วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 10/25 (2)


พระอาจารย์
10/25 (560317F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
17  มีนาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 10/25  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ทำไปทำมาก็...มันเห็นความดับไป ความเบาไป ความบางไป ความไม่อาลัยอาวรณ์ ความไม่ห่วงหาในอดีต ความเห็นความไม่จริงจังในอดีตในอนาคต

แม้กระทั่งในปัจจุบัน ...มันก็เป็นแค่อะไร ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีความเป็นใครของใคร แล้วมันเป็นธรรมชาติที่วูบๆ วาบๆ ไปมา

พระพุทธเจ้าก็หันหน้ากลับมาบอก...เหล่านี้เรียกว่า นิโรธ ...ซึ่งเป็นผลจากการเจริญมรรค คือความดับไปสิ้นไปของอำนาจทะยานอยากของจิต

แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นนั้น ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติที่แท้จริงของเขาเอง 

แล้วธรรมชาติที่แท้จริงของเขาเองมีอะไร ...ธรรมชาติหนึ่งคือไตรลักษณ์ อีกธรรมชาติหนึ่งคือเหนือไตรลักษณ์

อะไรล่ะเหนือไตรลักษณ์ ...ก็ไอ้ดวงใจที่รู้และเห็นนั่นแหละ มันไม่เคยเปลี่ยนเลย

มันเป็นธรรมชาติที่คงอยู่ ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มาก ไม่น้อย ไม่เคลื่อน ไม่เปลี่ยน ไม่ดีขึ้น ไม่ร้ายลง ไม่มากขึ้น ไม่น้อยลง ...มันเท่าเก่า คงเดิม ดูเหมือนเป็นอนันตา ดูเหมือนมันเป็นนอกกาลเวลาจะควบคุมได้ 

ดูเหมือนมันนอกเหนือเหตุปัจจัย มันนอกเหนือกิริยาทั้งหลายทั้งปวง ...จึงเรียกว่ามันเป็นอกิริยา มันจึงเรียกว่านอกจากการประกอบด้วยสังขารทั้งหลายทั้งปวง ...คือมันเป็นวิสังขาร

นี่ มันจะเห็นธรรมชาติอีกธรรมชาติหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากทุกขสัจที่เป็นอาการแปรปรวนไปมา เกิดๆ ดับๆ เดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อย เดี๋ยวมีเดี๋ยวไม่มี เดี๋ยวนานเดี๋ยวไม่นาน เดี๋ยวแป๊บเดียว เดี๋ยวไม่หายไปไหนเลย

ยิ่งอยู่ในมรรคอย่างนี้...ยิ่งเห็นความเป็นจริงแค่สองอย่างนี้เอง  นอกนั้นไม่มีอะไรจริงเลย ...มีความจริงอยู่สองอย่างนี้เองจริงๆ

จิตที่มันทะเยอทะยานกวัดแกว่งไปมา มันเห็นอย่างนี้ มันก็ไม่รู้มันจะกวัดแกว่งหาอะไร หือ มันจะหาอะไร มันจะไปหมายอะไร มันจะไปตั้งอยู่ที่ไหน

มันจะไปครอบครองอะไรดี มันจะไปเกิด ไปนั่งไปนอน ไปกินอยู่ตรงไหนดี ...มันไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนแล้ว มันก็ไม่ไป มันก็อยู่ของมันตรงนั้นแหละ

มันก็รู้สึก...แค่อยู่ตรงนี้...เท่านี้ก็พอแล้ว ไม่เห็นเหนื่อย ไม่ต้องเหนื่อยยาก ...มันก็ยิ่งเบาขึ้น ในภาระการค้นการหา อยากหรือไม่อยาก

พวกที่นั่งฟังอยู่ บางคนก็เมื่อยแล้ว ลุกไปนอนได้ เข้าใจแล้ว  บางคนก็ดูไปดูมาจน..ไม่มีอะไรเป็นสาระอีกต่อไป ยอมรับทุกธรรมชาติตามความเป็นจริงเท่าที่มันปรากฏนี้...โดยสิ้นสงสัย

เหล่านี้ เช่นนี้ ...เมื่อพระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมเสร็จ ท่านถึงบอกว่า ณ วันนี้ ณ ที่นี้ มีผู้เข้าถึงความเป็นโสดาจิต จำนวนเท่านี้ ...สกิทาคา จำนวนนี้เท่านี้ ...อนาคามี จำนวนนี้เท่านี้ ...อรหันตา จำนวนนี้เท่านี้ 

และมีผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์เบื้องต้น จำนวนนี้เท่านี้ เป็นผู้มีศีล รักษาปวารณาศีลสมาธิปัญญาอยู่เท่านี้ 

แต่ส่วนมากสมัยนี้...มันอยู่ไอ้ตัวหลังสุดน่ะ ...แล้วเข้านี่ยังเข้าถึงแบบผิดๆ อีกนะ...มะยังภันเตน่ะ เข้าถึงแบบมะยังภันเตน่ะ ยังไม่เข้าถึงอธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา

คือขี่ม้ารอบเมืองอยู่ กะว่าจะตีตอนเย็น หรือกะว่าจะตีตอนเลิกงานแล้ว หรือว่ากะว่าจะตีตอนที่มันปลอดคน ...ไปๆ มาๆ ปรากฏว่าม้ามันเหนื่อย หิว ก็เลย...นอนก่อนดีกว่า

มัวแต่ขี่ม้าวนรอบเมืองสามสี่รอบก็แล้ว กูยังไม่ตีสักที ...มันติดอะไรอยู่ มันรั้งรออะไร หือ ...กลัวตาย กลัวเข้าไปแล้ว ปึง กูจะต้องเจอมันตีกลับแน่เลย แล้วที่สุดการตีนี้ก็สูญเปล่าสิ

มันก็ว่า...เดี๋ยวก่อน วนดูก่อน เผื่อมีรอยแยกตรงไหน กูจะเข้าไปแบบเรียบง่าย แล้ว...ปึ้ง เข้าถึง King of the King…อวิชชา ปุ๊บ เด็ดหัวมันปลิดเลย นั่น

แต่กูวนมาหลายปีแล้วนะเนี่ย ยังหาช่องแตกไม่เจอเลย  ม้ามันก็..เดี๋ยวก็นอนๆ แล้วก็ผอมไป คนขี่ก็แก่ตัวลงไป พอนอนแล้วมาขึ้นหลังม้าก็...โอยๆ ไม่ไหวแล้ว ต้องหาลูกหลานพยุงให้นั่งสมาธิน่ะ

คือไปนั่งสมาธิก็ยังขี่ม้ารอบเมืองกันอยู่ อยู่กับอุบายอยู่อย่างงั้นน่ะ...ตั้งจิตให้สงบ แล้วมันจะได้มีกำลัง ถ้ามีกำลังแล้วคราวนี้ได้การล่ะ ...สุดท้ายกูก็ตายก่อนล่ะวะ ไปไม่รอดสักที

เพราะอะไร ... สงบ..กูยังไม่สงบเลย ยังไม่รู้จักความสงบที่แท้จริงคืออะไรเลย ยังไม่เห็นเงา...แม้กระทั่งเงาของความสงบเลย ...แล้วไอ้ความสงบที่มันเป็นเงาฉายมานี่ ยังเป็นความสงบที่ไม่จริงอีกต่างหาก 

ดูสิว่ามันอ้อมเมืองขนาดไหนล่ะ ...มันถึงตกค้าง ตกคลั่กกันอยู่นี่ 

ไล่ให้ไปก็ไม่ไป ...หนูจะอยู่โยง หนูจะเป็นปู่โสม หนูยังอาลัยอาวรณ์ในขันธ์ หนูยังอาลัยอาวรณ์ในเพื่อน หนูยังมีจิตเมตตาอาทรต่อสัตว์น้อย สัตว์ใหญ่ สัตว์ผู้ตกยากตกทุกข์

ไปไหนก็ห่วง ...มาวัดก็ห่วงบ้าน กลับบ้านก็คิดถึงวัด กลับไปวัดอีกก็คิดถึงบ้าน คิดถึงคนที่อยู่ในบ้าน แล้วก็พาลคิดไปถึงที่ทำงาน มันจะไล่กูออกมั้ย มันจะเพิ่มเงินเดือนให้มั้ย ...ห่วงไปหมด

ตายแล้วก็ยังไม่หมดห่วง ยังไม่หมดอาลัย ยังไม่หมดอาวรณ์ ก็ว่า.."นี่ ถ้าได้อยู่อีกห้าปีสิบปี เราก็จะ.. นี่อีกสักสามปีก็จะ.." ...อยู่อย่างนั้นน่ะ สุดท้ายก็ตาย ยังไม่ได้ "จะ" อะไรเลย 

ก็เลยมา “จะ” เอาใหม่ชาติหน้า ...ลืมตาถามแม่...พ.ศ. อะไร... “5000” ... พระอยู่ไหน...“ไม่มี” ... ศีลคืออะไร...“ไม่รู้”  สมาธิล่ะแม่...“ไม่รู้จัก” ...แม่มันจะตอบอย่างนี้

มันไม่มีศีล มันไม่รู้จักหรอก ...ถ้ามันไม่มีศีล มันไม่รู้จักศีลน่ะ แล้วมันจะรักษาศีลมั้ย  

ถามว่าเอาแค่ศีลหยาบๆ นี่ ศีลภายนอก ศีลห้านี่ ...มันไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป...ถ้าไม่มีศีล ถ้าไม่รักษาศีล ถ้าไม่เชื่อศีล ถ้าไม่เชื่อกรรม

นี่ พวกเรายังเชื่ออยู่นะ พ่อแม่มันยังสอนอยู่น่ะ ยังอยู่ในยุคสมัยที่...ยังมีตลบอบอวลด้วยควันไฟคุกรุ่นแห่งมรรคศีลสมาธิปัญญาของพระพุทธเจ้าอยู่

มันถูกหล่อหลอมด้วยความเชื่อความเห็นนี้อยู่ว่า...อย่าทำนะลูก มันบาป เดี๋ยวเวลากลับคืนมาแล้วนี่ หนูจะแย่ มึงจะแย่  อย่าไปทำไม่ดี พูดไม่ดี อย่าไปทำอย่างนั้น

มันก็กลัว เพราะถูกปลูกฝังมา ...นี่เขาเรียกว่ากัมมพันธุ กัมมทายาโท มันสืบทอดด้วยกรรม

แต่ไปสมัยโน้นแล้ว ห้าพันปีล้ำไปนี่ ...ศีลไม่รู้จัก สมาธิไม่รู้จัก บุญไม่มี บาปไม่มี ตายเกิดไม่รู้ ... บุญ ผลการกระทำ วิบากกรรม คืออะไรน่ะ

ไม่มีหรอก เคยเห็นแต่มีในห้องสมุด มันน่าจะเป็นปรัชญาประเภทนึงนะ ...เนี่ย ไม่กลัวหรอกบาป ทำไปเหอะ อยากทำอะไรก็ทำ ตามความพอใจ

มันก็อยู่กันแบบสัตว์น่ะ คือสัตว์นี่มันอยู่กันโดยสัญชาติญาณ...หิว..กิน  ถูก-ผิดไม่รู้ กูจะกินให้ได้ ใครจะตายเพราะกูแย่งมากิน ก็ไม่ได้รู้สึก..สำนึกไม่มี

น่าเจริญองค์มรรคมั้ยล่ะในยุคนั้นน่ะ หาความสงบในการพุทโธเกิดได้มั้ย ...พุทโธก็เข้ากรุไปเลย ไม่รู้จักคำว่าพุทโธเลย ไม่รู้จักคำว่าดวงจิตผู้รู้เลย

ไม่รู้จักคำว่านิพพานด้วยซ้ำ ว่ามีจริงมั้ย หรือเป็นคำเล่าลือเล่าอ้างมาลอยๆ Once upon a time เขาเล่ามา เป็นตำนาน ไม่มีหรอก ไม่จริงหรอก เรื่องโกหก

นี่ ถ้ามัวแต่อยู่แบบเลื่อนๆ ลอยๆ กันนะ ...แต่การเกิดการตายไม่เลื่อนลอยนะ วน ซ้ำ ไม่ไปไหนหรอก กลับมาอยู่อย่างนี้ ไม่ชายก็หญิง ไม่หญิงก็ชาย ไม่ก็ครึ่งหญิงครึ่งชาย ไม่ก็เป็นสัตว์ 

วนอยู่อย่างนี้...มันเป็นสภาวะ อยู่อย่างนี้ มันเป็นกฎตายตัวเลย ...ถ้าไม่ขวนขวาย ถ้าไม่เจริญมรรค ถ้าไม่ขยันขันแข็ง ถ้าไม่ตั้งอกตั้งใจใส่อกใส่ใจ น้อมนำเอาธรรมที่หาฟังได้ยากในโลก...เป็นทางออก

เพราะอะไร ...โลกนี่ หรืออายุขัยของโลกนี่ หรืออายุขัยของจักรวาลนี่ มันไม่มีอายุ ...หมายความว่ามันไม่มีคำว่าหัวและท้าย คือมันไม่มีคำว่าสิ้นสุดหรือว่าดับเมื่อไหร่...ไม่มี

ถึงโลกนี้แตกโลกนี้ดับ เดี๋ยวการสังเคราะห์ขึ้นใหม่ของโลก ก็จะสังเคราะห์ขึ้นมาทดแทนอยู่ตลอด  จักรวาลนี้ดับ จักรวาลใหม่ก็จะเกิดขึ้น ...มันจะมีการทดแทนหมุนวนอยู่อย่างนี้

คือเป็นลักษณะของวัฏฏะ ไม่มีอายุขัยเลย เป็นอนันตกาล ...เหมือนอยู่ในความมืดมิด ไม่มีทางออกในตัวของมันเลย ...มันจะเป็นกฎตายตัวเลย

ตราบเมื่อมีพุทธะบังเกิดขึ้น คือการปรากฏขึ้นของพระพุทธเจ้า ...การบำเพ็ญบารมีครบ...สี่อสงไขยแสนมหากัป แปดอสงไขยแสนมหากัป สิบหกอสงไขยแสนมหากัป ...แต่ละองค์น่ะ 

แล้วบังเกิดขึ้น จุติขึ้น อุบัติขึ้น ...เหมือนมีความสว่างปลายไม้ขีด...จุดขึ้น...ท่ามกลางความมืดมิดในอนันตาจักรวาล ที่เป็นแสงสว่างให้เห็นถึงช่องทางออกจากความหมุนวนในจักรวาลนี้

แต่ว่าความสว่างนี้ ...ถ้าให้เปรียบนี่ เหมือนกับเท่าก้านไม้ขีด...อายุ ระยะเวลาเท่าก้านไม้ขีดไฟ ...แล้วตอนนี้...ครึ่งก้าน ผ่านมาครึ่งก้านแล้ว เกินครึ่งด้วย 

ถ้าว่าได้ดับไปแล้วนี่ ไม่ต้องถามว่าเมื่อไหร่...นับไม่ได้ ไม่รู้กี่ปี จึงจะมีแสงสว่างที่เป็นเหมือนก้านไม้ขีดนี่จุดมาท่ามกลางความมืดมิดในอนันตาจักรวาล

แต่การเกิดตายของพวกเรานี่ ที่ขี้เกียจ ที่อยู่นอกมรรค...มันไม่หยุด สลับเกิดดับต่อเนื่อง เปลี่ยนภพนี้เป็นชาตินี้  เปลี่ยนจากสัตว์บุคคลนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ...หมุนวนอยู่อย่างนี้ เป็นอย่างนี้นะ.


..................................




แทร็ก 10/25 (1)


พระอาจารย์
10/25 (560317F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
17  มีนาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  มันอยู่กันแบบกลัวตายน่ะ ไม่กล้าเผชิญความจริงมาตั้งแต่เกิดแล้ว แล้วก็ถูกปิดบังความเป็นจริงมาตั้งแต่เกิดว่า...อายุยืน ขอให้อายุมั่นขวัญยืนนะคะ

มาขอพร กูก็ให้พรไป...อายุ วรรโณ สุขัง พลัง ...ตายแน่ๆๆ (หัวเราะกัน) จริงๆ น่ะคือการให้พรรึเปล่า หรือแช่ง  ...ก็ว่าได้พร อายุ วรรโณ สุขะ พละ

คือถ้ามีแต่อายุ ไม่มีวรรณะ สุขะ พละ จะอยู่ไปทำไมวะ ก็เลยต้องให้ ๔ อย่าง ...ถ้าให้อย่างเดียวนี่มันไม่รู้จะอยู่ไปทำไม อยู่ไป มีอายุแต่ไม่มีวรรณะ ไม่มีสุขะ แล้วก็ไม่มีกำลังวังชา พละ กูตายซะดีกว่า

เพราะนั้นพระเลยให้จนครบเลยสี่อย่าง อายุ วรรณะ สุขะ พละ ขาดไม่ได้  จะเอาแต่สุขะก็ไม่ได้ ไม่มีอายุ อายุสั้น อ้าว ไม่ชอบอีก ...มันจะเอาแบบต้องครบด้วยนะ

พอไม่ให้พรก็มีบังคับขอให้ให้พร ...คือเกิดมานี่เราแทบจะไม่ให้พรใครเลยนะ ด่าลูกเดียว...ตายแน่ๆคือกลัวทำไม มันตายอยู่แล้ว ตายหลอก แต่เผาจริง เข้าใจมั้ย ...ตายหลอกแต่เผาจริงนะ

เมื่อไหร่ที่มันจะตายจริงเผาจริงซะที มัวแต่เอ้อระเหยลอยชาย ลอยไปลอยมา ทั้งอัตตกิลมถานุโยค และกามสุขัลลิกานุโยค ...คือตกขอบมรรคอยู่ทั้งวี่ทั้งวัน ทุกวี่ทุกวัน ทุกขณะ

กลับมารู้ตัวได้ประเดี๋ยวนึง พอแล้ว มันเหมือนถูกจับฉีดยาวัคซีนรึไงฮึ ...รู้ตัวนี่ เดี๋ยวก็ "ฮื้อ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า" เนี่ย มันเป็นโรคอะไร มันเป็นโรคกลัวมรรคผลในการกระทำรึไง

แต่เป็นโรคที่ไม่กลัวมรรคผลในการคิด เออ คิดอยู่นั่น ไอ้ทำน่ะไม่ทำ เอาแต่ว่า “เมื่อไหร่จะได้สักที  เห็นคนโน้นก็อนุโมทนา สาธุ โสดาเกิดอีกแล้ว” เอ้า อยากเป็นๆๆ

เห็นอาจารย์องค์นั้น เขาว่า อ่านประวัติมา ท่านได้สำเร็จเมื่ออายุพรรษาเท่านั้นเท่านี้ ท่านทำอย่างนี้  อู้หู อยากเป็นๆๆ ...แต่ไม่ทำ ให้ทำก็ไม่ทำ

พอกลับมารู้ตัว เอาแล้ว อ่านนิดอ่านหน่อย เกิดศรัทธา แต่แบบศรัทธาหัวเต่า ค้อนตอกสิ่ว โป้งๆๆ รู้ตัวๆๆ แล้วก็...เบื่อออ ได้แค่นี้ ...แล้วก็มานั่งจมตายหายอยู่กับความอยากนี่

ถ้ามรรคผลนิพพานมันได้ง่ายๆ อย่างนี้ มึงไม่ต้องมาเกิดแล้ว ไม่ต้องมาฟังธรรมแล้ว พระอรหันต์เต็มโลกแล้ว

แต่นี่พระอรหันต์สักองค์หาแทบไม่ได้ หารสองใส่สแควร์รูท ร่อนด้วยเครื่องร่อน ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ยังหาแทบไม่เจอเลย ...ถ้ามันง่าย มันก็มีเยอะแยะเต็มโลกแล้ว แบบขายตามท้องตลาด

อย่างสมัยพระพุทธเจ้า ในชุมชนนี่ ถ้าเดินมาเอาหินปาลงไปนี่...โอ้ย โสดา..อย่างต่ำนะ ... โยนไปอีกที ปึ้ง...อรหันต์นะโว้ย ...เอ้า มันเยอะกันขนาดนั้นน่ะ

แต่สมัยนี้โยนหินไปนี่ โดนต่อยทันทีเลย โดยฉับพลันทันด่วน ดีไม่ดีโดนยิงซ้ำอีก มันตามมายิงถึงบ้านเลย เนี่ย มันเปลี่ยนกัน...มันเปลี่ยนแบบสวนทางกัน

ทั้งๆ ที่ความรู้นี่เต็มโลกเลยนะ คือโสตทัศนศึกษานี่ถึงที่ อยากรู้อะไร หมวดไหน อาจารย์องค์ไหนทำอะไร นี่ กดปึ้กๆๆ เอ็นเตอร์ปึ่ก รู้หมด 

แต่โง่ กลับโง่ลง อรหันต์น้อยลง โสดาน้อยลง อริยจิตน้อยลง มรรคผลไกลขึ้น ห่างขึ้น ยากขึ้น มันเป็นยังไงกัน ...เพราะอะไร ...เพราะมันรู้ไม่จริง มันรู้จำกับรู้คิดมาก

สมัยพระพุทธเจ้านะ เขียนหนังสือกันยังไม่เป็นน่ะ พระธรรมคำสอนก็ไม่มีการก๊อปปี้ไปฟังไปอ่านได้ทุกที่...ไม่มี ไม่รู้จัก ศีลไม่รู้จัก สมาธิไม่รู้จัก มรรคไม่รู้จัก เอาแต่ทำมาหากินอย่างเดียว

พอเขาบอกว่า “พระพุทธเจ้ามาแล้ว” นี่ เขาบอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ น่าเชื่อ เออ เป็นผู้ตรัสรู้ขึ้นมาเอง ผิวพรรณวรรณะผ่องใส ดูดีกว่าพราหมณ์เยอะแยะ ...ก็ไปลองดูสักหน่อย

ไปทั้งที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ปริยัติ หรือวิธีของการปฏิบัติก็ไม่มี ...ไปด้วยศรัทธาความอยากรู้อยากเห็น แค่นั้นแหละ มีความอยากอยู่แค่นั้นน่ะ

ฟังธรรมกันก็ฟังแบบ ไม่เคยฟังมาก่อนน่ะ ฟังครั้งแรก ไม่มีเรื่องปฏิบัติอยู่ในหัวสมองเลย ไม่มีกระทั่งสัญญาว่า ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ ชอบ-ไม่ชอบ ควร-ไม่ควร มีวิธีทางเลือกอื่นมั้ย ...ไม่รู้  ฟังอย่างเดียว

ฟังครั้งแรก ก็ใคร่ครวญตาม...ไม่ดื้อ จิตไม่มี...อย่างพวกเรามันดื้อเพราะอะไร หือ เพราะมันมีทางเลือก แล้วมันเคยทำแล้วมันได้ผลในทางเลือกที่มันเคยทำ มันดื้อแล้ว

แต่นี่ไม่ดื้อ เพราะไม่เคยทำ ก็ฟัง...ใคร่ครวญตาม เรียกว่าสุตตะก็ดี จินตามยปัญญาก็เกิด ไม่ต้องรอกลับบ้านด้วย ภาวนามยปัญญาลงไปหยั่งถึงกายใจปัจจุบัน ณ ขณะนั้น

พระพุทธเจ้าว่าทุกขสัจก็ทุกขสัจ คืออาการที่ปรากฏขึ้นท่านว่าทุกขสัจ...ให้กำหนดรู้...ก็กำหนดรู้ ...นี่ ว่านอนสอนง่ายนะ แต่ว่าสอนง่ายตามธรรม ไม่ใช่ถูกชักจูงไปโดยคนที่ไม่รู้

พอบอกว่าทุกข์ให้กำหนดรู้ ...อะไรเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าก็พูดอธิบายให้เข้าใจว่า ทุกขสัจ คือทุกข์ธรรมชาติ คือทุกข์ตามความเป็นจริง

ยกตัวอย่างเช่นเจ็บไข้ได้ป่วย ไอจาม ลุกนั่งเคล็ดขัดยอก ปวด เมื่อย หิว กระหาย อิ่ม ร้อน หนาว เย็น อุ่น แข็ง หนัก เบา เหล่านี้ ท่านเรียกว่ามันเป็นทุกข์ธรรมชาติ

คือเป็นทุกข์ตามปกติ หรือเหตุการณ์ที่เป็นปกติของการที่มีกายอย่างนี้...มีทุกคนไป  หนีไม่ได้ แก้ไม่ได้ ...ไม่ต้องไปทำอะไรกับมันทั้งสิ้น

ไอ้คนฟังก็นั่งฟังพนมมือแต้ ...มันไม่มีทางเลือกนี่ เพราะไม่เคยทำอะไรเลย  จิตมันก็..เออ เห็นแล้วๆ  แล้วพอเห็นแล้วก็สงสัยมาแล้วว่า ...แล้วจะทำยังไงกับมันล่ะ

พระพุทธเจ้าก็จะบอกเลยว่า เมื่อเห็นว่ามีอาการของกายเป็นทุกข์อย่างนี้  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหวไป นิ่งมา เป็นก้อนเป็นกองอยู่อย่างนี้

นี่ ไม่ต้องไปแก้ไข ไม่ต้องไปต่อต้าน ไม่ต้องไปดีใจเสียใจ ยินดียินร้าย ...แต่ท่านบอกเพียงแค่ รู้อยู่เฉยๆ

พวกนั่งฟังก็ไม่ใช่ฟังเข้าหูซ้ายออกหูขวา ฟังด้วยปฏิบัติด้วย เข้าใจด้วย อ่อนน้อมถ่อมตน ทำตามเลย
...ไม่ว่านอนสอนยาก ไม่ดื้อไม่ด้าน ไม่คัดง้าง ไม่ลังเลสงสัย 

ท่านบอกว่ารู้เฉยๆ ให้กำหนดรู้ ก็กำหนดรู้ ...แล้วลักษณะที่กำหนดรู้ ตรงนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า การกระทำอย่างนี้เรียกว่ามรรคปฏิปทา

หรือการดำเนินไปในองค์มรรค เรียกว่าทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา...สองสิ่งท่ามกลางกายกับใจ เป็นเพียงแค่ผู้รู้ผู้ดูผู้เห็นเฉยๆ

นี่ ทุกคนก็ฟังด้วยความสงบ แล้วน้อมนำ ไม่ดื้อแพ่ง ระหว่างนั้นน่ะ น้อม...ด้วยศรัทธาที่ไม่ดื้อแพ่ง

แต่จิตยังดื้อแพ่งโดยสันดาน คิด สงสัยยังมี...อย่างนั้นดีมั้ย อย่างนี้จะใช่มั้ย แล้วจะทำยังไงต่อไปดีมั้ย แล้วกลับบ้านไปจะทำอย่างนี้รึเปล่า แล้วอยู่กับเมียจะทำยังไงดี ถ้าเกิดคนนั้นคนนี้จะมาจะทำยังไง

พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ในขณะที่ดำรงอยู่ในองค์มรรคนี่ หรือประกอบเหตุแห่งมรรคอยู่นี่ มันจะมีอาการของความอยากทะยานของจิตเกิดขึ้นมา ที่เรียกว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

คือความอยากโลดแล่นไปในอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ที่ห่างไกลบ้าง ที่ใกล้บ้าง ที่เหนือกว่าบ้าง ที่ประเสริฐกว่าบ้าง  ที่ต่ำกว่าบ้าง ...เหล่านี้พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านเรียกว่า ทุกขสมุทัย

ไอ้จิตที่มันขี้สงสัยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ก่อนเกิดมาเป็นคนในยุคสมัยนี้ มันก็สงสัยขึ้นมาอีกว่า เนี่ย  แล้วจะทำยังไงกับมันดีล่ะ

พระพุทธเจ้าท่านก็เทศน์ว่า ให้ละซะ วางซะ ...ท่านใช้คำว่า สละออก...จาโค ปฏินิสสัคโค  จนกว่ามันจะเป็น มุตติ และ อนาลโย

คำว่า “มุตติ” แปลว่า หลุดพ้น  คำว่า “อนาลโย” แปลว่า ไม่หวนกลับมาซ้ำเดิมอีก คือมาอยากในแบบเก่าๆ อยากแล้วอยากอีก อยากซ้ำซาก ...จนมันไม่อยากซ้ำเดิมอีก เนี่ย ท่านเรียกว่า อนาลโย

แต่ระหว่างที่มันจะเกิดความวิมุติและอนาลโย หรือมุตติ อนาลโย ...ระหว่างนั้นจะต้องอยู่ด้วย จาโค ปฏินิสสัคโค สละละวางอยู่ตลอด ในอาการเหล่านี้ๆ

คือที่มันทะยานออกมาระหว่างที่เหล่าท่านทั้งหลายกำลังเจริญ หรือประกอบเหตุในองค์มรรค คือเจริญศีลสติสมาธิปัญญา ณ รู้ปัจจุบันกับสิ่งที่ถูกรู้ในปัจจุบัน คือการปรากฏขึ้นแห่งทุกขสัจคือกาย

นี่ คนนั่งฟังนั่นก็ไม่ได้นั่งฟังเฉยๆ ปฏิบัติพร้อมไป ดูไป ละไป  จากที่ว่า “เออ เดี๋ยวกลับบ้านจะไปหุงข้าวให้ลูกผัวกิน แล้วระหว่างเอาข้าวให้ลูกผัวก็จะมีสติ ก็จะทำอย่างนี้ด้วย”

 ก็...เอ๊ะ นี่มันคิดนี่หว่า ปึ๊บ...ละ  อยาก..ละ วางซะ กลับมารู้อยู่กับทุกขสัจ...ที่กำลังนั่งพนมมือแต้อยู่นี่

ประกอบเหตุอย่างนี้ๆ ระหว่างที่ฟังพระพุทธเจ้าท่านก็เทศน์ไป สั้นบ้างยาวบ้างแล้วแต่จำนวนคนที่มันยังสงสัยในแง่มุมนั้นแง่มุมนี้ ...ไอ้คนฟังก็ทำไป ไม่สงสัยไม่ลังเล


(ต่อแทร็ก 10/25  ช่วง 2)