากกว่านี้ จะทำอะไรที่ได้ความสุขมากกว่านี้ จะทำอะไรที่ให้เกิดความเข้าใจมากกว่านี้ จะทำยังไง วิธีการไหน ...นี้คืออำนาจของจิตผู้ไม่รู้

แล้วพวกเรามันตรงมั้ยล่ะ ตรงต่อองค์มรรคมั้ยล่ะ ...ถ้าตรงต่อองค์มรรค จะเห็นจิตดวงนี้ อาการของมันอย่างนี้ ... แล้วยังไง ...พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า สมุทัย ท่านให้ทำยังไง ...เอาไว้บูชารึไง ฮึ เอาไปเคารพ เอาไปเป็นที่เหนี่ยวที่นำที่ยึดที่ถือรึไง หรือไปสิงสู่อยู่กับมัน ท่านบอกมั้ย

จาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ อนาลโย นี่คือกิจที่พึงกระทำต่อสมุทัย เพราะนั้นเมื่ออยู่ในองค์มรรคหรือเจริญอยู่ในมรรคนี่ มันจะไม่เห็นจิตอย่างนี้รึไง ...มันก็ต้องเห็นอยู่แล้ว 

เพราะพวกเราไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ...ทุกคนนี่แหละ หัวดำหัวแดงหัวโล้นเหล่านี่ี้ เพราะนั้นมันจะต้องมีจิตอย่างนี้ตลอดเลย ...แม้ในระหว่างที่รู้ว่านั่งด้วย 

ไม่ผิด...เราถึงบอกว่ามันไม่ผิดไง .. แต่พยายามจะทำให้มันถูกให้ได้ อันนี้แหละผิด อันนี้เรียกว่าปฏิบัติผิดนอกองค์มรรค

ท่านให้ละ ...เข้าใจคำว่าละมั้ย เข้าใจคำว่าวางมั้ย เข้าใจคำว่าปล่อยมั้ย ...แล้วเข้าใจว่าการที่ทำให้มันดับมั้ย...มันคนละภาษาเลยนะ 

ในสมุทัยท่านไม่ได้บอกให้ไปทำให้มันดับนะ  ท่านบอกว่า จาโค...ละ สละออก วาง จาโคจนนิโรโธน่ะ...จนมันดับไปเอง จึงบังเกิดคำว่านิโรธ คือความดับไป ... ไม่ใช่ไปทำให้มันดับ

ใครสอนวะ ไปทำให้มันดับนี่ หือ ... คิดเอาเองนะ เพราะนั้นเมื่อคิดเอาเองปั๊บนี่ เป็นศาสดาหัวแหลมขึ้นมาแล้ว ...อันนี้ก็จะต้องดับให้ได้ อันนั้นก็จะต้องดับให้ได้ ราคะก็ต้องดับ ความโกรธก็ต้องดับ ความคิดก็ต้องดับ

ยิ่งดับก็ยิ่งงอก เหมือนถั่วงอกเลยน่ะเอ้า แล้วก็เกิดท้อแท้ว่า ทำไมมันไม่ดับซะทีวะ หือ ทำไมกิเลสมันไม่หมดซักทีวะ .... ก็เพราะเล่นเป็นศาสดาหัวแหลมนี่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ดับ ท่านไม่ได้บอกว่าให้ไปจัดการอะไรยังไงเลย

แต่ท่านบอกว่า รู้แล้ว เห็นแล้ว...วางซะ รู้แล้ว เห็นแล้ว...วางซะ จาโค...จาโคแปลว่าสละออก ปฏินิสสัคโค แปลว่าปล่อย มุตติ หลุดพ้นจากอาการนั้นๆ ไม่ข้องแวะ ไม่เกาะเกี่ยว ไม่เหนี่ยวรั้ง ไม่ทำให้มากขึ้น ไม่ทำให้น้อยลง ไม่ทำให้คงอยู่ อนาลโย...ไม่หวนคืนอีก

เพราะอะไร ...อะไรที่ไม่หวนคืน ...คือที่มันขึ้นมาซ้ำๆ ซ้ำๆ ซ้ำๆ ไม่หายซักที ...ไม่หวนไป "เอ๊ะ จะทำยังไงดีๆ จะทำอย่างนี้ดีมั้ย จะอย่างนั้นดีมั้ย" ... ปวดหัวว่ะ  ถ้าจะต้องไปข้อง 

เพราะเดี๋ยวมันมาหน้าตาอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็มาหน้าตาอย่างนั้นอีกแล้ว แล้วถ้ามันมาหน้านี้ เอียงหน้าตรงสององศา กูต้องแก้อย่างนี้ ถ้ามันเอียงหน้าอีกหนึ่งองศาแล้วกูจะแก้ยังไง หือ จะดับยังไง พอเคยดับในวิธีการสององศา มันดับได้ พอมันสามองศา ดับไม่ได้ซะแล้ว หือ จะแก้ยังไง

แล้วก็เลยบอกว่า ...เอ๊ ศีลไม่ตรง สมาธิไม่ตรง ปัญญาไม่ตรง ไม่เห็นได้ผลเลย ... มันจะได้ผลตรงไหน ก็มันไม่ได้ปฏิบัติอยู่ในองค์ศีลสมาธิปัญญาเลย ...พูดจนปากเปียกปากแฉะ หูฉีกแล้ว ก็พูดอยู่เรื่องเดียว ศีลสมาธิปัญญานี่ ทำไมไม่จำ หือ 

จิตน่ะมันดื้อ เห็นมั้ย มันด้าน มันดื้อ มันอวดดี มันคิดว่ามันรู้ มันคิดว่ามันแน่ มันคิดว่ามันทำอย่างนี้แล้วจะต้องได้แน่ๆ เลย

แล้วจะมาให้เรายืนยัน ไม่ยืนยัน ไม่ขอยืนยัน เพราะเราเป็นลูกศิษย์พุทธะ พุทธะไม่เคยสอนอย่างนี้ หลวงปู่ก็ไม่สอนอย่างนี้  ทำไม ...ไปอ่านดู หน้าป้ายน่ะๆ หน้าทางเข้า ดวงจิตผู้รู้อยู่ ไม่ใช่ดวงจิตผู้รู้ไป ... เข้าใจคำว่ารู้แล้วอยู่มั้ย ไม่ใช่รู้แล้ว อะไรรู้อะไรเห็น...กูไปตามมึงหมดเลย

สันดานของจิต เหมือนผู้หญิงสะพายเป้สะพายย่าม ใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ เตรียมตัวหนีตามผู้ชายที่มาเคาะประตูเรียก  เพราะเตรียมไว้พร้อมแล้วไง เตรียมไว้พร้อมแล้ว อย่าให้มาเรียกนะ ...ถึงไม่มีคนเรียกก็ชะเง้อชะแง้หา ใครจะมามั่งวะ จะได้ตามเขาไป อยู่กินร่วมกันตั้งรากตั้งฐานแล้วก็ร่ำรวย ...นี่แหละสันดานจิตมันจะเป็นอย่างนี้

เอะอะ อะไรกระทบหู เอะอะ อะไรกระทบตานี่ มันเหมือนมีกาวตราช้าง ปึ้ก ติดสอยห้อยตามเลย ล่องลอยตามเลย ...ไม่มีรูป ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสมากระทบ กูก็ลอยเอง ติดเอง ทำไม...นี่คือสันดานของจิต

รู้จักมันมั่งมั้ย ว่านี่คือจิต แล้วรู้จักมันมั่งมั้ย ว่านี่คือกาย แล้วรู้จักมั่งมั้ยว่าใจคืออะไร นี่ถ้ารู้จักสามสี่ห้าหกเจ็ดแปดตัวแล้ว มันไม่แจ้งให้มันรู้ไป ... แล้วมันจะเชื่อตัวไหนดี หือ ถ้ามันเห็นว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง แล้วมันจะหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามผู้ชายเขาไปรึไง ...สุดท้ายน้ำตาเช็ดหัวเข่า...ทุกที

ไปตกระกำลำบาก ตกขวากตกหนาม ทุรกันดาร ขรุขระ เคยฝันไว้ เคยวาดไว้ ว่าจะต้องได้อย่างนั้น จะต้องเกิดสภาวะจิตอย่างนี้ ธรรมจะได้อย่างนี้ๆๆ จะร่ำรวยเงินทองจะร่ำรวยธรรมะ จะร่ำรวยมรรคผลนิพพาน ...สุดท้าย น้ำตาเช็ดหัวเข่า ไหลพรากๆ เหมือนอย่างนี้น่ะ หือ

มันออกจากศีล ...ถ้ามันออกจากศีล ออกจากธรรม ถ้ามันออกจากปัจจุบันเมื่อไหร่นั่นน่ะ อุปาทานขันธ์อุปาทานทุกข์นั่นแหละมันหลอก เหมือนผู้ชายมาหลอกผู้หญิงนั่นน่ะ ตามกันออกไป สุดท้ายน่ะ ก็เป็นความเผาไหม้ ร้อนรน ร้อนรุ่มกลุ้มหัวใจอยู่ภายใน

ไม่มีใครแก้ได้หรอก ไม่มีใครช่วยได้หรอก ไม่มีอะไรมาช่วยได้ นอกจากศีลสมาธิปัญญา ให้จำไว้เลย ...อย่าคิดว่ามีตัวอื่นตัวช่วย วิธีการอื่น วิธีการไหน จะมาดี จะมาเหนือกว่าธรรม จะมาดีจะมาเหนือกว่าคำตรัสคำกล่าวของพุทธะ

จิตน่ะมันอวดดี มันคิดว่ามันเหนือกว่า มันคิดว่ามันเข้าใจดีแล้ว มันเคยทำแล้วได้ผลอย่างนี้อย่างนั้นแล้ว ...อย่าได้ริอ่านไปเชื่อมันเชียว มันพาให้วนเวียนอยู่ในก้อนทุกข์กองทุกข์ ไม่จบและสิ้น หมุนเวียนซ้ำซากอย่างนี้

ถึงบอกว่าให้สังเกตดู รู้ว่านั่ง รู้อยู่แค่นั่ง อยู่แค่นี้แหละ ไม่มีอะไร ... อะไรไม่มี...อดีตไม่มี อนาคตไม่มี ความคิดไม่มี อารมณ์ไม่มี ความสุขไม่มี ความจำไม่มี ความเห็นไม่มี ภาษาไม่มี สมมุติไม่มี บัญญัติไม่มี ตัวเราไม่มี ตัวเขาไม่มี หญิงไม่มี ชายไม่มี สัตว์ไม่มี บุคคลไม่มี หือ

ทำไมถึงต้องอยู่แค่นี้ ทำไมถึงต้องให้รู้แค่นี้ ...มันจะได้เห็นว่า เพราะที่นี้ไม่มี “เรา” เพราะตรงนี้ไม่มี “ของเรา” กายตรงนี้ไม่มีเรา กายตรงนี้ไม่มีของเรา ใจที่รู้ ใจที่เห็นอาการนั่ง อาการยืน อาการไหว อาการนิ่ง อาการหนัก อาการหนาว อาการตึง ...  ใจที่รู้อย่างนี้...ไม่มี “เรา”

แต่ถ้าออกนอกนี้ไป ทุกอย่างเป็น “เรา” ทุกอย่างจะเป็น “ของเรา” ปรากฏทันที ด้วยอำนาจของอวิชชา

แต่ในขณะที่อวิชชามันยังไม่ตาย ...ในขณะที่คร่ำเคร่ง พากเพียร จดจ่อ จดจ้อง อยู่ในองค์มรรค อยู่ในองค์ศีล อยู่ในองค์ของสติ อยู่ในองค์ของสมาธิ ปัญญา ...จิตผู้ยังไม่ตาย อวิชชาผู้ยังไม่ดับ เขาก็สำแดงอาการวิปริตแปรปรวนขึ้นมา

คือความปรุงแต่งเป็นอารมณ์ เป็นสัตว์บุคคล เป็นอดีต เป็นเรื่องราวในอดีต เป็นอนาคต เป็นเรื่องราวในอนาคต เป็นการกระทำของคนในอดีต เป็นการกระทำของคนในอนาคต อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

ไม่ผิด...แต่ก็ยังไม่ถูก มันมีถูกกว่านั้น ถ้าเจริญ ดำเนิน พากเพียร อยู่ในมรรค ไม่ท้อ ไม่ถอย ไม่ทิ้ง ไม่วาง ไม่ห่าง ไม่หนี ไม่ขวนขวายละเมิดล่วงเกิน ไม่ปล่อยปละละเลย ...ผลก็จะบังเกิด

ผลคืออะไร ...การปรุงแต่งเป็นรูปเป็นนามขึ้นมา ทั้งในอดีตทั้งในอนาคต จะเริ่มสำแดงลักษณะหด น้อย เบา บาง จาง คลาย ให้เห็นประจักษ์แก่ตาใจของสัตว์นั้นบุคคลนั้น ผู้ประกอบอยู่ในศีลสมาธิปัญญานั่นเอง ...เป็นปัจจัตตัง

อย่าปฏิบัติเกินศีลสมาธิปัญญา แล้วก็อย่าปฏิบัติน้อยกว่าศีลสมาธิปัญญา นี้คือความพอดี อย่างเช่น นั่ง รู้ว่านั่ง ไม่รู้เกินนี้ ถือนั่งเป็นเหตุที่ปรากฏ ถืออาการนั่งเป็นธรรมที่ปรากฏ เป็นปัจจุบันที่จริงที่สุด เท่าที่มันปรากฏ

ไม่ส่งจิตขวนขวายไปรู้อะไรที่เกินนี้ ยิ่งกว่านี้ มากกว่านี้ หรือน้อยกว่านี้ คือลืมกาย คือลืมเหตุที่ปรากฏ แล้วไปหมายเอาเหตุที่จิตสร้างขึ้นเป็นรูปนามนั้นว่าจริง นี่เรียกว่าหลงไปด้วยอำนาจของความไม่รู้ตัว

ความหลงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อไม่รู้ตัว แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะดูเหมือนเป็นจริงเป็นจังหมดเลย ทั้งในอดีต ในอนาคต และปัจจุบัน ...มันจะปนเป คละเคล้า มั่วสุม รุมล้อม 

จริงไปหมด หนักไปหมด เป็นเรื่องราวไปหมด เป็นธุระไปหมด เป็นจริงเป็นจัง เป็นสิ่งที่ต้องแก้ เป็นสิ่งที่ต้องทำ เป็นเงื่อนไขเงื่อนงำ จนจับต้นชนปลายไม่ถูก จนรู้สึกว่ามันอึดอัด มันคับข้องหันรีหันขวาง หันซ้ายหันขวา ขึ้นบนลงล่าง มันติด มันพัวพันไปหมด

ทำไม ...เพราะไม่มีศีล เพราะออกนอกองค์มรรค มันออกนอกองค์มรรค มันตายนอกองค์มรรค มันใช้ชีวิตอยู่นอกองค์มรรค จนคุ้นเคย จนเคยชิน จนไม่รู้สึกว่ามันผิดน่ะ มันจะรู้สึกว่ามันผิดตอนที่มันร้องไห้เป็นทุกข์แค่นั้นแหละ

พอมันไม่มีเรื่องอะไร มันก็บอกไม่เห็นเป็นไรเลย ทำไมจะต้องมาอยู่ในองค์มรรค ทำไมจะต้องรู้ตัว ไม่รู้ตัวก็ไม่เห็นถูกจับนี่ ไม่เห็นผิดกติกาในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี่

ก็ไอ้เพราะอย่างนี้ มันถึงน้ำตาเช็ดหัวเข่าทุกวันไปอ่ะ เวลามันเกิดเรื่องที่ไม่คาดหมายคาดฝัน ทำใจไม่ได้ หรือ...ตาย มีใครหัวเราะหรือยิ้มเย้ยยุทธจักรกับความตายได้มั้ย เหอ พูดมาซักคำ มีแต่กลัวหงอเลยแหละ ไม่อยากตาย กลัวตาย 

บางคนก็ใช้เล่นคำพูด ตายหนูไม่กลัวหรอก หนูกลัวเจ็บ นั่น มันเก่งจริงๆ เรื่องสับปลับ หรือว่าหาเหตุมารองรับความโง่ของมัน ...พอถึงวาระนั้นจุดนั้นน่ะ มันรับไม่ได้ มันไม่ยอม มันจะทุกข์แบบทุรนทุรายจริงๆ 

ตอนนี้ล่ะแน่ เก่ง อวดเก่ง พอถึงตอนนั้นน่ะ เฮ่อ หาแต่หมอ หาแต่พระ "อาจารย์อยู่ไหน ไปเรียกมาเทศน์หน่อย" ... กูไม่ไป ไปมึงก็ไม่ฟัง 

เชื่อมั้ย จะตายขนาดนั้นมันไม่ฟังแล้ว พุทโธพุทแท มึงอย่ามาใกล้ หนวกหู รำคาญ เรียกหาแต่หมอ ... เพื่ออะไร เพื่อจะชนะมัน มัวแต่ฟังอาจารย์ไม่ชนะแน่ เพราะมันไม่ทันแล้วที่จะสร้างศีลสมาธิปัญญาขึ้นมา...พอจะยกระดับใจให้พ้นจากขันธ์น่ะ

คือตอนมีชีวิตอยู่นี่ อิฉันก็เป็นแบบแบกเป้ไว้เตรียมพร้อม หนีตามหนีหาย ใครชวนก็ไป หรือไม่ชักชวนก็เดินเอ้อระเหยลอยชาย อยู่กับชีวิตอย่างนี้ด้วยความประมาทเลินเล่อน่ะ 

ก่อนพระพุทธเจ้าตาย ท่านว่ายังไง สังขารมีความเสื่อม มีความสิ้น มีความดับไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด  ...สำคัญมั้ยนี่ คนก่อนตายนี่ คำสุดท้ายที่...สงสารพวกมันจริงๆ ไม่รู้จะกลั่นคำพูดไหนออกมาพูด 

นี่คือทั้งหมดเลยที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความประมาทในขันธ์ ในโลก ในการมีชีวิตอยู่ ...ว่าเราไม่เป็นอะไรหรอก พอมันเป็นขึ้นมาสิ ฮื่อ นั่งอยู่อย่างนี้ รู้ว่านั่ง ให้กลับมารู้อย่างนี้ ยังไม่อยากรู้เลย เพราะไม่เห็นมันเป็นทุกข์ รู้แล้วไม่เห็นจะได้ประโยชน์มรรคผลอะไร

มันไม่รู้จัก ...ไม่รู้จักว่า นี่ เรานั่งอยู่บนกองไฟ แต่ว่าตอนนี้ไฟยังไม่สำแดง แล้วมันปิดบังด้วยอะไร อทุกขมสุขมเวทนา คำว่า อทุกขมสุขมเวทนา คือ เวทนาที่ไม่สุขไม่ทุกข์ แล้วเราก็ประมาทว่า ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ... มันบัง มันบังความเป็นก้อนถ่านก้อนไฟ...ของขันธ์ ของกาย ณ ปัจจุบัน

แล้วก็เลยประมาทล่องลอย ไม่เห็นต้องดู ไม่จำเป็นต้องดู ไม่จำเป็นต้องรู้ ก็ไม่เห็นว่ามันเป็นทุกขสัจตรงไหน ก็ไม่เห็นจะต้องไปรู้ทุกข์เลย ...โคตรอวิชชามาเลย โมหะ หลง ปล่อย ลอย ไม่เห็นจำเป็นเลยๆ
คิดดีกว่า เพลินดีกว่า ลอยไปในอดีตอนาคต 

เดี๋ยวจะไปทำอะไรดี เดี๋ยวจะไปหาใครดี เดี๋ยวออกจากวัดแล้วจะทำอะไรดี เดี๋ยวงานที่ยังคั่งค้างอยู่จะมีอะไรให้ทำต่อ แล้วมันจะได้เงินทอง ได้ความสุขที่จีรังถาวรเที่ยงแท้มั่นคงดี แล้วเรื่องธุระปะปังกับคนนั้นคนนี้ก็ยังไม่จบ ยังไม่ได้ทำ ...นั่น มันบอกว่าตรงนั้นน่ะมีสาระกว่า

ลักษณะอาการนี้ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า อนุสัย อนุสัยแปลว่าสันดาน สันดานแปลว่าความเคยชิน คือมันซ้ำซากจนเป็นสันดาน คือความเคยชินนั่นเอง แล้วมันไม่รู้สึกว่าเสียหายแต่ประการใด มันก็เลยไม่รู้สึกคำว่า ขวนขวายในองค์มรรค

พอมาเจอเรานี่ ต้องขวนขวายแล้ว เห็นมั้ย ครูบาอาจารย์นี่ พระสงฆ์ พระธรรม พระพุทธเจ้านี่ ถ้าไม่มีจุดนี้เป็นตัวจุดประกายนะ มันไม่มีคำว่าขวนขวายด้วยตัวของมันเองหรอก นี่คืออานิสงส์ นี่คือคุณของพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ถ้าไม่มีพุทธะ ธรรมมะ สังฆะ ต่อให้อายุร้อยปีพันปี มันไม่มีทางขวนขวายในองค์มรรคเกิดขึ้นเลย ...ปล่อย ไม่เห็นเป็นไร

พอใกล้ตายแล้วก็รีบมาเปิดเทปฟัง หรือเอาพระมาสวด หรือผู้คนกรอกหู พุทโธนะ พุทโธเข้าไปนะลูก พุทโธเข้าไว้นะเพื่อน นั่น ... พุทโธไม่ไว้แล้ว เจ็บจะตายห่าอยู่แล้วนั่น หายใจก็ยังไม่ออก มันจะพุทโธได้ยังไงวะ แค่จะต่อสู้ให้มีลมหายใจทีละเฮือกๆ ก็จะตายชักอยู่แล้ว

ไปภาวนาตอนตายน่ะ ตายทิ้งตายขว้างเปล่าๆ ปลี้ๆ น่ะแหละ ...มันไม่จบน่ะสิ ตายจบมันก็สบายสิ แต่มันไม่จบนี่ ...เกิดใหม่

มันไม่เชื่อหรอกว่าเกิดใหม่ บอกให้ ไอ้ที่ว่าเชื่อนี่คือจำอยู่ แต่จิตจริงๆ ไม่เชื่อหรอก คือถ้ามันเชื่อนะมันไม่อยู่อย่างนี้แล้ว ไม่อยู่ด้วยความเผลอเพลิน เลินเล่อ ... ไอ้เชื่อน่ะเชื่อแบบเคยจำมา เคยได้ยินมา ครูบาอาจารย์ เขาบอกว่าตายแล้วเกิดๆ เออ เป็นวัฏฏะสงสาร ตายแล้วก็เกิดใหม่ ถามจริงๆ จิตมันเชื่่อมั้ย ...ไม่เชื่อหรอก

มันยังไม่รู้เลยว่าเคยเกิดมารึเปล่า ตำราเขาว่ามาทั้งนั้น แล้วก็เลยบังคับจิตให้มันคอยเชื่อไว้ แต่จิตจริงๆ ยังไม่เชื่อ ...มันเลยไม่กลัว ไม่กลัวโลก ไม่เบื่อโลก มันเลยไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อหน่ายในการเกิดวนเวียนซ้ำซาก เพราะไม่เชื่อเลยว่าเคยเกิดมาก่อน ...ความไม่รู้น่ะปิดบัง 

แล้วไง ... ตาย พอใกล้ตาย โอย ให้แถมเงินอีกล้านๆ ไม่เอาแล้ว ...ไปดูคนใกล้ตายหรือว่าคนที่มีโรคประจำตัว แถมเงินให้เป็นล้านแล้วแถมกายนี้ให้ด้วยมันยังไม่เอา ไม่อยากมาเกิดแล้ว ...แต่สุดท้ายก็มาเกิด เพราะมันไม่ได้แก้ที่เหตุ

มันไม่ได้หลุดพ้นกันเพราะความอยากหรือไม่อยากนะ ที่ว่าไม่อยากเกิดก็เป็นแค่คำพูดคำกล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ เป็นความเบื่อขึ้นมาลอยๆ แล้วก็ดับไป กิเลสอวิชชาตัณหาอุปาทานถ้ามันพูดได้มันก็บอก... เนี่ย ไม่กระเทือนซางกูเลย แล้วมันก็ทำหน้าที่สร้างผลิตผลผลิตภัณฑ์มวลรวม สร้างจีดีพีขึ้นมาใหม่เป็นชายเป็นหญิงใหม่ ...เชื่อมั้ยล่ะ

ไม่เชื่อหรอก ... เพราะอะไร ...เกิดใหม่ มันลืมแล้ว ลืมว่าเคยเกิดมาก่อน ไม่มีใครจำได้ แล้วก็ไม่รู้ว่าเคยเกิดมารึเปล่า ไม่รู้ ไม่รู้เลย ลืมแล้วๆ แล้วก็ใช้ชีวิตแบบเอ้อระเหยลอยชาย ต่อๆ กันมา ตามๆ กันมา ต่อไป ตกคลั่กอยู่ในบ่อตมนี่แหละ เหมือนปลาดุกปลาช่อนอยู่ในสุ่มในข้อง ตายทีก็เขี่ยออกทิ้งที

จึงบอกว่าศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี้คือพละ ๕ นี้เรียกว่าอินทรีย์ ๕ เห็นมั้ยว่าอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ท่านเริ่มไว้ด้วยว่าต้องมีศรัทธา ถ้าไม่มีศรัทธาเป็นตัวแรกตัวนำ วิริยะไม่เกิด ความพากเพียรในองค์มรรคไม่เกิด ถ้าไม่มีความตั้งใจพากเพียร สติที่จะรักษาให้เกิดความต่อเนื่องไม่เกิด สติไม่เกิด สมาธิ ปัญญาไม่เกิด

เพราะนั้นที่เราพูด ครูบาอาจารย์ท่านพูด อธิบายให้เห็น เหมือนโฆษณาชวนเชื่อ เรียกว่าน้อมนำจิต หว่านล้อมจิต โอ้โลมปฏิโลม ลูบ...ด้วยน้ำเย็น ทุบ...ด้วยค้อนปอนด์ แต่งทรงให้มันไม่บิดไม่เบี้ยว แล้วแต่ท่าน แล้วแต่เรื่องของครูบาอาจารย์นั้นๆ ท่านจะมีกุศโลบายยังไง 

ไม่ใช่เพื่ออะไร เพื่อตกแต่งจิตดวงนี้ ให้ยอม ให้นอบน้อมต่อศีล เคารพ ศรัทธาต่อศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง ... แล้วจากนั้นไป ช่างหัวมึง เพราะว่าอะไร เพราะว่าผู้ใดทำ ผู้นั้นได้ ผู้ใดประกอบเหตุนั้น ผู้นั้นก็จะรับผลแห่งการประกอบเหตุนั้นเอง ...มันทำให้กันไม่ได้เลย

แต่ว่าสิ่งที่พูดนี่ อธิบายปากเปียกปากแฉะ พูดตั้งแต่เมล็ดถั่วงอกยันถึงนิพพานนี่ จนถึงว่ามันจะแตกออกยังไง ปุ่มไหนมันจะออกเป็นทุกข์ ออกเป็นอุปาทาน อธิบายปัจจยาการ คือหว่านล้อมเพื่อให้เห็น เพื่อให้จิตน่ะมันถูกตีกรอบ 

ขนาดนั่งฟังมันยังคิดมั่วซั่วเลย ทั้งที่เคยได้ยินมาอะไรมา มันประมวลหมดแหละ แต่ว่ามันไปไม่ได้ ...เจอกูแล้วมึงไปไม่ได้หรอก เจอธรรมนี่มันตีกรอบล้อมไว้หมดน่ะ มันเถียงไม่ออกนะ 

พอเถียงไม่ออก จิตมันเริ่มหดตัว เข้าใจมั้ย ...แค่ฟังอยู่ จิตมันยังไม่กล้าไปไหนเลย มันก็อยู่ตรงนี้ แค่อยู่ตรงนี้ ไม่ต้องทำอะไร สงบแล้ว ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้หลับตาด้วยนะ เอ้า ทำไมมันสงบวะ เออ ทำไมพอฟังอาจารย์เสร็จออกไป ทำไมมันผ่องใส เบาเลยอ่ะ ...หือ 


(มีต่อ แทร็ก 10/7)