วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 10/24 (2)


พระอาจารย์
10/24 (560317E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
17  มีนาคม 2556
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 10/24  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ถ้ามันเข้าใจแล้วไม่ต้องเสียใจ เสียดาย ... ก็ให้เข้าใจว่ามันไม่ตายหรอก แค่เปลี่ยน..เปลี่ยนรูปร่างที่ห่อหุ้ม ...กายใจ สันดาน..เหมือนเดิม เหมือนเก่า

เกิดมารูปลักษณ์ใหม่นะ อาจจะเป็นผู้หญิงหรือจะเป็นผู้ชาย หรือจากผู้ชายมาเป็นผู้หญิง หรือจากหน้าตาไม่ดีมาเป็นหน้าตาสวย ...จิตใจเหมือนเดิม อุปนิสัยเหมือนเดิม สันดานเหมือนเดิม ไม่ได้ไปไหนหรอก

คนที่ตายจริงๆ น่ะคือพระอรหันต์ ท่านตายซะตั้งแต่ยังไม่ตายน่ะ ...ไอ้ที่มันตายของท่าน อะไรของท่านที่ตายแล้วนี่ นั่นแหละคือจิตปรุงแต่งหรือจิตสังขาร

มันตายซะตั้งแต่มันยังไม่ทันเกิด แล้วก็อยู่ในเปลือกที่มันรอวันตายอยู่  เห็นมั้ย มันตายตั้งแต่ขันธ์ยังไม่ทันตาย พอรอถึงวันตายมา ขันธ์มันตาย ...คราวนี้ตายจริงๆ

ขันธ์ก็ดับ จิตก็ดับ การเกิดก็ดับ การตายก็ดับ...คือตายครั้งสุดท้าย...นี่ตายจริงๆ ไม่ใช่ตายเล่นๆ นะ ไอ้พวกเรานี่ตายเล่น ...แค่ตายเล่นนี่ก็ร้องไห้กันเป็นวรรคเป็นเวรแล้ว

เสียดายขันธ์ เสียดายที่ผ่านมาของกาย เสียดายการกระทำที่เคยผ่านมาของกาย การสัมผัสสัมพันธ์ในรสชาติของกายที่กระทบสัมผัสกับอายตนะโดยรอบ ...มันเศร้าโศกอาดูรกัน

ไม่ต้องกลัว...ได้เจอกันใหม่แน่ ...แต่คราวนี้มันสำคัญว่าตอนเจอกันใหม่นี่มันลืม มันจดจำการตายครั้งที่แล้วไม่ได้ มันก็นึกว่า..อึ๊ย เพิ่งมาเกิดนะเนี่ย ทุกคนน่ะ จิตทุกคนน่ะ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเคยเกิดมาก่อน

มันถูกปิดบังหมดน่ะ มันก็เลยอยู่ไปวันๆ ด้วยความประมาท กว่าจะที่มันจะฟื้นสติ ฟื้นสมาธิ ฟื้นปัญญา ฟื้นของเก่าขึ้นมานี่ ส่วนมากมันจะอายุเกินยี่สิบสามสิบไปน่ะ

นอกเสียจากว่ามันอัดแน่นจริงๆ น่ะ มันจะฟื้นตั้งแต่เจ็ดขวบขึ้นน่ะ คือมีสันดานมา ...คือมาถึงปึ้บนี่ เกิดมาในครอบครัวดี เกิดมาในครอบครัวที่มีธรรม เกิดมาในครอบครัวของผู้ปฏิบัติ

มันก็ถูกหล่อหลอม ถูกแวดล้อม แล้วก็ถูกสนับสนุน ...เหมือนกับไปเปิดคุ้ยเขี่ยตะกอนโดยภายนอก ทำให้เกิดการฟื้นตัวของของเดิมของเก่า มันก็ย่นระยะเวลาของการเดินไปในองค์มรรค

เพราะกว่าที่จะมาเริ่มต้นเดินในองค์มรรคนี่ อายุสามสิบสี่สิบ กว่าจะเริ่มเดิน ...แล้วก็.."เอ๊ะ เดินยังไง" ...ไม่ใช่พอเริ่มจะเดินแล้วเดินตรงเลยนะ ตรงแน่วเลยนี่...ไม่มีอ่ะ

มันก็หันรีหันขวาง ถอยหน้าถอยหลัง เข้าไปแล้วก็ออก ออกไปแล้วก็เข้า  เข้าถูกรูบ้าง เข้าไม่ถูกรูบ้าง อะไรอย่างนี้ ลองถูกลองผิด ใช่มั้ย ...เออ นี่ก็ปาเข้าไปอีกสักสิบปีแล้วมั้ง

นี่ มันไม่แน่ ...อย่าเถียง ยังไม่แน่ๆ แต่ละคนน่ะ มันกำหนดไม่ได้หรอก ...ถ้าไม่ปักใจลงไปจริงๆ ตั้งมั่นจริงๆ ว่าศรัทธาที่เรียกว่าเป็นอจลศรัทธาจริงๆ ในมรรคนะ ...มันยังกลับกลอกอยู่

ถึงบอกว่าปัญญาด้วยการสุตตะ-จินตานี่ เป็นตัวอบรมอย่างหนึ่ง เป็นกรอบอย่างหนึ่ง ที่มันจะไปล้อมกรอบของจิต ที่มันโดดโลดแล่นไปมา หาไปมา ...แต่ที่มันสำคัญที่สุดคือภาวนามยปัญญานี่

แต่ถ้ามันถูกกรอบของความสุตตะ..ฟังด้วยดี  จินตา..ใคร่ครวญตาม คิดตาม ด้วยความเป็นกลาง ด้วยการที่ไม่เอาทิฏฐิมานะมาเป็นตัวคัดค้าน คัดง้าง ...แล้วมันจะเห็นสภาพ

แล้วก็เกิดความคล้อยไปตามสภาพของธรรมตามความเป็นจริงของศีลสมาธิปัญญา นี่ ตัวนี้มันจะเป็นกรอบภายนอกที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นภายในเกิดขึ้นในองค์ศีล ในการปฏิบัติ หรือในองค์มรรค

ซึ่งตรงนี้สำคัญ ...แล้วก็ใช้เวลาตรงนี้ให้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน โดยไม่เลือกกาลเวลา ไม่เลือกรูปแบบของกาย คือรูปแบบว่าต้องอยู่ในท่านี้ หรือท่าเดินจงกรม ...คือจะไม่มีรูปแบบมาเป็นข้ออ้าง เงื่อนไข

ถ้าลักษณะนี้แล้วนี่ คืออะไร ...คือมันไม่เนิ่นช้าในองค์มรรค..ที่มันต้องวิ่งแข่งกับอายุขัยของขันธ์  คือใกล้ความตายเข้าไปทุกลมหายใจเข้าและออก ...มันแข่งกันอยู่นะ

แล้วเวลาที่มันหมดไปนี่ มันหมดเวลาไปกับนอกมรรค หรือมันหมดเวลาไปกับอยู่ในมรรคล่ะ

แต่อายุนี่มันหมดไปทุกขณะอยู่โดยตลอดเวลาอยู่แล้ว ...แต่ในขณะที่หมดไปนี่ มันหมดไปแบบเลื่อนๆ ลอยๆ หรือเปล่า หรือหมดไปกับตั้งอกตั้งใจทำอย่างเต็มที่เลย แต่ว่านอกมรรค

จึงบอกว่านี่ เหล่านี้ เวลาที่มันหมดไปอย่างนี้นี่ เราถึงบอกว่าน่าเสียดาย ...ทำไมถึงเรียกว่าน่าเสียดาย  เพราะโอกาสที่จะได้กลับมาเกิดใหม่นี่..มี ทุกคนมี ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้เกิด ...เกิดแน่

แต่จะเกิดเมื่อไหร่ หือ ตอบตัวเองได้มั้ย ...ตายแล้วเกิดเลย หรือตายแล้วมาเป็นคนเลยมั้ย หรือจะไปเป็นเทวดาสักพันปี ไปเป็นพรหมสักหมื่นปี ...ไม่รู้เลย ไม่มีใครรู้นะ

ถึงบอกว่า...ถ้ามาเกิดใหม่นี่ เอ้า แล้วมาเกิด พอรู้คำพูด ถามคำพูดได้ ถาม...“แม่ นี่ พ.ศ. อะไร” ...“4990” อย่างนี้ เอ้า มิตายรึกู อายุศาสนามีห้าพัน ดันไปเกิด พ.ศ. 4990 อย่างเนี้ย ทำไงอ่ะ

ทำไงก็ไม่ได้แล้วๆ ถึงตรงนั้นน่ะ ...เราถึงบอกว่า น่าเสียดายนะ เสียดายเวลาในชาติปัจจุบันนี้...ที่มันหมดไปกับอะไรล่ะ หือ ...บอกให้เลย มันหมดไปกับความไม่รู้ตัว..เป็นส่วนใหญ่ เป็นรูทีน เป็นอาจิณ เป็นกิจวัตร

ทั้งๆ ที่ว่า ท่านให้รักษาศีลเป็นนิจศีล นิจวัตร กิจวัตร  กลับปล่อยให้ความไม่รู้ตัวเป็นกิจวัตร ...ถึงบอกว่า น่าเสียดายเวลาที่หมดไป

เตือนตัวเอง ...ใครมาเตือนให้ไม่ได้หรอก เพราะมันจะโกรธ ...แต่ถ้าตัวมันเองเตือนตัวมันเอง มันไม่โกรธหรอก แต่ถ้าให้คนอื่นมาคอยเตือนนี่ ต้องตามทิศทาง..ถ้าลมดีก็ไม่โกรธ ถ้าลมไม่ดีอย่ามาเตือนนะ มันจะโกรธ

เพราะนั้นมันพึ่งคนอื่นไม่ได้ ต้องพึ่งตัวเองนั่นแหละ ...เพราะมันเตือนได้ทุกขณะ ถ้าขยัน ถ้าใส่ใจ ถ้าตั้งใจ ถ้าอยู่กับความตั้งใจ...ตั้งใจในการดำรงชีวิต ตั้งใจที่เจริญมรรค

เพราะนั้น ถ้ามันมีคำว่าตั้งใจ  ถ้ารู้จักว่า...เดินก็ตั้งใจเดิน นั่งก็ตั้งใจนั่ง พูดก็ตั้งใจพูด ฟังก็ตั้งใจฟัง ขยับก็ตั้งใจขยับ เนี่ย ถ้ามันทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ มันจะมีสติอยู่ตรงนั้นด้วย ...เพราะมันตั้งใจ

แต่ทุกอย่างมันทำแบบเลื่อนๆ ลอยๆ ไม่ตั้งอกตั้งใจ มันทำด้วยความประมาทเผลอเพลิน แล้วก็เคยชิน ...เคยชินยังไง ...คือรู้สึกมันไม่ผิดพลาด ไม่ตั้งใจทำ มันก็ทำได้

อย่างขับรถมานี่ ไม่ได้ตั้งใจขับมาเลยน่ะ ขับมาโดยสันดาน  ขาก็เหยียบไป ยิ่งสมัยนี้เกียร์ออโต้ เหยียบลูกเดียว ไม่ต้องเปลี่ยนครัช ไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์  ขับไปใจลอยไปลอยมา..ก็ขับได้ ไม่เห็นถูกชนเลย 

มันเป็นความเคยชินนะ แล้วก็...มันไม่เห็นโทษของความที่จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของความประมาทนี่ จึงเรียกว่าขับรถมานี่แบบไม่ตั้งใจขับน่ะ

พอขาดความตั้งใจ มันก็เกิดความขี้เกียจขี้คร้าน ประมาทมัวเมา ทำทุกอย่างได้ไม่ผิดไม่พลาด แต่ก็อยู่ด้วยความประมาท แต่มันหมดเวลานี่สิ

เวลามันไม่หยุดเดิน ...การหมุนของโลก การหมุน การแปรปรวนของขันธ์ การเสื่อมสลาย การหมดสภาพของขันธ์นี่ มันหมดไปทุกการเผาผลาญของลมหายใจเข้า-ออก

ลมนี่ มันเป็นธาตุที่เข้าไปกระพือไฟ คือเป็นตัว Metabolism มันจึงเกิดเผาผลาญ ...การเผาผลาญนี่คือทำให้ร่างกายหรือขันธ์นี่ หนึ่งคือเจริญ สองคือเสื่อม ...เจริญเพื่อเสื่อมนะนั่น

เพราะอากาศนี่ เพราะลมหายใจเข้าออกนี่ ไปทำปฏิกิริยา มันไปจุดอ็อกเทนให้ธาตุไฟ คือความเร่าร้อนของอุณหภูมิ นี่คือการเผาผลาญ แล้วก็คือการสลายธาตุดิน คือสารอาหาร

ทั้งมีประโยชน์ทั้งมีโทษ มันเอาหมดน่ะ กูเผาลูกเดียว ...บอกแล้วไง กายนี่ไม่มีชีวิตจิตใจนะ มันไม่ใช่ว่าอันนี้มันมีประโยชน์กูเผาผลาญให้ อันนี้ไม่มีประโยชน์กูเอาออกให้ ไม่เผา...ไม่มีอ่ะ มึงมาเหอะ กูเผาลูกเดียว

นี่คือธรรมชาติของความที่ว่าไม่มีชีวิตจิตใจ ...มันก็ทำงานไปตามปกติสันดานของขันธ์ มันก็เผาผลาญหมด ทั้งดีทั้งร้าย ทั้งเป็นคุณและเป็นโทษ 

เห็นมั้ยว่า ดินน้ำไฟลม มันก็ทำงานของมันอยู่อย่างเงี้ย  เผาไป ร้อนไป เสื่อมไป แก่ไป...หรือที่ว่าหนุ่มขึ้นสาวขึ้น...จริงๆ ก็คือว่าแก่ลงน่ะ แล้วก็ใกล้ตายมากขึ้น

เนี่ย มันใช้ภาษาบิดเบือนไปน่ะ...โดยสมมุติบัญญัติ  มันก็เลยว่าคงยังไม่ตายมั้ง ...แต่ที่จริงมันจะตายอยู่แล้ว มันโตขึ้นเพื่อตายน่ะ 

คือถ้ามันถูกสอนมาอย่างนี้ว่า เอ้ย ตายนะ เนี่ย มันก็จะได้ไม่ประมาท ...แต่มันบอกว่าโตขึ้นนะ สาวขึ้นสวยขึ้น หนุ่มขึ้นหล่อขึ้น หน้าตาผ่องใสดี ...มันก็มีปีติยินดี...ในการใกล้ตาย 

มันเกิดความสุขขึ้นในการใกล้ตายด้วยความไม่รู้ตัวเลย เห็นมั้ย นี่คือสังคมโลก สังคมมนุษย์เขาว่ากัน ภาษามันก็ปิดบังธรรมไป..ว่าโตขึ้น ว่าหนุ่มขึ้น สาวขึ้น ...ที่จริงมันใกล้ตายขึ้น

แต่พอพูดถึงความตายนี่ บ้านแทบแตก ...หาว่าเป็นคำอัปมงคล พูดทำไม เดี๋ยวตบปาก ต้องเอาสบู่มาล้างปากแล้ว ต้องอย่างนั้น ต้องไปถอนคำพูด อย่างเงี้ย


(ต่อแทร็ก 10/25)



วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 10/24 (1)


พระอาจารย์
10/24 (560317E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
17  มีนาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  อย่าออกนอก “นี้” ไป ...ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ  พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้เลยว่า...โย ปัจจุปันนัญจะ โย ธัมมัง  ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ  

ณ ที่นี้ที่เดียวเท่านั้น ที่เป็นที่..ที่ความจริงปรากฏอยู่ ...ถ้าออกนอกนี้ไป มันจะไปอยู่กับความไม่จริงทั้งสิ้น มันจะเห็นแต่ความไม่จริงทั้งสิ้น มันจะเกิดความรู้ความเห็นที่ไม่จริงทั้งสิ้น

จึงเรียกว่า ตัตถะ ตัตถะ...ที่นี้ๆ   วิปัสสติ...ทำความรู้แจ้งอยู่ ณ ที่นี้ๆ ...วิปัสสติ นั่นน่ะเขาเรียกว่าวิปัสสนา ...ไม่ใช่วิปัสสนึก ไม่ใช่นึก ไม่ใช่คิด 

แต่วิปัสสนาคือรู้แจ้ง ...รู้ไปตรงๆ  จนมันแจ้ง จนมันชัด จนมันชัดเจน จนมันปรุโปร่ง จนมันรอบตัว จนมันเข้าใจ จนมันยอมรับ 

จนมันไม่สามารถจะปฏิเสธกับความจริงนี้ได้เลย..แม้แต่อณูหนึ่งของความคิดและความเห็นของจิตผู้ไม่รู้

นั่นน่ะท่านเรียกว่าปัญญาญาณ ก็บังเกิด ณ ปัจจุบันนี้เอง ...ไม่ได้ไปเกิดข้างหน้าข้างหลัง ไม่ได้ไปเกิดในป่าในเขา ไม่ได้ไปเกิดในวัดในถ้ำ ...แต่มันเกิดที่นี้ เดี๋ยวนี้ ตอนนี้ ขณะนี้...ทุกๆ ขณะไป

ธรรมน่ะ...มันใกล้ตัวจนเรามองข้าม เรามองเกิน เราหาเกิน เรารู้เกิน ... เกินอะไร...เกินจริง เกินอะไร...เกินเหตุที่ปรากฏ เกินธรรมที่แสดง

อะไรที่มันเกินน่ะ...มันไม่ใช่  อะไรที่มันขาด...มันก็ไม่ใช่ ... อะไรที่มันปรากฏอยู่ ณ ที่นี้ เวลานี้ เท่าที่มันปรากฏ...นั่นแหละใช่

ให้มันใช่อยู่กับความเป็นจริงนี้ ให้มันต่อเนื่อง ยืดยาว ยาวนาน ...นั่นแหละท่านเรียกว่าสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวต่อเนื่อง ด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม

อยู่ดีๆ มันไม่เกิดหรอก  ฟังหลายๆ ครั้งก็ไม่เกิดหรอก  หรือไปใกล้ชิดครูบาอาจารย์ขนาดไหนก็ไม่เกิดหรอก ...มันต้องเกิดเพราะกระทำขึ้น เจริญขึ้น

มันซื้อหาไม่ได้ ไม่มีให้ขาย ไม่มีขายในตลาด ...มันต้องทำขึ้นมาเอง ด้วยความอดทน บากบั่น ขยัน ...ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันจะลอยขึ้นมาเอง

ไม่ใช่นึกๆ คิดๆ ฝันๆ เพ้อเจ้อ แล้วมันจะเกิดขึ้น  แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตารอ หรือตั้งตาตั้งตาถาม ตั้งหน้าตั้งตาหา ...ไม่เกิดหรอก ไม่เห็นหรอก

ไม่รู้หรอกว่าธรรมอยู่ที่ไหน ความเป็นจริงของธรรมนั้นคืออะไร มันเป็นใคร มันเป็นของใคร หรือมันไม่ได้เป็นใคร หรือมันไม่ได้เป็นของใคร

ถ้าไม่มีสติมันจะรู้มั้ยล่ะ มันจะเห็นปัจจุบันมั้ยล่ะ ถ้าไม่มีสติมันจะรู้กายเห็นกายปัจจุบันมั้ยล่ะ

มันจะไปเห็นที่ไหนก็ไม่รู้ มันจะไปรู้ที่ไหนก็ไม่รู้ ...นั่นแหละไม่มีสติ ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่ตั้งมั่น ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงก็ไม่เกิด

อยู่กันแบบไร้สติได้ยังไง ...เผลอๆ เพลินๆ เลื่อนๆ ลอยๆ ไหลๆ หลงๆ เพ้อเจ้อ ...จับไม่ได้หลัก จับไม่มั่น คั้นก็ไม่ตาย  หลุดลอด เล็ดลอด ไหลอยู่ตลอด

มีแต่วูบวาบไปมาตามอาการของจิตนั่นน่ะ ตามอาการของผัสสะ ตามอาการของโลก ตามอาการของการกระทบ ...มันไม่ตั้งๆ มันตั้งไม่มั่น ตั้งได้...ก็ตั้งไม่มั่น

มันไม่มั่นคง มันไม่ต่อเนื่อง มันไม่มีสมาธิที่ต่อเนื่อง ...มันจึงไม่เกิดความชัดเจนในธรรม ไม่เกิดความชัดเจนในความเป็นกายที่แท้จริง

ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ...มันเป็นก้อนเรา มันเป็นก้อนหญิง มันเป็นก้อนชาย หรือมันเป็นก้อนอะไรก็ไม่รู้กันแน่ ...นี่ มันไม่ชัดเจน

แล้วยังไปค้นหาที่ไหนอีก มัวแต่ไปหาธรรมที่ไหนอยู่ มัวแต่ไปปฏิบัติธรรมด้วยแง่มุมไหนอยู่

กายที่มันนั่งนอนยืนเดิน กินอยู่กับมันตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นเช้ามายันนอนหลับกลางคืนน่ะ ยังไม่รู้จักมันเลย ...ก็มีแต่เชื่อเอาแบบลมๆ แล้งๆ

ว่าเป็นตัวเรา ชื่อนั้นน่ะ นาย ก. นาง ข. นางไก่ นายหมา นายหมู นางแมว นางน้อย นางนิด นายใหญ่ นายโต นายเล็ก ...เนี่ย มันเชื่อแบบจริงๆ จังๆ

ไม่เข้ามาสืบค้น ไม่เข้ามาวิจยะ ไม่เข้ามาสำเหนียก ไม่เข้ามาโยนิโส ไม่เข้ามามนสิการ ไม่เข้ามาทำความแยบคาย ...มัวแต่ไปทำอะไร ไปปฏิบัติธรรมกันที่ไหน ฮึ จะเอามรรคผลนิพพานที่ไหน

มันจะเกิดมรรคผลนิพพานที่ไหนเล่า ...ถ้ายังไม่แจ้งในกายนี้ ปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ ความเป็นคนในชาตินี้

ถ้ายังไม่รู้จักว่าเดี๋ยวนี้เป็นคน เดี๋ยวนี้กำลังเป็นคน ปัจจุบันภพนี้ชาตินี้เป็นคน มันจะแจ้งได้ยังไงในองค์มรรค ...กำลังเป็นคนอยู่ยังไม่รู้จักเลย

แล้วยังรู้ได้แค่ไม่ปะติดปะต่อ ยังรู้แบบขาดๆ เกินๆ ...มันก็เลยเป็นคนแบบขาดๆ เกินๆ ไม่เป็นคนแบบพอดี ...คนดีเขาต้องเป็นคนพอดี จึงจะเกิดคำว่าดีพอ ที่จะไม่มาเป็นคนอีกต่อไป

แต่นี่มันเป็นคนแบบขาดๆ เกินๆ น่ะ นอกนั้นเป็นอะไร...ผี ยักษ์ เปรต เดรัจฉาน ...ยังไม่ทันตายนะ มันเป็นแล้ว ไอ้เป็นเทวดาเป็นพรหมนี่ นานๆ เป็นครั้ง ไม่ได้เป็นบ่อย

นอกนั้นเป็นผี ลอย หาย แวบ วอบๆ แวบๆ หายแวบไปมา ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ...นั่นน่ะเป็นผีซะส่วนมาก สัมภเวสีน่ะ จิตเลื่อนลอย วิญญาณมันเลื่อนลอย มันหาที่ตั้งไม่ได้

คำว่าวิญญาณนี่ไม่ได้แปลว่าผีนะ วิญญาณแปลว่าองคาพยพหนึ่งของขันธ์ที่เป็นส่วนกำหนด ที่เป็นส่วนรู้ในสิ่งต่างๆ

เพราะนั้น ทำความเป็นคน...ด้วยสติ รู้กาย รู้ปัจจุบันกาย รู้อิริยาบถในกาย ...ไม่ต้องโต้เถียง ไม่ต้องให้จิตมันเถียง ...อย่าเชื่อมัน 

จิตน่ะเหมือนกองเชียร์ จิตน่ะเหมือนฝ่ายสนับสนุน จิตน่ะเหมือนตัวเสี้ยมเขาชนกัน เสี้ยมเขาควายให้ชนกัน ...จิตน่ะมันเป็นทุกอย่างน่ะ ทั้งเป็นลูกคู่ ทั้งเป็นศัตรู ทั้งเป็นคู่อาฆาต ทั้งเป็นคู่รัก 

มันเป็นได้หมดน่ะ เปลี่ยนหน้าแปรไป มันปลิ้นปล้อนหลอกลวงจะตายชัก  อย่าไปสนใจใส่ใจฟังมัน เชื่อมัน ตามมัน หลงกับมัน เพลิดเพลินไปกับมัน เห็นดีเห็นงามไปกับมัน 

มันมาตีหน้าซื่อเหมือนกับเป็นมิตรแท้  แต่แท้ที่จริงน่ะ มันจะพาเราไปมอดไหม้ ไปเผาผลาญให้เร่าร้อน ทุกครั้งทุกคราวไป ...ไม่รู้รึไง ไม่เข็ดรึไง ไม่หลาบรึไง ไม่จำรึไง

ก็ยังซ้ำๆ ซากๆ วนๆ เวียนๆ อยู่ในเรื่องราวเก่าๆ เดิมๆ ทุกข์เหมือนเดิมเลย ...เมื่อไหร่มันจะออกมาสักที

เมื่อไหร่มันจะออกมาตั้งหลักตั้งฐาน ตั้งมั่นเป็นกลาง ตั้งเป็นผู้รู้ผู้เห็น ผู้มั่นคงอยู่ในปัจจุบัน ผู้ที่เท่าทันและสังเกตในทุกอากัปกิริยาของขันธ์...ด้วยความมั่นคง หนักแน่น ไม่หวั่นไหว

มันต้องฝึกนะ ถ้าไม่ฝึกมันไม่มีทางตั้งมั่นขึ้นได้ ...แล้วก็มัวแต่ปล่อยไปนี่ มันไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่มะม่วงที่มันจะสุกงอมขึ้นมาเองนะ

แต่ไอ้สุกงอมขึ้นมาเองน่ะคือขันธ์...เดี๋ยวมันก็ตายแล้ว มันจะงอมอยู่นี่ มันหง่อมแล้ว แล้วก็ร่วง แล้วก็สลาย แล้วก็คืนสู่ธรรมชาติเดิมแท้ของมัน

แล้วก็มากลัวกันว่าตาย ...จริงๆ มันไม่มีใครตายหรอก ไม่มีใครตายเลยนะ ...มันแค่เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่

กายเนี่ย เหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ของจิตกับใจ ...ใช้ไปสักระยะหนึ่ง มันเปื่อย มันยุ่ย แล้วมันก็คืนสู่สภาพดั้งเดิม คือธาตุแท้ คือมหาภูตรูป ๔

จิตอยู่ไหน ใจอยู่ไหน ...อยู่เหมือนเดิมน่ะ ไม่ไปไหนหรอก ...แต่ไอ้อาภรณ์เครื่องห่อหุ้ม มันเปื่อย

แล้วไงล่ะ ...ไอ้ของที่มันเปื่อยมันก็ไม่ไปไหนหรอก มันก็อยู่ในนี้ อยู่ในสามโลกธาตุนี่ คือไปอยู่ในสภาพเดิมแท้ของมันคือสภาพอะตอมหรือสสาร พลังงานในโลก ไม่สูญหายหรอก

จิตก็ไม่ตาย ใจก็ไม่ตาย ...แต่จิตมันไม่รู้ มันคิดว่ามันตาย มันก็เลยไปกอบไปโกย ไปก่อดินน้ำไฟลมขึ้นมา มาเป็นตัวตนขึ้นมาใหม่ มาเป็นรูปลักษณ์สังขาร หญิงชาย สัตว์เดรัจฉาน

แล้วอันนี้มันไม่ใช่ว่าประกอบได้ตามใจนึกหรือสารพัดนึกนะ มันประกอบด้วยเหตุหลายอย่างกว่ามันจะมาประกอบรวมกัน...ด้วยกรรมและวิบาก

คือเกิดเป็นผู้หญิง นี่...กูก็ว่าตายแล้วน่าจะเป็นผู้ชาย ดันเป็นผู้หญิงอีก เอ้า มันไม่เป็นไปตามความอยากหรอก 

เพราะกรรม ...มันมีองค์ประกอบอีกมากมาย ทำให้จิตนี่...ที่ยังไม่ตาย...แล้วมันอยากเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็น กลับต้องได้เป็นอย่างนี้ เห็นมั้ย

เราถึงบอกว่าจริงๆ น่ะ อย่าไปกลัวตาย ไม่มีใครตายหรอก กายมันก็ไม่หายไปไหน มันก็ผลัดกันใช้...มันผลัดกันใช้นะ กระทั่งลมหายใจนี่ เอ้า สูดเข้าๆ ของเราจริงหรือ

มันเปลี่ยนกันๆ น่ะ ใช่มั้ย ...ดินน้ำไฟลม ไม่ใช่ว่าเป็นของใคร หรือว่าเออ เป็นของกูนะ  มันใช้เป็นสาธารณธรรมนะ...มหาภูตรูป ๔ นี่


(ต่อแทร็ก 10/24  ช่วง 2)



วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 10/23


พระอาจารย์
10/23 (560317D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
17  มีนาคม 2556


พระอาจารย์ –  คือการภาวนานี่ มันเป็นเรื่องการเรียนรู้สองสิ่งเท่านั้น เราบอกแล้ว คือ กายกับใจ 

นอกเหนือจากกายกับใจแล้ว ไม่ต้องไปรู้ ไม่ต้องไปเรียนมันหรอก ...ถึงมันจะพยายามจะเข้าไปเรียนรู้ จะให้เข้าไปเรียน ก็พยายามทวนกระแสนั้นๆ...ไม่เอา

ต้องคอยบอกตัวเองว่าไม่เอา อะไรที่มันนอกเหนือกายใจนี้..ไม่เอา อะไรที่พาให้ออกนอกกายใจนี้..ไม่เอา ...ต้องคอยบอก ต้องคอยสอน ต้องคอยเตือน 

เพราะธรรมชาติของจิต มันไม่รู้จักคำว่า “พอดี” มันจะไม่รู้จักคำว่า “หยุดอยู่กับปัจจุบัน” ...มันมีแต่อะไรก็ตามที่มันเกินนี้ไปนี่ มันว่าถูกหมด ดีหมด ใช่หมด ประเสริฐยิ่งกว่า 

แต่ถ้าอยู่แค่นี้ มันจะบอกว่าเท่าเก่า ไม่ก้าวหน้า ...ไอ้ก้าวของมันข้างหน้าน่ะคือก้าวแบบล้ำหน้า เคยเล่นฟุตบอลรึเปล่า ฟุตบอลเขาบอกว่าล้ำหน้า ยิงประตูก็ไม่เข้า เพราะมันล้ำหน้า

เหมือนกัน จิตมันชอบล้ำหน้า มันผิดกติกานะนั่นน่ะ แล้วมันก็กระโดดโลดเต้น ดีอกดีใจว่ากูทำประตูได้แล้ว ...เก้อ สุดท้ายเก้อ เขาไม่ขึ้นสกอร์ให้น่ะ

ก็หลอกตัวเองอยู่นั่นว่ากูได้แล้วน่ะ ไม่ยอมนะ มันดื้อแล้วมันไม่ยอมอีกนะ เขาเรียกว่ามันมีมานะในตัวของมันเอง หน้าด้าน แบบด้านๆ น่ะ  

จิตนี่คือความดื้อด้านน่ะ ...มันถึงต้องโดนด่าไง ครูบาอาจารย์ท่านถึงด่า ท่านไม่ได้ด่าในความเป็นสัตว์บุคคลหรอก ท่านด่าจิตที่มันกำเริบเสิบสานออกมา แล้วยังเห็นดีเห็นงามกับมัน

พอด่าจิตที่มันทำอาการนี้ ก็เลยบอกว่า... "อุ้ย อาจารย์ด่าเรา" นั่น บ้ารึเปล่า มันบ้าซ้อนบ้าไง ...ท่านด่าจิตที่มันกำเริบ มันจะได้หด ...ก็ไปบอกว่า "มาด่าเราทำไม"

เอ้า ท่านด่าจิต ไม่ได้ด่ามึง มันคนละเรื่องกัน เห็นมั้ย ...แต่พอโดนด่าปึ้บ เราจะรู้สึกเลยว่า เราถูกด่า เราถูกว่า ...ทั้งๆ ที่ว่า ท่านว่าจิตที่มันแลบออก มึงไม่เห็นรึไง

แล้วยังไปกินขี้หลับนอนอยู่กับมันอย่างนี้ มึงไม่รู้จักรึไง ...นี่ พอพูดแล้วปึ๊บมันสะดุดไง พอสะดุดแล้วมันหดตัว ...แต่พอหดตัวเสร็จปุ๊บก็ว่าอาจารย์ด่าเรา

มันไปหมายเอาว่าตัวนั้นน่ะเป็นตัวเรา เรื่องราวในนั้นเป็นเรื่องของเรา การกระทำในจิตนั้นเป็นเรื่องของเราหมดเลย นี่เขาเรียกว่ามันหมายมั่นผิดตั้งแต่หัวกระบวนยันท้ายกระบวน

เพราะนั้นการดูจิต เราถึงบอกว่าพวกเรายังดูไม่เป็น ...เพราะมันไปดูปลายจิต มันไม่ได้ดูที่ต้นจิต แล้วมันไม่เห็นตั้งแต่กระบวนต้นของจิต ไม่เห็นหัวกระบวน 

มันเลยไปน่ะ ...พอไปดูอีกทีมันออกไปเป็นท้ายกระบวนแล้ว ไปกันใหญ่แล้ว ...ก็เลยไปหมายมั่นว่า นั่นน่ะเป็นเรื่องของเรา เป็นจิตของเราอยู่

แต่ถ้าเราแกล้งทำเป็นไม่สนใจใยดีมัน เหมือนกับแมงหวี่แมงวันตอมหูตอมตา ชั่งหัวมัน ...ก็ทำหน้าที่อะไรอยู่ก็ทำไป คืออะไรล่ะ...ยืนก็ยืนไป เดินก็เดินไป นั่งก็นั่งไป 

คือกายมันทำหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ของมันไป เนี่ย กลับมาอยู่กับการงานในปัจจุบัน ...ถ้าลงหลักนี้ ปักหลักนี้ หรือว่าลงวิถีการปฏิบัตินี้ ...ก็เรียกว่าการงานในปัจจุบันนี้ 

การงานนี้จึงจะเรียกว่าสัมมาอาชีโว แล้วทำสัมมาอาชีโวนี้ การงานนี้ให้ต่อเนื่อง จึงจะเรียกว่าสัมมากัมมันโต...ด้วยความพากเพียร ก็เป็นสัมมาวายาโม 

เลี้ยงชีพชอบด้วยความพากเพียร ดำริชอบด้วยการงานนี้ ...เพราะนั้นในหมวดของการงานชอบนี่ มันรวมทั้งดำริชอบ เลี้ยงชีพชอบ วิริยะ พากเพียรชอบด้วย มันอยู่ในหมวดเดียวกัน

คือเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติที่ตรงต่อองค์มรรคนั่นเอง ไม่ให้ออกนอกกรอบงานปัจจุบัน คืองานศีล งานสมาธิ งานปัญญานั่นเอง

แต่จิต ...ข้อสำคัญนี่ จิตมันมีการแตกตัวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

เคยเห็นกองไฟมั้ย มีไฟกองไหนที่เอาฟืนจุดแล้วมันไม่มีสะเก็ดไฟ...ไม่มีหรอก ตราบใดที่ยังมีไฟลุกอยู่ ตราบใดที่ยังมีฟืนอยู่ สะเก็ดมันจะแตก ห้ามไม่ได้เลย

แต่ระวังได้ ...ระวังยังไง เวลามันแตกแล้ว มันจะไปไหม้ไปเผาใบไม้แห้ง หญ้า หรือสัตว์บุคคลที่นั่งอยู่ล้อมรอบ แล้วมันจะลุกไหม้ลาม ...นี่ คอยระวังเท่าทันได้ ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย

ถ้าปล่อยเลยตามเลย ไอ้สะเก็ดไฟลูกนั้น...ลาม เกิดอาการลามปามแล้ว มีเชื้อตรงไหนก็ไม่มีคำว่าจบหรอก ไปเรื่อย เพราะมันมีเชื้อ ...ก็ถ้ามันไม่มีเชื้อ มันจะมีไฟมีควันไหม

การระวังเท่าทัน ก็เหมือนกับอาการว่าพอสะเก็ดไปแล้วรีบปัดๆๆ คืออาการคล้ายๆ อย่างนั้น ...แต่จริงๆ จิตมันแค่ระวังเท่าทันว่า...เออ มันแตกตัวออกไปนะ เห็นว่าแตกตัวออกไปนะ แล้วก็รู้ทันมัน แค่เนี้ย

ถ้าเปรียบกิริยาของคนที่นั่งรอบกองไฟ ก็เหมือนกับเอามือไปปัดไฟนั้นไม่ให้มันลุกลามออกไป ...แต่จริงๆ จิตไม่ได้ทำกิริยานั้นหรอก แค่รู้ตัวเฉยๆ นี่มันก็หยุดแล้ว ...เรียกว่าการรู้จิตเห็นจิตนี่ เห็นแค่นี้เอง

แต่คราวนี้ว่า ถ้ามันเห็นแค่นี้ ...แล้วไอ้ตอนที่มันไม่มีสะเก็ดไฟนี่มันอยู่ไหน ตรงเนี้ย มันไม่มีที่อยู่แล้ว ...หมายความว่า เวลาที่มันไม่มีสะเก็ดไฟก็มี นี่ มันมีช่องว่าง

คือบรรยากาศมันให้ ก็เลยนอนซะเลย ใช่ป่าว ...ไฟก็ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องอะไร  มันไม่มี ดูแล้วสะเก็ดไฟไม่มี ก็หลับเลย ...นี่ โมหะ มันจะอยู่ด้วยโมหะ

คือความไม่รู้ ความเผลอ ความเพลิน หรือความสบายใจ หรือความประมาทเลินเล่อ หรือความหลง ลืม ...ไปอยู่ในโลกแห่งความลืม ไม่รู้ตัว แล้วคราวนี้ก็เลยตามเลย 

พอเริ่มไม่รู้ตัว มันก็มาแล้ว สะเก็ดไฟมา ...แต่มันยังงัวเงียๆ อยู่ ก็ว่าคงไม่ไปลุกไหม้อะไรหรอก ...ก็เห็นอยู่ว่ามันลาม ก็ขี้เกียจแล้ว ปล่อยแล้ว เริ่มปล่อยแล้ว

ทีนี้มันก็เริ่มแผ่กระจาย เอื้ออาทรแล้ว มีการเอื้ออาทรต่อสัตว์บุคคลรอบข้างแล้วนะ ...แต่มันเอื้ออาทรทั้งในแง่กุศลและอกุศล แล้วธรรมชาติของจิตคือร้อน ยังไงก็อกุศลเป็นหลัก

ไม่ค่อยออกไปด้วยความเมตตาอาทรหรอก แต่ไปตำหนิ ติเตียน กล่าวโทษ แล้วก็หงุดหงิดรำคาญไม่พอใจ อึดอัดคับข้อง มันจะเป็นอย่างงั้น ...ก็ไปเรื่อยล่ะ ลามปามใหญ่โต เท่าที่เชื้อมันจะมี

แล้วเชื้อมันไม่หมดโลก...ตราบใดที่มีโลกมันก็มีวัตถุดิบอยู่น่ะ ให้เผาไหม้  มันจึงเกิดความเร่าร้อนแผ่ขยาย ...เพราะมันไม่ได้มีแต่กูคนเดียวนี่ ทั้งโลก กี่พันล้านคน ต่างคนต่างร้อนนี่ ฮึ

เพราะนั้น เหมือนว่าถ้าก้าวเข้าไปในวงเหล้านี่ เหมือนกัน คนเมาทั้งวงนี่ ไปนั่งด้วย รักษาสติอย่างมั่นคงนี่ ไปนั่งในวงเหล้านี่  เดี๋ยวก็เสร็จ...อดไม่ได้ที่จะต้องเมาตาม

คือมันจะเป็นอย่างนั้นน่ะในโลก ต่างคนต่างเร่าร้อน ไม่มีใครระมัดระวังตัวเองเลย มันไม่มีใครคอยระงับหรือคอยดับไฟของตัวเองเลย ...มีแต่ปล่อยเลยตามเลย

แล้วจิตนี่มันออกไปตรงไหน...ร้อนตรงนั้น  เผาหมดน่ะ ...มันจึงอยู่ด้วยความเบียดเบียนกัน ทั้งๆ ที่ว่าไม่ได้ตั้งใจเจตนาด้วยนะ ก็เบียดเบียน ...เพราะไฟคือความเร่าร้อน...มันก็เผาไปเรื่อย 

คือยังไม่ได้โดนบ้านใครกูก็เผาไปแล้ว ถึงไม่มีเจตนาก็เผา  แต่ไอ้ที่จงใจจะจุดเผาบ้านนี้ก็มี เออ อันนี้ก็มีเจตนา ...แต่โดยตัวมันเองที่เผาไป เจออะไรก็เผาไหม้ไป เร่าร้อนไป อันนี้ไม่มีเจตนา แต่ก็ร้อน

เนี่ย เพราะนั้นโลก แปดพันล้านคน จึงอยู่ด้วยความเร่าร้อน ...ยกเว้นสัตว์บุคคลนั้นเป็นอริยะ 

คือไฟลามมานี่ดับหมดน่ะ เข้าอาณาเขตนี้แล้วดับ เพราะมันเจอธาตุเย็น ...ธาตุนี้เป็นธาตุเย็น ไม่มีเชื้อ ...ไม่มีเชื้อให้ไหม้ มันก็ไม่มีทางที่จะติดลามเข้ามาเผาไหม้กายใจของท่าน และก็บริเวณรอบท่าน

เพราะนั้นน่ะ ถ้าทุกคนตั้งใจลดหรือดับความเร่าร้อนภายใน ถ้าทุกคนในโลกนะ มันดำรงชีวิตอยู่ด้วยความตั้งใจที่จะดับความเร่าร้อนภายใน ...โลกนี้จะเย็น ไม่เบียดเบียนกัน

เพราะนั้นตัวที่จะลดความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ท่านจึงเรียกว่าศีล ...ผู้ใดที่รักษาศีล มีศีล ผู้นั้นจะเรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียน ...ศีลใครศีลมัน กายใครกายมัน 

ถ้าทุกคนเราวางจิตของตัวเองนี่ ให้มันไม่ออก ไม่ล่วง ไม่เกินกายนี้ ปัจจุบันกายนี้ออกไป ...หมายความว่าผู้นั้นน่ะ...อยู่ด้วยศีล อยู่ในกรอบของศีล 

เพราะนั้นแค่อยู่ในกรอบของศีล อยู่ในกรอบของกายปัจจุบันนี้  จึงเรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนแล้วในเบื้องต้น ...คือจิตไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น..หนึ่ง แล้วไม่เบียดเบียนตนเอง..หนึ่ง 

อย่าว่าแต่เบียดเบียนผู้อื่นเลย ...เบียดเบียนตัวเองก็ไม่เบียดเบียน 

ทำไมถึงเรียกว่าไม่เบียดเบียนตัวเอง ...ก็เพราะถ้ามันไม่อยู่ในกรอบนี้ มันก็จะคิดถึงตัวเองข้างหน้า “เดี๋ยวถ้าเราไปทำงานช้า เราก็ถูกด่าสิ” เราก็ต้องเสียใจ เศร้า ขุ่นมัว มีทุกข์เกิดขึ้น

เห็นมั้ย มันเบียดเบียนตัวเองนะ ด้วยการสร้างอะไรก็ไม่รู้เป็นตุเป็นตะ อดีตอนาคตอย่างนั้นอย่างนี้ ปรุงแต่งสถานการณ์การกระทำของบุคคล แล้วมีตัวเราเข้าไปรับเหตุของสถานการณ์บุคคลอย่างนั้น 

จึงเป็นสุขเป็นทุกข์บ้าง ดีใจเสียใจ น้ำหูน้ำตาไหล...ทั้งที่ยังไม่เกิดอะไรเลยนะ  เห็นมั้ย ที่เรียกว่ามันเบียดเบียนตัวเอง เห็นมั้ยว่าจิตก้าวล่วงศีลเมื่อไหร่ มันเบียดเบียนทั้งตัวเองแล้วก็เบียดเบียนผู้อื่น

ไอ้เบียดเบียนผู้อื่นน่ะมันเข้าใจอยู่ชัดเจนแล้ว อย่างว่าอยู่ดีไม่ว่าดี นั่งอยู่เฉยๆ ก็ว่า “ถ้าได้ทำอะไรที่มันสะใจกับไอ้คนที่เราไม่พอใจซะหน่อยก็จะดีนะ” เนี่ย

“ถ้ามันมาทำอย่างนี้อีกกับชั้น แล้วชั้นจะตอบตอกหน้ามันด้วยคำพูดประมาณระดับนี้ เลเวลนี้เลยนะ” ...นั่น ทั้งที่คนนั้นมันอยู่ไหนก็ไม่รู้ ดีไม่ดีมันตายไปแล้วก็ได้ 

แต่จิตมันเบียดเบียนบุคคลอื่นไปแล้ว อย่างเนี้ย ...เห็นมั้ยว่า ถ้ามันก้าวล่วงกายนี้ออกไปนี่ จิตเนี่ย มันจะอยู่ด้วยการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

เพราะนั้นเมื่อใดที่มีศีล อยู่ในกรอบของศีลเนี่ย ...ไม่ต้องแผ่เมตตาหรอก ไม่ต้องว่า อะเวรา โหตุน่ะ สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด ...ไม่ต้องนึก ไม่ต้องคิด

แค่อยู่ในกรอบศีลนี่ มันมีเมตตาในตัวของมันเลย เพราะมันอยู่ด้วยความเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ...นั่นแหละ คือมันอยู่ด้วยความเป็นกลางกับสิ่งต่างๆ

ไม่เอาเรื่อง ไม่เอาราว ไม่เอาเป็นธุระ ไม่เอาถูก ไม่เอาผิด ไม่เอาดี ไม่เอาชอบ ไม่เอาคุณ ไม่เอาโทษ ...ลักษณะที่มันอยู่อย่างนี้ด้วยความเป็นกลาง เนี่ย คือลักษณะที่ท่านเรียกว่าเมตตาที่ไม่มีประมาณ

ไม่มีประมาณยังไง ...คือไม่เลือกสัตว์และบุคคล ไม่เลือกแม้กระทั่งเป็นวัตถุธาตุ เหตุการณ์ สถานการณ์ในโลกด้วย ...เออ มันยังเมตตากับสิ่งที่ไม่มีชีวิตยังได้เลย...ได้ไง เห็นมั้ย

ก็ไม่ได้เอาถูกเอาผิด เอาดีเอาร้าย ตำหนิติเตียน หรือติชมมัน ...จึงเรียกว่าเป็นเมตตาที่ไม่มีประมาณ...โดยตัวของมันเอง โดยตัวของผู้ที่มีศีลนั้นเอง

เห็นมั้ยว่า แค่ความสงบในระดับของศีลนี่ หรืออานิสงส์ของศีลนี่ มันยังมีพลานิสงส์ของความสงบร่มเย็นเป็นในระดับนึงเลย...ในตัวของมันเองเลย ไม่ต้องไปหาที่ร่มเย็นที่อื่นมาพึ่งเลยน่ะ

มันก็เกิดความร่มเย็นเป็นกลางอยู่ภายในนี้ เป็นร่มเงาให้พักร้อน ...ถือว่าเป็นที่ให้พักร้อนนะ เพราะว่าถ้าไม่มีร่มมันก็อยู่กลางแจ้ง ถ้าอยู่กลางแจ้งมันก็ต้องโดนแดดแผดเผา คือเร่าร้อน

เมื่อใดที่จิตมันออกนอกกายนี้เมื่อไหร่น่ะ...เร่าร้อน  เมื่อใดที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว...เร่าร้อน เผาไหม้ แผดเผา ...แล้วก็ถูกแผดเผาด้วย ไม่ใช่ไปแผดเผาเขาอย่างเดียว

คือต่างคนต่างแผดเผาซึ่งกันและกันนั่นเอง ...แผดเผาด้วยตา แผดเผาทางเสียง แผดเผาทางกลิ่น แผดเผาทางสัมผัส ทางรูป ...มันมีการแผดเผา เร่าร้อน ในทุกอากัปกิริยาของขันธ์

เพราะมันปรุงออกมาด้วยความไม่รู้ แต่งออกมาด้วยความไม่อยู่กับศีล ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่อยู่กับกรอบ ...โลกมันจึงรบราฆ่าฟันกันเพราะไม่มีศีลตัวนี้

ไม่ใช่ศีลห้า ไม่ใช่ศีลแปด ไม่ใช่ศีลสิบ แต่ไม่อยู่กับกายใจปัจจุบัน ... มีกายปัจจุบัน...แต่ไม่รู้จักกายปัจจุบัน  ยืนเดินนั่งนอนในปัจจุบัน...แต่ไม่อยู่กับยืนเดินนั่งนอนในปัจจุบัน มันผิดวิสัยของคนนะ

เป็นคนแท้ๆ แต่ไม่รู้จักกิริยาอาการของความเป็นคน ไม่รู้จักพฤติกรรมของคน คือไม่รู้จักพฤติกรรมของกาย ... กายกับคนนี่แยกกันไม่ออกนะ...เพราะถ้าไม่มีกาย จะไม่เป็นคนเลย

เขาก็เรียกว่าผี เขาก็เรียกเทวดา เขาก็เรียกว่าสัตว์เดรัจฉาน เขาก็เรียกว่าเปรต เขาก็เรียกว่าอสุรกาย เขาก็เรียกว่าเทวบุตร เทพธิดา เขาก็เรียกว่าพรหม เขาก็เรียกว่าอรูปพรหม ...เพราะไม่มีกายนี้

เพราะนั้นในความหมายของกายก็คือความหมายของคนนั่นเอง ...คือภพปัจจุบัน ชาติปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เรียนรู้ ถ้าไม่รู้จักภพชาติปัจจุบัน ...อย่าถาม อย่าบอกว่าจะลบภพอดีตอนาคตได้อย่างไร จะไม่เกิดอีกต่อไปได้อย่างไร 

เพราะกระทั่งการเกิดการตั้งอยู่ของภพชาติปัจจุบัน มันยังไม่รู้จักเลย ...แล้วบังอาจจะไปละการไม่เกิดในข้างหน้าได้อย่างไร

ถึงบอกว่าศีลนี่เป็นเครื่องหมาย เป็นรากฐาน เป็นพื้นฐาน เป็นจุดที่ยืนยันถึงความเป็นคน ณ ปัจจุบันขณะนี้

ถ้าออกนอกศีลเมื่อไหร่...ออกนอกความเป็นคน

ถ้าออกนอกความเป็นคนเมื่อไหร่...ออกนอกความเป็นจริงของภพปัจจุบัน

ถ้าออกนอกความเป็นจริงของภพปัจจุบัน...มันจะเกิดปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริงได้อย่างไร

นี่ เห็นความเนื่องกันของศีลสมาธิปัญญาหรือยัง...ว่ามันขาดไม่ได้เลยแม้แต่ตัวใดตัวหนึ่ง

มันเป็นธรรมที่อนุเคราะห์เกื้อกูล สานกัน พันกัน สงเคราะห์กันและกัน จนหลอมหลวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน...เรียกว่ามรรคสมังคี มันถึงจะเกิดกำลังที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

อย่านึกอย่าคิดว่าปฏิบัติมาหลายปีแล้วมาพูดเรื่องศีลซ้ำๆ ซากๆ วนเวียนๆ ทำไม ...เรื่องแค่รู้ตัว รู้การยืนเดินนั่งนอนพื้นๆ ใครก็รู้ เด็กมันก็รู้

แต่ไอ้ที่เด็กก็รู้นี่ พระอรหันต์ท่านก็ยังรู้อยู่เลย ท่านไม่ทิ้งกายใจนี้เลย ...เพราะกายใจนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่จริง ณ ปัจจุบัน แล้วดับจริง ณ ปัจจุบัน

ท่านเห็นจนวันตายน่ะ แล้วท่านก็อยู่กับมันจนวันตายจากกันน่ะ ด้วยความเป็นกลาง หรือด้วยความปกติ หรือด้วยความเป็นธรรมดา..อย่างยิ่ง ในการเกิดขึ้น ในการตั้งอยู่ และแม้กระทั่งในการดับไป

ท่านเห็นเป็นความธรรมดาอย่างยิ่ง ไม่ได้ลังเลสงสัยในการเกิด ในการตั้ง หรือการดับไปของมัน แม้แต่อณูนึง ธาตุนึง ของความสงสัยลังเล

เพราะนั้นการเข้าถึงความเป็นจริงนี่ มันไม่ใช่ว่าต้องไปหาความเป็นจริงที่ไหน ...มันมี มันตั้ง มันมาปรากฏอยู่ ณ ที่นี้ ขณะนี้แล้ว

รวมศีลสมาธิปัญญาให้เป็นหนึ่งในปัจจุบัน โดยอาศัยสติเป็นพี่เลี้ยง ประคับประคอง ทะนุถนอมกายใจให้ดำรงปรากฏ เท่าที่มันจะปรากฏ ณ ปัจจุบันนี้ ...ไม่เกินนี้ ไม่ห่างจากนี้ ไม่หายจากนี้

นั่นน่ะเป็นหน้าที่ของสติแล้ว ถ้าไม่มีสติ มันจะห่างจาก “นี้” ไป ...ถ้าไม่มีสติ ถ้าสติอ่อน มันจะหายจาก “นี้” ไป

ถ้าไม่มีสติ มันจะไม่มีสิ่งนี้เลย หรือไม่มีที่นี้เลย...ทั้งวันทั้งคืน หลายวันหลายคืน เป็นเดือนเป็นปี จนมันเป็นภพเป็นชาติ เป็นหลายภพเป็นหลายชาติ นั่นเอง


(ต่อแทร็ก 10/24)