วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 10/19


พระอาจารย์
10/19 (560316E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 มีนาคม 2556



โยม –  หลวงปู่วัดที่โยมไปภาวนา ก็เตือนบอกว่าให้ดูความสงบที่สร้างขึ้นกับความสงบจริงๆ มันต่างกันยังไง

พระอาจารย์ –  อือ กายใจคือความสงบอยู่แล้ว ที่ไม่ต้องสร้างไม่ต้องทำ ...ให้เข้าไปถึง หยั่งให้มันเห็นว่ามันเป็นความสงบในตัวของมันอย่างไร มันมีความสงบโดยที่ไม่มีเจตนา

ความสงบที่เราได้ ที่เราเคย ที่เราเชื่อ ที่เราชอบ คือเป็นสงบที่เจตนา มันต้องสร้างขึ้นด้วยกุศโลบาย หรืออุบายใดอุบายหนึ่ง หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่ง


โยม –  โยมเห็นสองอย่างค่ะ คือมันไปปล่อย แล้วมันไปอยู่กับไม่มีไม่เป็น กับอีกอย่างนึงคือไปติดกับวิหารธรรมที่มันสงบ แล้วก็ไปอยู่กับตรงนั้น อันนี้คือเป็นอันที่สร้างขึ้นใช่รึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ทั้งสองอย่างนั่นแหละ ...ไอ้ที่แบบปล่อยแล้วมันไม่มีไม่เป็นน่ะ คือมันเกิดขึ้นด้วยความปรุงแต่งของจิต ยังมีจิตเข้าไปปรุงอาการนั้นคือมาเป็นอารมณ์ ...เป็นธรรมารมณ์หนึ่ง 

บอกแล้วว่ามันละเอียดซ้อนละเอียด จิตมันสร้างได้หมดน่ะ ...ถ้ายังไม่เห็นใจ แล้วเอาใจมาทำหน้าที่แค่รู้และเห็นกับสิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรมจริงๆ คือกาย  

ตรงนั้นน่ะจึงจะเรียกว่าอยู่ท่ามกลางสังขารุเบกขา เป็นสังขารุเบกขารมณ์ คือเป็นไม่ใช่เฉยๆ ไม่ใช่ว่างๆ แต่มันเป็นสังขารุเบกขาญาณ เป็นอารมณ์หนึ่งในญาณที่รู้เห็นชัดเจนในสองสิ่ง

นั่นต่างหากไม่ใช่อารมณ์ เป็นสังขารุเบกขาญาณ ...จะว่าเฉยก็ไม่เฉย จะว่าว่างก็ไม่ว่าง จะว่าเป็นอารมณ์ที่สร้างขึ้นมาโดยจิตก็ไม่ใช่ 

มันเป็นธรรมชาติของการที่ไม่มีการเกี่ยวข้องข้องแวะกันของสองสิ่งนี้ด้วยอำนาจของจิตไม่รู้ต่างหาก

เหมือนเป็นช่องว่างในตัวของอวกาศของธาตุและนาม อวกาศของจิตและธรรม ...คล้ายๆ อย่างนั้น สุญญกาศ เหมือนเป็นสุญญกาศ ไม่มีแรงดึงดูดเกาะเกี่ยวกัน นั่นต่างหาก

เพราะนั้นจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยอารมณ์หรือจิตปรุงแต่ง มันเป็นธรรมชาติหนึ่ง ของการอยู่กันระหว่างสองสิ่งด้วยความเป็นสุญญตธรรม หรือว่าสุญวิโมกข์ 

ยิ่งพูดยิ่งงง ไม่ต้องพูดดีกว่า ...รู้กายไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเข้าใจลึกซึ้งขึ้นไปเองตามลำดับ แล้วมันจะจำแนกธรรมได้เป็นฉากๆ ไป ด้วยความชัดเจนในตัวของมันเอง


โยม –  หลังๆ เหมือนโยมภาวนาไปด้วยแล้วก็รู้ไปด้วย มันเลยทำให้ขี้ลืม ไม่ค่อยจำอะไร

พระอาจารย์ –  ถูกต้องเลย  มันไม่ต้องไปจำอะไร


โยม –  แล้วมันทำให้บางทีงานก็เออ...หลุด

พระอาจารย์ –  ชั่งหัวมัน เดี๋ยวก็ตายแล้ว ไม่ได้หอบเอางานข้ามภพข้ามชาติไปนี่ จะไปกังวลทำไม ลืมได้ก็ทิ้งได้ รู้จักทิ้งซะบ้าง 

เวลามันลืมแล้วมันทำไม่ได้ ดูดิ ยินดีมั้ย ยินร้ายมั้ย ...เห็นธรรมมั้ยนั่น แล้วจะไปแก้มันมั้ย


โยม –  จริงๆ โยมก็เฉยๆ แต่ถ้าคนอื่นเขาก็จะบอกว่าไม่รับผิดชอบ

พระอาจารย์ –  บอกแล้วไม่ต้องเกรงใจใคร เด็ดเดี่ยวไว้ ...โดนด่าก็โดนด่า รับคำไป  ทำใจเป็นกลางอย่างเดียว รู้ตัวอย่างเดียว มันจะแก้ไปในตัวของมันเอง  

โดนด่าเยอะๆ เดี๋ยวมันแก้ของมันเอง ไอ้ที่มันจำไม่ได้ เดี๋ยวมันก็จำของมันเอง ...จิตเขาฉลาด ใจผู้รู้นี่ บอกให้เลย ถ้าอยู่ด้วยปัญญา มันฉลาดในการดำรงชีวิต ในการดำเนินชีวิตเองน่ะ 

ไม่ต้องไปแก้ไขจัดการให้เขาหรอก  เราน่ะโง่กว่าปัญญาญาณเยอะ ...ถ้าอยู่ด้วยปัญญาญาณไม่ต้องกลัว เขาเป็นผู้ชี้นำที่ประเสริฐ เขาจัดระบบให้เอง  

อยู่กับความรู้ตัวไว้ ไม่ต้องแก้ ไม่ต้องเอาเราเข้าไปแก้ เข้าใจมั้ย  เพราะถ้าเป็นเราก็ “เอ เจอธรรมอย่างนั้น จะทำยังไงดี” จะเอาเราเข้าไปชี้นำ แล้วก็ไปหาวิธีการใด อุบายใดทำอีก

ทั้งหมดทำไปภายใต้ความสงสัย ใช่ป่าว คือไม่รู้จะใช่หรือได้ผลหรือเปล่า ลังเลไปหมด ...เพราะตัวมันยังไม่รู้เลยมันทำแล้วจะได้ผลรึเปล่า ถูกรึเปล่าที่มันทำอย่างนี้ แล้วเหมือนคนอื่นเขาทำมั้ย ...นี่ มันจะไปเรื่อยนะ

ทิ้งเลย ...รู้ตัว ใช้ปัญญาญาณเป็นผู้นำ คือรู้ตัว...นี่ อยู่ด้วยปัญญาแล้ว แล้วเขาจัดการให้เอง ...โดนด่าก็ ดี จะได้เห็นว่าโกรธ หรือไม่โกรธ หรือมีความหงุดหงิดขุ่นข้องรึเปล่า นี่ ชำระไปเลยในตัว

แล้วมันจะทำให้การดำรงชีวิตนี่สมดุล ทั้งภายในและภายนอก ด้วยความพอดี ไม่เหลือเฟือ ไม่ขาด ...ก็จะไม่ได้ทั้งคำชมและคำด่า ...นั่นเขาเรียกว่าพอดีในภายนอก มันพอดี ก็เป็นกลางๆ 

เราก็ไม่ได้ติดข้องผลงานภายนอกด้วย ...ถ้าดีเกินไปมันก็ชม ได้รับคำยกย่องก็ภูมิใจ มีเราเข้าไปรับสมอ้างอีกต่างหาก ...ก็เลยไปข้องแวะกันเกาะเกี่ยวกันไป

เพราะนั้นโลก เป็นธุระของโลก เรื่องของโลก ...เดี๋ยวก็ตายกันแล้ว ทิ้งไว้ในโลก ความดีความร้าย คำติคำชม อยู่ในโลกนี้ ไม่เอาไปด้วย ...ไปเกรงใจทำไม ไปกังวลทำไม


โยม –  ถึงเวลามันก็ออกมาเองใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  อือ อยู่กับตัวนี้ไป มันแก้ได้หมด  อย่าไปคิดว่าเอาความคิดแก้ได้ เอาวิธีการแก้ได้ ...แก้ไม่ได้หรอก ยิ่งแก้ยิ่งโง่ ยิ่งแก้ยิ่งติด เหมือนลิงพันแห

แต่ว่าก็ต้องต่อสู้กับความกลัวอีก เมื่อไม่แก้อะไร ...เมื่อแค่รู้ตัวแล้วมันจะกลัว กลัวเสียหาย กลัวถูกด่า กลัวโดนตำหนิ ...นี่ มันมีเราทั้งสองแง่แหละ

แต่เอาศีลไว้ เอาสติไว้ ...มันจะเสียหายขนาดไหน ขอให้มีสติอยู่ ขอให้มีตัวอยู่ ขอให้มันรู้อยู่ พอแล้ว ดีแล้ว ควรแล้ว ประเสริฐแล้ว เลิศแล้ว เป็นเอกแล้ว เป็นหนึ่งแล้ว...พอ จบ ถูกหมดเลย บอกให้


โยม –  ตรงนี้มีคนบอกว่า ปฏิบัติธรรมก็ต้องไม่ทิ้งหน้าที่ งานก็ต้องไม่ให้เสีย

พระอาจารย์ –  นั่นเขาเรียกว่าปฏิบัติแบบทีเล่นทีจริง ...ทำไมพระพุทธเจ้าไม่มีเมียไปด้วย ทำไมไม่เลี้ยงลูกไปด้วย พร้อมกับนั่งสมาธิตลอดรุ่ง ทำไมไม่ว่าราชการไปด้วยล่ะ...ทำไม 

ไม่งั้นท่านก็ทำหน้าที่ขาดตกบกพร่องตลอดเลยนะนั่นน่ะ ถึงขั้นหนีออกจากบ้านจากเมือง ทิ้งราชสมบัติ ไม่ว่าราชการ เนี่ย ...คือจะเอาใครเป็นเยี่ยงอย่างดีล่ะ หือ 

ต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นเยี่ยงอย่าง เป็นแบบอย่าง ท่านแสดงแบบอย่างให้เห็นแล้วนี่ ...หรือจะเอาคำพูด หรือว่าจิต หรือว่ากิเลส มันก็พยายามสร้างเงื่อนไขขึ้นมาว่า อย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ 

เอาเหอะ ไอ้ที่ว่ามันต้องได้ทั้งสองอย่างอย่างนั้นน่ะคือ..."ตามใจกูหน่อย นะ ตามใจความเห็นของกูหน่อย ตามใจความอยากความสบายของกูหน่อย" ว่างั้นเหอะ

ไอ้อย่างนั้นน่ะ การปฏิบัติ การภาวนาตอนแรกๆ น่ะได้...พอพูดกันได้ในระดับเตรียมอนุบาลน่ะ ... แต่ถ้าคิดจะสอบไล่ขึ้นประถมมัธยมนี่...ไม่ได้หรอก  

ต้องเลือกแล้ว...ต้องเลือกกายใจเป็นหลักแล้ว แล้วมันจะทิ้งหมด ...หมายความว่าค่อยๆ ทิ้งนะ


โยม –  ทิ้งที่ใจ

พระอาจารย์ –  เออ  แต่ว่ามันจะเป็นแบบทำไปอยู่ไปกับโลก แต่ไม่ขวนขวาย ไม่จริงจัง  ดี...ก็ดีเท่ากับที่มันไม่ขวนขวายจริงจังแค่นั้นน่ะ ไม่รู้จะดีตามที่เขาต้องการรึเปล่าก็ไม่รู้ แต่มันดีได้แค่นั้นจริงๆ 

เพราะไม่ได้ใส่ใจตั้งใจขวนขวายจริงจังเอามรรคเอาผลกับมันน่ะ กับการงาน กับโลก กับอะไรอย่างนี้ ...มันก็เอามามรรคเอาผลกับกายใจตรงนี้น่ะ

คือว่าเอาตรงนี้เป็นหลัก นี่มันคนละที่กันแล้ว ...แต่ไม่ใช่ว่าทิ้งแบบไม่ดูดี ไม่ใยดี  เพียงแต่ไม่ขวนขวายเลย ไม่ทำงานเพื่อรอเงินเดือนขึ้น ไม่ทำงานเพื่อหวังให้เงินเดือนสูงขึ้น ประมาณนั้นน่ะ


โยม –  ไม่ได้ทำงานเพื่อให้งานเจริญ

พระอาจารย์ –  หรือว่าตัวเองเจริญขึ้นเพราะงาน...ไม่ใช่ ... คือจะไม่มุ่งตรงนั้น แต่จะมุ่งเอาผลของการเจริญขึ้นในองค์มรรค

นี่เขาเรียกว่า มันเหมือนกับเบนหัวเรือ เบี่ยงเข็มมา...จากงานที่เป็นงานภายนอก ซึ่งท่านเรียกว่ามิจฉาอาชีโวนี่ มาเป็นสัมมาอาชีโว คืองานภายใน ...มากขึ้นๆ นะ

แต่ไม่ใช่ว่าเอาแบบทีเดียวเลย ... นั่น เดี๋ยวมันก็ผีเข้าผีออก จะเป็นแบบผีเข้าผีออก แล้วไปไม่ค่อยรอด 

ประเภทพระก็บวชๆ สึกๆ ประมาณนั้น ...ศรัทธาทีนี่ เอาเลย ลาออกจากงาน บวช ...ไปได้สักพัก ไม่เอาแล้วสึกดีกว่า กูคงไปไม่รอดแน่ อะไรอย่างนี้ ...นี่มันจะเป็นอย่างนั้น

แต่ลักษณะอย่างนี้ มันจะเบี่ยงเบนไปโดยธรรมที่มันเห็นไปตามลำดับลำดาไป ...มันก็เกิดความเข้มแข็ง มั่นใจ มั่นคงในงานที่ควร ในงานที่ชอบ ด้วยดำริชอบ ด้วยงานการอันชอบ 

แล้วก็เลี้ยงชีพชอบ ดำเนินชีวิตชอบด้วยการเลี้ยงชีพด้วยองค์มรรคเลย ...ไม่ได้เลี้ยงชีพด้วยวิถีแห่งจิต วิถีแห่งโลก วิถีแห่งสังคมแล้ว ... คือการงานมันอยู่ในวิถี


โยม –  ของโยมทำไป...เหมือนจริงๆ งานไม่ได้แย่นะคะ คือเขาให้มาแค่ไหนก็ทำเท่านั้น  แต่ปัญหาคือมันยังมีนิดนึงว่าโยมเป็นเซลส์ค่ะ คือถ้าตำแหน่งอื่นเขาให้มาแค่ไหนทำแค่นั้น ก็ไม่น่าเกลียด แต่พอเป็นเซลส์แล้ว มันก็นิดนึงที่บริษัทเขาก็ expect ให้เรา

พระอาจารย์ –  ก็ทำเท่าที่เขา expect มา ได้เท่านั้นก็ได้เท่านั้น ...ก็บอกแล้วว่ามันเป็นวิบาก ซึ่งแต่ละคนรับวิบากไม่เหมือนกัน ...ก็ต้องทนกับวิบากนี้ไป ฝืนๆ ไป เพราะนั้นมันก็เลยทำแบบฝืนๆ ไป

ไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็ถึงจุดที่มันจะแตกหักกันไป ... ชาร์จแบตให้มันเต็มก่อนเถอะ แค่นั้นน่ะ แล้วมันจะหักได้ แตกหักกับการงานภายนอกได้ แล้วทุกอย่างมันจะสงเคราะห์ลงในธรรมเดียว ไม่ต้องกลัวหรอก


โยม –  จะได้บวชมั้ยคะ

พระอาจารย์ –  อย่าไปคิด ไม่ต้องคิด  อดีตไม่มี อนาคตไม่มา ...อยู่แค่นี้

จะเป็นยังไงให้มันเป็นไปตามครรลองของธรรม ของมรรค  เราไม่ต้องเอาเราไปกำหนด ไปคาด หรือไปเดา ...ทั้งหมดเป็นอุปาทานขันธ์...ยังไม่มี

จิตมันว่าใช่มั้ย จิตว่า ...มันสร้างรูปนั้นรูปนี้ขึ้นมาว่าตัวเราเป็นอย่างนั้น ตัวเราข้างหน้าเป็นอย่างนั้น ตัวเรา ขันธ์ข้างหน้าเป็นอย่างนั้น จิตข้างหน้าเป็นอย่างนั้น ...ไม่มี จริงๆ แล้วไม่มี ...นั่นขันธ์หลอก

ตรงนี้ นี่ กำลังขยับนี่ มือจับคอนี่ ความรู้สึกนี่ อยู่ตรงนี้ ...อยู่ตรงนี้  ต้องกำชับพื้นที่ เข้าใจมั้ย อย่าให้มันเอ้อระเหยออกมา ...เท่าทัน นี่เขาเรียกว่าเท่าทัน

แต่ถ้าไปนั่งดูมัน ก็ปล่อยให้ดูไปเรื่อย ตามความคิดไปเรื่อย ใช่ป่าว...ชอบดูจิต นักดูจิตน่ะ ดูไปเรื่อย ก็ดูไปเรื่อยอย่างนี้ ...ของจริงมีไม่ดู ไปดูของไม่จริงทำไม หือ ไม่มีสาระ

แต่ถ้าไปดูไปเรื่อยๆ นะ นี่ มันมีสาระขึ้นมาเลยนะ มันดูมีชีวิตจิตใจ โอ้โห ฝันแล้วๆ เริ่มละเมอ เริ่มตกอยู่ในนิมิตฝันแล้ว มีตัวเรา โห สวยหรูเลย เป็นอย่างนั้น หรืออย่างนั้น น่าจะอย่างนั้น นี่...ไปเลย

ทั้งที่ตัวยังนั่งอยู่ใช่มั้ย ตัวจริงอยู่ไหน กายจริงอยู่ไหน ปัจจุบันจริงอยู่ไหน ความเป็นจริงของขันธ์อยู่ไหน ขันธ์ตามความเป็นจริงอยู่ไหน...ไม่มี  

ถ้าไม่มีศีลเป็นตัวกำกับน่ะ...เสร็จ บอกให้  ถ้าไม่มีปกติกายเป็นตัวกำกับไว้...เสร็จ เพ้อเจ้อหมดน่ะ เพ้อเจ้อไปตามอาการของรูปนามในจิตที่มันสร้างขึ้นในขันธ์ ...ทั้งๆ ที่ไม่มีจริง 

เนี่ย มันจะไปเห็นขันธ์ห้าตามความเป็นจริงได้เมื่อไหร่ถ้าอย่างนี้ ...เห็นมั้ยว่าถ้าไม่มีกรอบของศีลเป็นตัวกำหนดกรอบไว้  จิตมันพาล่วงเกินหมดน่ะ สร้างขันธ์หลอกหมดเลย

แล้วก็แยกไม่ออกด้วย จำแนกไม่ถูก ว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ ...แต่พอกลับมาตรงนี้...ปุ๊บนี่ ทุกอย่างดับหมด พึ่บ ไม่เหลือ ใช่มั้ย

เหลือนี้ไม่ดับ...กาย อยู่ในภาวะเป็นคลื่นไว้ เป็นก้อนเป็นกอง เดี๋ยวย้ายไปปวดมั่ง ขยับมั่ง วูบวาบๆ ไปมา ซาบซ่านไปมา อยู่อย่างนี้ๆ ...นี่ของจริง

เพราะนั้นปัญญาแปลว่ารู้เห็นตามความเป็นจริง เนี่ย ถ้าไม่จริงถ้าไม่รู้ตรงนี้มันจะไปเห็นความเป็นจริงที่ไหน หือ มันจะมีความเป็นจริงที่ไหน ถ้านอกจากนี้ไป

ถึงบอกว่าศีลน่ะเป็นกรอบ เป็นอาณาเขต เป็นรั้ว เป็นฐาน เป็นพื้น เป็นหลัก ... ถ้าออกนอกศีลก็ล่ม เละเทะ มั่ว เพ้อเจ้อ เลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน ...สังขารธรรมล้วนๆ ไม่ใช่ธรรมตามความเป็นจริง

แต่ทุกอย่างที่มากระทบสัมผัสสัมพันธ์กับก้อนนี้กองนี้ ณ ปัจจุบันนี้...จริง  ตาเห็นตรงนี้...จริง  รูปที่ปรากฏนี้...จริง  เสียงที่กระทบมาเท่าที่มันปรากฏ ณ ขณะนี้...จริง อากาศแวดล้อมความเย็นร้อนที่กระทบ...จริง นี่

ทุกอย่างจริงอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ธรรมจริงอยู่ตรงแวดวงนี้เท่านั้น ...ถ้าไม่มีกาย ถ้าไม่รู้อยู่ที่กายนี้ จะไม่สัมผัสสัมพันธ์กับความเป็นจริงในปัจจุบันโดยรอบได้เลย 

มันจะทิ้งหมดเลย จิตพาวิ่งพาวนไป หายหมดเลย ความจริงตรงนี้รอบตัวนี้หายหมดเลย แต่มันเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างนู้น มากมายก่ายกอง เลอะเทอะ เฟ้อ ฟุ้ง อุทธัจจกุกกุจจะ ท่านเรียก เพ้อเจ้อ 

ก็หักดิบ ปึ้ง...กลับ ปึ้ง..กลับ  นี่หักดิบ โง่เต็มตัวเลย ไม่รู้อะไรเลย รู้ว่านั่ง...จบ จบแค่รู้ว่านั่ง...จบ  จิตไม่ยอมจบ...ต้องจบ สติต้องกำกับอยู่อย่างนี้เลย

นี่ ต้องเข้มแข็งขนาดนั้นถึงจะเอามันอยู่นะ ถึงจะพลิกอยู่เหนืออำนาจของจิตได้นะ  ไม่งั้นอยู่ใต้อำนาจของมันหมดน่ะ ใต้อำนาจความปรุงแต่งหมดเลย 

เพราะเราใช้จนเคยน่ะ อยู่กับมันจนคุ้นน่ะ เป็นความเคยชินอย่างยิ่ง ท่านเรียกว่าอนุสัย นี่คืออนุสัยหนึ่งนะ ตามความเคยชิน ลอยไปตามคิดคำนึง ไปจริงจังๆ ...ไม่มีอะไรก็คิด ก็ลอย เป็นความเคยชินคุ้นเคย 

หัก ปึ้ง สติปึ้ง กลับมา...กายใจปัจจุบันปรากฏ ทุกอย่างสลาย วิมานลอยดับ เหลือแต่โลกตามความเป็นจริงกับขันธ์ตามความเป็นจริงเท่านั้น 

นี่ โลกข้างนอก แวดวงกายออกไปนี่เรียกว่าโลกตามความเป็นจริง เท่าที่กายนั่ง รู้ว่านั่ง นี่คือขันธ์ตามความเป็นจริง ...แล้วมีอาการนามวูบๆ วาบๆ ไปๆ มาๆ ภายใน ก็ชั่งหัวมัน  ...แค่นี้แหละ

อยู่ให้ได้ ให้มันชัดอยู่แค่นี้ ไม่กี่เรื่องหรอก ...แล้วไม่ต้องไปคาด ไปหวัง ไปหมายกับอะไร ให้มันอยู่ตรงนี้ให้ได้ ...นี่เขาเรียกว่าทำความแจ้งในศีลสมาธิปัญญา หรือทำความแจ้งในองค์มรรค

ถ้ามันแจ้งถ้ามันชัดว่านี้คือมรรค นี่คือทางหลุดพ้น นี่คือเส้นทางที่จะไปสู่ความที่สุดคือความจบความสิ้นความหลุดความพ้นได้ นั่นเรียกว่าแจ้งในมรรค ...มันจะไม่ออกจากนี้เลย

เพราะนั้นผู้ที่แจ้งในมรรคก็เรียกว่าเป็นอริยจิต อริยบุคคลเท่านั้น ...ไม่งั้นมันยังมีที่เลือก มีทางให้เลือกอยู่ ว่านั้นเป็นมรรค นู้นก็เป็นมรรค วิธีนั้นก็ยังเป็นมรรค นั่นเรียกว่ามักมาก ไม่ใช่มัคคา เข้าใจมั้ย มันแยกไม่ออกหรอก

มีแต่อริยบุคคลเท่านั้นถึงจะเนี่ย...ทางเส้นเดียว สายเดียว เอกายนมรรค ไม่มีหลุดรอดจากนี้เลย...ต้องนี้เท่านั้น เท่านี้เท่านั้น ชัดเจนมาก ชัดเจนในศีลสมาธิปัญญามาก แบบลึกซึ้งเลยน่ะ

ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสคำพูดความคิดเลย ทั้งของตัวเองและของคนอื่น บอกให้เลย ...จึงหมดความสงสัยในมรรค จึงหมดความสงสัยในศีลสมาธิปัญญา นั่นน่ะท่านเรียกว่าละวิจิกิจฉาออก



...............................



วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 10/18 (2)


พระอาจารย์
10/18 (560316D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

16 มีนาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 10/18  ช่วง 1

โยม –  โยมไม่แน่ใจว่าเห็นถูกรึเปล่า คือถ้าเห็นแบบคิด มันจะเกิด-ดับแบบตัวเดียว  แต่ถ้าเห็นฐานนี่ มันจะเหมือนกับตัวนึงที่ไม่ดับ กับมันมีตัวนึงที่เห็นว่าข้างนอกมันเกิดดับ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้เห็นตัวอย่างนั้น ให้เห็นตัวที่มันต่อเนื่องด้วยความเกิดดับน่ะ คือกาย ใช่ป่าว เห็นอะไร...เห็นกายรึเปล่า

เออ ให้เห็นอย่างนั้น แล้วมันจะเห็นจิตเกิดดับ ...ถ้ามันไม่เอาจิตมาเป็นธุระอ่ะนะ มันก็จะเห็นเป็นลักษณะจิตเกิดดับ ...อ่ะ คิดอีกแล้ว เอ้าไปอีกแล้ว มันจะเห็น แล้วก็ดับเลย  

แต่ตัวนี้ไม่ดับ เหมือนกับไม่ดับ ...แต่จริงๆมันเกิดดับอยู่ในตัว คือมันเปลี่ยนแปลงของมัน เป็นคลื่นน่ะ เห็นกายนี่เหมือนเป็นคลื่น เข้าใจมั้ย นั่นน่ะจริงๆ คือความเกิดดับนึง

แต่ลักษณะของจิตมันจะเป็นความเกิดดับแบบชัดเจน ปึ้บ หายเลย ...แต่กายนี่มันเกิดดับแบบเป็นคลื่น ปัจจยาการที่ต่อเนื่อง เหมือนเป็นเวฟ ขึ้นๆ ลงๆ ...อยู่ตรงนี้ ต้องอยู่กับตัวนี้ คือศีล อยู่ในกรอบ


โยม –  แต่กายมันไม่ได้เกิดดับนี่คะ แต่มันเหมือนตัวที่ไปเห็นตรงนั้นต่างหากที่เกิดดับ

พระอาจารย์ –  ตัวที่ไปเห็นหรือ ... ตัวที่ไปเห็น ...อะไรมันเกิดดับ หา


โยม –  จิต...จิตที่ไปรู้

พระอาจารย์ –  เข้าใจมั้ย คำว่ารู้นี่ ...คือว่ากายที่มันปรากฏขึ้นแล้วรู้นี่ มีการปรากฏของกายเกิดขึ้น ไอ้ตัวที่มันรู้การปรากฏขึ้นของกายนี่ เรียกว่ากายวิญญาณ เข้าใจมั้ย ไอ้ตัวกายวิญญาณนี่มันดับไปพร้อมกับกายนั้นๆ

พอกายเกิดขึ้นมาในลักษณะปวด มันมีเวทนา มันก็จะมีวิญญาณไปเกิดที่เวทนานั้นในกาย มันก็เกิดความรู้ว่ามีเวทนาปรากฏอยู่ แต่ไอ้ความรู้นี่มันเกิดดับเปลี่ยนแปลง

สมมุติกำลังดูลมหายใจแล้วมันปวด เพราะนั้นมันจะเห็นความปวด วิญญาณนี่มันจะไปเกิดที่เวทนา กายก็เกิดเป็นเวทนามาแทนการเกิดของลม ทั้งๆ ที่ยังมีลมอยู่แต่ไม่มีวิญญาณไปเกิดรู้อยู่ตรงลมนั้น 

เข้าใจมั้ย คือวิญญาณนี่เป็นส่วนนึงของขันธ์ แล้วจะเกิดดับไปมากับอาการในกาย ในจิต จึงเรียกว่าวิญญาณ ...วิญญาณก็คือรู้ใช่ป่าว 

เราพูดนี่เราพูดเพื่อให้เข้าใจ ไม่ต้องไปวิเคราะห์นะ ไม่ต้องไปวิเคราะห์ขันธ์ ...คือเรื่องวิญญาณถ้าไปดูวิญญาณนี่มันก็รู้  แล้วก็มีใจรู้เห็นอยู่ด้วย 

เห็นมั้ยว่า พอมันมีกายตัวนี้แล้วมันมีอีกตัวที่รู้ที่เห็นซ้อนอยู่ ...มีรู้ซ้อนรู้นี้อยู่ ...แล้วไอ้ตัววิญญาณนี่ดับ แต่ตัวที่รู้เห็นซ้อนอยู่นี้ไม่ดับ เข้าใจมั้ย วิญญาณมันจะดับไปพร้อมกับเหตุแห่งกาย หรือเหตุแห่งจิต 

ในจิตก็มีจิตวิญญาณ คือวิญญาณไปรู้ในมโน ...คือการโลดแล่นไปมาของจิตนี่เป็นวิญญาณ  ถ้าไม่มีวิญญาณ มันก็ไม่รู้ว่าจิตคิดนึกอะไร 

เพราะนั้นคนทั่วไปนี่ มันจะอยู่กับวิญญาณ หลงไปตามมโนวิญญาณ ...มันไม่มีตัวที่รู้ซ้อนรู้อยู่ ...คือสตินี่มันจะจำแนกใจออกมารู้เห็นอีกตัวนึง แล้วก็เห็นการกระโดดไปมาของวิญญาณ 

คือส่วนนึงในองคาพยพของขันธ์ห้า จึงเรียกว่ากายวิญญาณ จึงเรียกว่ากายเวทนา จึงเรียกว่าวิญญาณในกายเวทนากับวิญญาณในกาย

หรือจักขุวิญญาณ วิญญาณที่เกิดทางตา  โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ พวกนี้ ผัสสะทั้งหมดที่มันเกิดขึ้นนี่ เพราะมีวิญญาณไปเกิด จึงมีการรับรู้ขึ้นมา

เพราะนั้นตัววิญญาณจริงๆ ก็คือประสาทนึงน่ะ การรับรู้โดยองคาพยพของกายที่เรียกว่าเป็นประสาทรับรู้ ...จริงๆ มันเป็นเรื่องฟิสิกส์กายภาพ 

มันมีเซลส์ของการรับรู้ มันเกิดปฏิกิริยาบวกลบขึ้น ไฟฟ้า มันก็แวบ นั่นน่ะคือปฏิกิริยาไฟฟ้า จริงๆ พอมีการสลับขั้วมันก็แวบ เกิดขึ้นตรงนั้น

แต่ถ้ามันไม่เข้าใจว่าสภาพขันธ์เป็นแค่วิญญาณรับรู้แค่นี้...แล้วมันเกิดตรงนั้นมันก็ดับตรงนั้นพร้อมกัน ...นี่ จิตนี่มันจะปรุงต่อในวิญญาณขันธ์นี้ มันหลง มันเกิดอาการหลงแล้ว

เพราะนั้นที่บอกว่าจิตเกิดดับ มันไม่ใช่จิตเกิดดับ เข้าใจมั้ย


โยม –  ก็คือวิญญาณ

พระอาจารย์ –  เออ วิญญาณ ...ไอ้ที่มันเห็นน่ะ ไอ้ที่รู้น่ะใจ...ใจที่ไม่เกิดไม่ดับ ตัวที่ไม่เกิดไม่ดับมันเห็นในความเปลี่ยนไปมาของที่นึงไปอีกที่นึง นี่คือความเกิดดับ เข้าใจมั้ย


โยม –  โยมเห็นมัน แต่โยมเรียกชื่อมันไม่ถูก

พระอาจารย์ –  จริงๆ บอกแล้วไม่ต้องไปพากย์มันหรอก  แค่เห็นอย่างงั้นน่ะ พอแล้ว ไม่ต้องมีเหตุ ไม่ต้องมีผล ไม่ต้องใส่ชื่อ แค่เห็นเงียบๆ ...เห็นเงียบเป็นมั้ย เห็นเฉยๆ


โยม – เป็นค่ะ ...มันจะยุบยิบของมัน 

พระอาจารย์ –  อือ ก็ให้เห็นความยุบยิบๆ นั่นแหละ ยุบยิบๆ กระโดดไปมา ...แต่ให้อยู่ในแวดวงกายเท่านั้น  อย่าก้าวข้าม หรือล่วงไปถึงจิต 

จะไปดูความยิบยับนี้ในจิต จะไม่ทัน ในระดับนี้จะไม่ทันได้เลยถ้ายังไม่แจ้งกาย ไม่มีทางแจ้งจิตเลย จะโดนหลอกหมด เดี๋ยวจะโดนหลอกหมด

เอาตรงนี้ก่อน เอาให้มันหาความเป็นกายเป็นชิ้นเป็นอันไม่เจอ จนกายนี่มันจับเป็นชิ้นเป็นอันเป็นตัวเป็นตนไม่ได้ ...จึงจะออกจากรูปกายได้ จึงจะออกจากความหมายมั่นเป็นกายได้ 

ถ้าเห็นกายเป็นก้อนความรู้สึกหนึ่งเกิดๆ ดับๆ หรือว่าเป็นก้อนที่แปรปรวนไปมา 

ในขั้นนี้มันยังไม่เห็นกายเกิดดับหรอก แต่มันจะเห็นความแปรปรวนไปมา เดี๋ยวก็ย้ายไปทางนั้น เดี๋ยวก็เปลี่ยนมาทางนี้ เดี๋ยวก็มากขึ้น เดี๋ยวก็น้อยลง เดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็เป็นอย่างนี้ ...นี่ ให้ดูอย่างนี้

แล้วต่อไปมันจะชัดเจนในความเกิดดับ ในอิริยาบถใหญ่ในอิริยาบถย่อยมันจะเห็นชัดมาก  หมายความว่าเวลาเดินนี่ มันเห็นความดับไปทุกย่างก้าวเลย พึ่บๆๆ ในอิริยาบถเลย 

กายที่เดินอยู่นี่แล้วก้าวไปข้างหน้า ไอ้กายข้างหลัง พึ่บ เป็นเหมือนเงาน่ะ พั่บๆๆ อย่างนั้น ...นี่มันเห็นของมันเองนะ ไม่ใช่ไปทำให้มันเห็นนะ มันเป็นอย่างนั้น

การนั่ง แล้วขยับนี่ แค่ขยับนี่ วูบนี่ ตรงนี้ดับเลย ใช่ป่าว ...ความรู้สึกตรงนั้นดับพึ่บให้เห็นเลย เหมือนฟ้าแลบ แพล็บนี่ๆ


โยม –  คือมันมีความต่างจากเดิมที่จะเห็นยิบยับตรงนี้ แล้วตรงนี้มาเปลี่ยนเป็นยิบๆ

พระอาจารย์ –  อือ ให้มันเปลี่ยนไป ดูไปเหอะ ขอให้มันเป็นแวดวงกายอย่างนี้  ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์เลย ไม่ต้องไปใส่ชื่อเรียกนาม ว่ามันคืออะไร เรียกว่าอะไร เป็นยังไง ถูกหรือผิด 

ไม่เอาถูกไม่เอาผิด เอาว่ามันปรากฏอย่างนี้จริง เห็นอย่างนี้จริง พอแล้ว มันจะเข้าใจเป็นปัจจัตตังเอง ...แล้วก็รักษาความต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่เห็นเป็นยิบยับ ก็ให้เห็นเป็นก้อนๆ เป็นกอง ทึบๆ เลยก็ได้ 

เข้าใจมั้ย ในรูปนั่งนี่ ในกองนั่งนี่มันเป็นความรู้สึกแน่นๆ ทึบๆ หนักๆ ใช่มั้ย ก็ดูมัน หยั่ง คอยหยั่งไว้ หยั่งในความหนักนี่ ...อย่าให้มันออกนอกหลัก 

แล้วก็ไม่ต้องไปพูดกับมันว่ามันคืออะไร แล้วไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปวิเคราะห์ ไม่ต้องเอาตำรามากางเทียบว่าอย่างนี้ คือนั้นรึเปล่า นี้รึเปล่า ...ไม่ต้อง 

หยั่งไว้ในความเป็นก้อนทึบนี่ แล้วก็รักษาเวลามันเคลื่อน เปลี่ยนอิริยาบถ เดี๋ยวมันจะหายตอนเปลี่ยนอิริยาบถ มันไม่สืบเนื่องกันในอิริยาบถ คือมันไม่สามารถเชื่อมอิริยาบถ 

สติ...ผู้ฝึกในเบื้องต้น จะเชื่อมอิริยาบถไม่ค่อยได้


โยม –  แล้วอย่างนี้ ถ้าทำในรูปแบบมันก็มีส่วนช่วยใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  คือเวลาทำในรูปแบบ มันมีความตั้งใจมาก เข้าใจมั้ย ที่มันได้ช่วยเพราะอะไรรู้มั้ย คือมันมีสัจจะเหมือนกับจะตั้งใจรู้จริงๆ ต่อเนื่องจริงๆ 

นี่ มันอยู่ที่ความตั้งใจ ...รูปแบบมันก็จะทำให้เกิดความตั้งใจขึ้นมา มันจึงเกิดความต่อเนื่องชัดเจน ... เพราะนั้นให้เข้าใจว่า เมื่อไม่มีรูปแบบ ก็ต้องมีความตั้งใจ 

ถ้าเรามีความตั้งใจแล้ว เหมือนกับมีรูปแบบอยู่ตลอด เข้าใจมั้ย  ไอ้ที่มันเข้ารูปแบบแล้ว นั่งก็ตาม เดินจงกรมก็ตาม มันมีความตั้งใจในรูปแบบนี้ ว่าจะเอาจริงๆ ว่าจะไม่ลืมจริงๆ อย่างนี้ 

มันถึงเกิดความชัดเจนขึ้น...ซึ่งเหมือนจะเป็นเฉพาะเวลามีรูปแบบ ... แต่เวลาพอออกจากรูปแบบปุ๊บ จิตมันจะคลายออกจากความตั้งใจ ปล่อยแล้ว เริ่มปล่อย 

เหมือนกับรูปแบบหาย ความตั้งใจก็หายไปพร้อมกัน ...มันก็เลยเกิดความคลาดเคลื่อน สภาพธรรมก็คลาดเคลื่อนแล้ว หรือว่าจางคลายออกไปจากมรรคแล้ว

แต่ถ้าทิ้งรูปแบบ หรือว่าออกจากรูปแบบ...แต่ไม่ทิ้งความตั้งใจ ยังรักษาอยู่ซึ่งความรู้ตัว ด้วยความต่อเนื่อง ด้วยความตั้งอกตั้งใจอยู่เสมอ ...ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับรูปแบบแล้ว 

เพราะถือกายเป็นรูปแบบ ไม่ใช่ถืออิริยาบถเป็นรูปแบบ ไม่ใช่ถือลักษณะของอิริยาบถหรือรูปร่างของอิริยาบถเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่นนั่งขัดสมาธิ หรือเดินจงกรมในที่อันกำหนดไว้

ถือกายนี่เป็นรูปแบบ คือตั้งใจ ...เพราะนั้นมันแก้ที่ตั้งใจไง มันก็จะออกจากรูปแบบ โดยไม่มีรูปแบบ ไม่ขึ้นกับรูปแบบแล้ว ไม่อาศัยรูปแบบแล้ว ...ถือกายเป็นรูปแบบแล้ว  

เพราะนั้นกายจึงเป็นรูปแบบที่ตายตัว หมายความว่ามีตลอดเวลา ...นี่ ถ้าตั้งใจ


โยม –  แต่ว่าอย่างคนทั่วไปน่ะค่ะ จะฝึก ก็เหมือนอย่างปั่นจักรยานยังไม่เป็น ก็ฝึกก่อน แต่เดี๋ยวมันก็จะเห็นเป็นอย่างเดียวกันอยู่ดีก็ได้

พระอาจารย์ –  ใช่ ... แต่ถ้ายังไปติดรูปแบบ ถ้ายังไม่เข้าใจว่า ทำไมทำในรูปแบบแล้วมันดี พอออกจากรูปแบบแล้วมันไม่ดีเพราะอะไร  แล้วก็เลยไปติดรูปแบบ

เช่นว่าถ้าไม่ได้นั่งแล้วสติไม่เกิด ถ้าไม่ได้เดินจงกรมเป็นที่เป็นทางแล้ว สติจะไม่เกิด กายจะไม่ปรากฏ ...เข้าใจมั้ย นี่เขาเรียกว่าติดรูปแบบแล้ว


โยม –  โยมเหมือนเคยผ่านสภาวะนั้นมาน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ คือทุกคนจะติดก่อนอยู่แล้ว...รูปแบบ  แล้วมันจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นว่า...อ๋อ การปฏิบัติไม่มีเวลา ไม่มีรูปแบบ เพราะมีกายเป็นรูปแบบมาตั้งแต่เกิด  

ถ้ามันเข้าใจอย่างนี้แล้วนี่ เขาเรียกว่ามันเริ่มแจ้งชัดในองค์ศีลแล้ว เริ่มเข้าถึงศีลแล้ว เข้าใจมั้ย เริ่มรักษาศีลด้วยความที่ว่าไม่เลือกกาลเวลาสถานที่แล้ว

แต่ไอ้นี่มันจะมารักษาศีลต่อเมื่อนั่งสมาธิเดินจงกรม  พอออกแล้ว เลิกแล้ว กายยังไงชั่งหัวมัน ทำไปเรื่อยเปื่อย แล้วก็จะอยู่อย่างนี้ด้วยความเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง มันถอนไม่ขึ้น 

มันก็ไม่มีการพัฒนาขึ้น เข้าใจมั้ย มันก็ซ้ำดีซ้ำร้าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายอยู่อย่างนั้น ขาดความสม่ำเสมอไง

แต่ถ้าไม่เลือกเลย ออกจากนั่งสมาธิปุ๊บนี่ พอลืมตารู้เลยว่ากำลังลืมตา เดี๋ยวกำลังจะลุก กำลังก้าว ยกขาออก กำลังเอามือออก กำลังจะยกยันร่าง ยังรู้ต่อเนื่อง ...ต้องอย่างนี้เลยนะ

หรือเดินจงกรม เมื่อยแล้ว กำลังจะเริ่มออกจากทางจงกรม กำลังก้าว กำลังนั่ง กำลังกินน้ำ กำลังเปิดประตู กำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ ยังรู้ต่อเนื่องเหมือนกับเดินจงกรม อย่างนี้ต่างหาก 

มันต้องรักษาอย่างนี้เลย รักษากายใจเหมือนจงอางหวงไข่น่ะ เหมือนหมาแม่ลูกอ่อน เหมือนหมีแม่ลูกอ่อน เหมือนลิงแม่ลูกอ่อน  เห็นลูกลิงไหม มันเกาะอกแม่มันน่ะ ไม่ปล่อยเลย นั่นน่ะอย่างนั้น

ถ้าอย่างนั้นน่ะ ถึงเรียกว่าเป็นผู้เจริญเดินอยู่ในองค์มรรค ด้วยความสม่ำเสมอในองค์มรรค ...เร็ว ถ้าอย่างนี้เร็ว การพัฒนาขึ้นของมรรคนี่ หรือการพัฒนาขึ้นของปัญญานี่จะเร็ว  

แต่ไม่ใช่แบบขาดๆ เกินๆ ...ส่วนมากมันขาด ไม่เกินหรอก ... ไอ้ที่เกินคือคิด พิจารณาล้ำตามตำรา เอาตำรามากางในจิต แล้วก็พิจารณาให้เห็นตามตำราอย่างนี้ เขาเรียกว่าเกิน 

แต่พอมาเดิน มาใช้ชีวิตในกิจวัตรประจำวัน ก็จะขาด คือหลง หาย ไปจากกาย  พวกนี้คือการติดข้อง หรือการหลุดออกจากมรรค เป็นภาวะสุดโต่งแล้ว...ทั้งอัตตกิลมถานุโยม และกามสุขัลลิกานุโยค 

รู้ยิ่งเกินไปด้วยการคิดนึก หรือทำให้เกิดความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา นี่เขาเรียกว่ายิ่งเกินไป เป็นอัตตกิลมถานุโยค  ถ้าปล่อยทิ้งขว้างไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่กามสุขัลลิกานุโยคลอย ไปตามอารมณ์ ตามกิเลส

เพราะนั้น ความพากเพียรนี่ทิ้งไม่ได้เลย สติทิ้งไม่ได้ กายทิ้งไม่ได้ ... ทุกขณะ ต้องบอกอย่างนี้ ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่มีเวลาพักเลย ...ยกเว้นหลับ กับยกเว้นพระอรหันต์เท่านั้น จึงพักได้

ถ้าต่ำกว่าพระอรหันต์ลงมาแล้ว พักไม่ได้เลย ...พักกายใจนี้ไม่ได้เลย พักการรู้ตัวไม่ได้เลย พักการรู้อยู่กับปัจจุบันนี่ไม่ได้เลย 

อย่าไปเชื่อจิตที่มันอ้างว่า ถึงเวลาพักแล้ว ...กิเลสไม่เคยพัก อวิชชาไม่เคยหยุด ตัณหาความปรุงแต่งไม่เคยหยุด ไม่เคยย่อท้อ ไม่มีเวลาพักผ่อน

แต่เราพวกผู้ปฏิบัติน่ะพักกันจัง เดี๋ยวก็พัก เดี๋ยวก็พอแล้ว พักก่อนแล้ว เนี่ย จิตมันบอก มันเลยขาดๆๆ ไม่เกินหรอก ขาด เว้าแหว่งวิ่น ขาดทะลุ ร่องแร่ง มรรคร่องแร่งๆ แล้วมันจะเดินได้เป็นเส้นทางได้ยังไง

เพราะนั้นรักษาความสม่ำเสมอไว้ ตั้งหลักกายใจไว้ให้มั่นให้ดี...ที่เดียว แล้วทุกอย่างจะเป็นไปตามครรลองของมันเอง ไม่ลัดขั้นตอนเลย ไม่มีอะไรเร็วกว่านี้แล้ว ไม่มีเทคนิคไหน ไม่มีอุบายไหนอีกแล้ว

นี่คือหลัก ...ไม่ต้องไปหาที่อื่นรู้ ไม่ต้องไปสร้างที่อื่นให้มารู้ ไม่ต้องไปทำอย่างอื่นให้มันรู้ มันมีให้รู้อยู่แล้วกายนี้ นี่  ถ้าจำหลักให้แม่น จับหลักให้มั่น เดินไปในหลักนี้เท่านี้ ไม่หนีจากองค์มรรคแน่นอน

เอาแล้ว เข้าใจดีแล้ว ก็เอาไปทำ ...เหลือแต่ทำ ยังไม่เอาไปทำให้มันเต็มที่เท่านั้นเอง  

อาจจะทำคลาดเคลื่อนบิดเบือนไปบ้าง ก็ปรับให้มันตรง ไอ้ที่ไปเข้าใจว่าอยู่ตรงนั้นใช่แล้ว อย่างนั้นใช่แล้ว มันยังไม่ใช่ ...อยู่ตรงนี้ใช่ ตรงที่นั่งนี้ใช่ ตรงที่รู้ในสองอาการนี้ใช่

ถ้าจำไว้ให้มั่นว่านี่คือหลัก นี่คือฐาน กายใจเป็นฐาน กายใจเป็นมรรค ...ถ้าลืมกายลืมใจก็ออกนอกมรรค 

ถ้ามีกายมีใจอยู่ในมรรคปัจจุบัน รู้อยู่กับปัจจุบันกายปัจจุบันรู้อยู่นี่ เรียกว่าไม่หลุดจากมรรค ...ผลก็จะบังเกิดที่นี้ เป็นเงาตามการประกอบเหตุแห่งมรรคไป


(ต่อแทร็ก 10/19)