วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 10/41


พระอาจารย์
10/41 (560420D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
20 เมษายน 2556


พระอาจารย์ –  ทั้งหมดนี่คือการภาวนา...ที่ไม่อาศัยรูปแบบ และเวลา ...แต่อาศัยความตั้งใจใส่ใจ ...ต้องมีอย่างมากคือความตั้งใจในตัวเอง

ยืนก็ตั้งใจยืน เดินก็ตั้งใจเดิน ยืนก็ตั้งใจรู้ นั่งก็ตั้งใจรู้   ไม่ปล่อย ไม่หลวม ไม่เว้นวรรค ไม่อ่อนข้อ ไม่รามือ ...มันต้องอยู่ด้วยความตั้งใจตลอด จนวันตาย

ตั้งใจทำ ตั้งใจพูด ตั้งใจคิด ทุกอย่างต้องทำด้วยความตั้งใจ มีสติ ...แม้แต่การเห็น การได้ยิน  ก็ตั้งใจดูตั้งใจฟัง ตั้งใจพูด  ทุกอย่างต้องมีความตั้งใจอยู่ตลอด มันจึงอยู่กับเนื้อกับตัวได้

ไม่ใช่ทำเอาแบบลวกๆ ตามความเคยชิน หูไปทาง กายไปทาง ใจไปทาง หรือไม่มีกายมีแต่จิตที่มันร่อนเร่พเนจรไปมา แล้วก็มีแต่กายที่ไหนก็ไม่รู้ลอยไปลอยมา ทำนู่นทำนี่ไปมาในจิตอยู่นั่น

ไม่ยาก-ไม่ง่าย แต่โคตรเหนื่อยเลย บอกให้ ...เพราะอะไร เพราะมันเป็นการที่ต้องใช้เวลาในการบ่ม คำว่าบ่ม...รู้จักคำว่าบ่มอินทรีย์มั้ย มันใช้เวลาพอสมควร

อย่ามักง่าย อย่าเอาเร็ว อย่าด่วนสรุป อย่าเพิ่งเชื่ออะไรในจิตที่มันปรากฏขึ้นมา เอาวางไว้ก่อน อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งกระโดดงับเหมือนหมางับกระดูกในสภาวะจิตที่เกิด หรือสภาวธรรมที่ปรากฏ

วางไว้แบบกลางๆ ไว้ก่อน แล้วก็มาจดจ่อแน่วแน่อยู่กับสภาวธรรมที่เรียกว่ากาย...สมมุติว่ากาย

สภาวธรรมนี้เป็นสภาวะแรก เป็นสภาวะเอก เป็นสภาวะหนึ่ง เป็นสภาวะจริงที่สุดแล้ว ที่ไม่มีอะไรมาลบล้างได้...แม้แต่จิต แม้แต่สภาวะจิต

แต่เวลาหลงเข้าไปในสภาวะจิตเต็มๆ นี่ กายหายไปเลย หากายไม่เจอเลย ทั้งๆ ที่ว่ากายจริงๆ มีอยู่ ...นี่ ความปกปิด ปิดบังของจิต เข้าไปบังกายได้ถึงขนาดนั้น

แล้วยังไปหลงสภาวะจิตในนั้นอีกว่าดี ...ไม่เห็นหรือไงว่ามันปิดบังความเป็นจริง ล้วนๆ เลย ปิดบังศีลเต็มๆ เป็นจิตบังตา บังธรรม บังปัจจุบัน บังสัจจะ บังปรมัตถ์สัจจะ บังสมมุติสัจจะในปัจจุบันเลย

แต่กลับไปยินดี เออออห่อหมก เคารพนบนอบต่อสภาวะจิตนั้นๆ  ซึ่งมันก็...จริงๆ แล้วคืออะไร ก็คือแค่อารมณ์หนึ่ง ชั่วคราวประเดี๋ยวหนึ่งเท่านั้นเอง

แต่ที่มันเข้าไปให้ค่าให้ราคาไว้ของมัน มันเกิดการเข้าไปผูกสมัครรักใคร่ ยินดีพอใจ แล้วก็ต้องการที่จะหวนคืนมาครอบครอง มามีมาเป็นขึ้นมาอีก

มันกลับกลายเป็นไปว่า ภาวนาเพื่อมาปิดบังตัวเอง มาปิดบังความเป็นจริงของตัวเอง ของตัวเรา ของตัวกาย

ถึงว่าถ้ากายไม่หาย แต่ว่าไม่ถึงฝั่ง เพราะยังมีเวทนา เพราะมันยังปวดอยู่ ...วันไหนที่ภาวนาแล้วลืมกาย ลืมเวทนา คือหายไปเลยนี่ ...อู้ย ใช่เลยแหละ โคตรดีเลยกู วันนี้หน้าบานเลย

ใครถามว่าภาวนาดีมั้ย ดีมากๆ มันจะตอบแบบ อื้อหือ พอง...เหมือนอึ่งอ่างน่ะ พูดได้โดยไม่อายปากจริงๆ ภูมิอกภูมิใจ แต่ไม่เคยสังเกตตามต่อนะว่า มันเริ่มค่อยๆ เหี่ยวลง มัวลง

รักษาแทบตาย หรือบางทีก็ไม่รักษา มันลำพองใจ มันเกิดความลำพอง ...แต่ว่าธรรมคืออยู่ในสภาพของความดับไปเป็นธรรมดา มันไม่เห็น มันไม่จับพิรุธตรงนี้ได้

แต่ว่าพอหายไปแล้ว รู้แล้ว รู้ตอนหายไป พอมาสักพัก...เสียดาย ผลตามมา อารมณ์ตามมา หวง ห่วง แล้วมันหาย มันเกิดเสียดาย เกิดความใคร่ที่จะให้มีมาใหม่

อำนาจของตัณหาความทะยานอยากเริ่มเพาะตัว ถ้าขยันเร็วก็เพียรก็เกิดตรงนั้น ก็กลับไปเอาจริงเอาจังให้มันเกิดขึ้นมีเป็นใหม่ มันเรียกว่าเร่งความเพียร แต่เราเรียกว่าเร่งความอยาก

คนละคำกับความเพียรของเราไอ้ความเพียรที่ว่า เดี๋ยวต้องทำให้ได้ระดับนั้น เราบอกว่านั่นน่ะเร่งความอยาก อยากได้ อยากเกิดสภาวะเหมือนเดิม ยิ่งกว่าเดิม  ยิ่งบังกายได้เท่าไหร่ยิ่งดี

ไม่รู้มันเอามรรคเอาผลข้อไหนมาเป็นมาตรฐานของมัน ไม่รู้มันเอาพระพุทธเจ้าองค์ไหนมา เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าตรงไหนมา ...คือนั่งภาวนาปึ๊บ หลับตาปั๊บ ทิ้งศีลทันทีปุ๊บเลย

แต่ลึกๆ มันยังบอกนะ สมาทานศีล ๕ อยู่ มีศีล ๕ ครองอยู่  ผ้าขาวก็ ๘ ถ้าพระก็ ๒๒๗ นี่ ยังมีอยู่ ...เราก็ถาม มันมีอยู่ตรงไหนหือๆ ขอดูหน่อย  ไอ้ ๕ ไอ้ ๘ มันอยู่ตรงไหน อยากเห็น

เอาหลักฐานไหนมายืนยันว่ามีอยู่ หือ คิดเอาเองรึเปล่า มั่วรึเปล่า เข้าข้างตัวเองเกินไปรึเปล่า หย่อนบัตรลงคะแนนให้ตัวเองมากเกินไปรึเปล่า เออะ เชื่อกันแบบนั้น

แต่ถ้าถามว่าศีลที่ยืนยันได้อยู่ที่ไหน ...กายมีมั้ย ปวดมั้ย แข็งมั้ย นิ่งมั้ย เออ อันนี้ยืนยันได้เว้ย ว่ามีหรือไม่มี ...ถ้าไม่มีก็หายน่ะ ถ้ามีก็รู้น่ะ เห็นน่ะ เอ้า เหตุแห่งกายก็ปรากฏตรงนั้น

เพราะนั้นเหตุแห่งกายปรากฏตรงนั้น หมายความว่าเหตุแห่งศีลก็อยู่ที่นั้น ความว่ากายก็คือคำว่าปกติกายนั่นเอง

เมื่อใดที่ไม่มีความเป็นปกติกาย ทิ้งความปกติกาย ออกจากความปกติ ออกจากรู้และเห็นความปกติกาย...ขาดจากศีล ...เนี่ย มันจะเอาอะไรมาเถียงศีลได้ ว่าศีลขาดน่ะขาดตอนไหน

ไอ้ตอนนั่งอยู่แล้วมันว่าศีลไม่ขาด เอาอะไรมายืนยันว่าศีลไม่ขาด ก็ว่ายังไม่ขาดเลยสักข้อน่ะ แปดข้อ สิบข้อ เอาอะไรมายืนยัน กล่าวอ้างลอยๆ รึเปล่า

มันถือศีลแบบลอยๆ รึเปล่า คิดเอาเองรึเปล่า มั่วรึเปล่า ทำไมไม่แยบคายในศีล

แต่ถ้ามาลงที่กายเป็นศีล กายเป็นปัจจุบัน ทุกคนเท่ากัน เหมือนกันหมด ศีลเดียวกันหมด เสมอกันหมด เป็นอันเดียวกันหมด แบ่งแยกไม่ได้ จิตจะมาจำแนกว่าดีร้ายถูกผิดกว่ากันไม่ได้

นี่ ศีลเป็นหนึ่ง ศีลเป็นเอกอย่างนี้...อ๋อ หายโง่ไประดับหนึ่งแล้ว ...ทีนี้พอหายโง่ รู้ว่าศีลที่แท้จริงคืออะไร อธิศีลคืออะไร ทีนี้ลงทุนแล้ว

รักษาแบบ...ถ้ารู้ว่าดีจริง ถ้ารู้ว่าเป็นศีลจริงน่ะ To die for เลย  เป็นตายร้ายดีกูก็จะไม่ทิ้งศีล ...มันก็อยู่กับความรู้ตัวๆๆๆ โดยไม่ขาดตอน

ไอ้ตัวก็คือตัวนี้แหละ ไม่ใช่ตัวไหน ตัวอดีต ตัวอนาคต ไม่ใช่ตัวข้างหน้าข้างหลัง ตัวคนอื่น ตัวนี้คือตัวกายตัวศีล ตัวปกติ ตัวปัจจุบัน ...มันเป็นเครื่องยืนยันความเป็นปัจจุบัน

ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญาแปลว่าไม่มีปัจจุบัน ถ้ามีตัวแปลว่ามีศีลสมาธิปัญญา แปลว่ามีปัจจุบันปรากฏ ...ถ้ามีปัจจุบันปรากฏแปลว่ามีความจริงอยู่กับปัจจุบัน ให้เห็น ให้รู้ ให้ดู ให้ทำความเข้าใจ แยบคาย และรู้แจ้ง

ทั้งหมดทั้งปวงก็คือสัจธรรมนั่นเอง ศีลสมาธิปัญญาจึงเป็นตัวที่ขึงพืดสัจธรรมให้ปรากฏ ...มันจะไม่เห็นอานิสงส์ของศีลได้ยังไง จะไม่เห็นอานิสงส์ของไตรสิกขายังไง

ถ้าไม่มีไตรสิกขา ศีลสมาธิปัญญา ...มันไม่มีทางที่จะตีแผ่ความเป็นจริงได้เลย

แล้วมันจะไปภาวนานอกศีลสมาธิปัญญา เพื่อไปค้นหาความเป็นจริงที่ไหนเล่า แล้วมันจะเจอความเป็นจริงที่ไหนเล่า แล้วมันจะเข้าใจความเป็นจริงกับอะไรเล่า ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่จริงทั้งสิ้น

นั่งรู้ดูเห็นก้อนนี้ ตั้งแต่เช้า...ก่อนเช้า เช้ามืด จนเย็น ก็ไม่เปลี่ยนที่ดูที่รู้ ...กิเลสจะแน่ หลงจะแน่ โมหะจะแน่ หรือสติจะแน่กว่ากัน...ฝึกเอา ทำเอา ช่วยไม่ได้ ตัวใครตัวมัน

ให้เครื่องมือแล้ว อธิบายถึงการใช้เครื่องมือแล้ว...ทำเอา  มีมือมีตีนก็กระพุ้งน้ำไว้ก่อน ...แล้วมันก็จะต้องทวนกับกระแสน้ำที่มันจะพัดพาสู่ทะเลกว้าง ทะเลไกล

มันก็ทวนเข้าหาฝั่ง จะได้ข้ามฝั่ง จะได้ถึงฝั่ง ...ที่ไม่มีกระแสพัดหมุนวน ลากจูงออกไปจมกลางมหาสมุทร...โอฆะแห่งสงสารนั่นเอง

ทวน ...พาย มีมือพาย มีตีนพาย สองแขนสองขา กายหนึ่งนี่เป็นตัวศีล เป็นตัวพายเข้าหาฝั่ง ...ซึ่งมันต้องทวนกระแสแน่ๆ เดี๋ยวกล้ามขึ้นเป็นมัดๆ

ทีนี้ไม่กลัวกระแสแล้ว แข็งแรงแล้ว แข็งแรง เขาว่าซิกแพ็ก กูเซเว่นแพ็กอ่ะ แข็งแรงขึ้น เพราะมันออกแรงทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นเช้ายันหลับตานอน ตื่นเช้าขึ้นมาใหม่ เอาใหม่ ดูไปใหม่

มันก็แข็งแรง สติก็แข็งแรง สมาธิจิตก็ตั้งมั่นแข็งแรง ปัญญาก็ชัดเจน แจ่มใส ไม่รู้ไม่ชี้กับโลก กับผัสสะ กับอายตนะ แจ่มใสอยู่ภายใน

ไหนเป็นกาย ไหนเป็นรู้ก็แจ่มใส ...มันเหมือนเดินคู่ขนานกันระหว่างกายใจ มีช่องว่างระหว่างการเป็นสุญญตา

เราพูดไปนี่ อย่าคิดตามนะ เดี๋ยวมั่ว ...ให้มันเป็นก่อน ให้มันเห็นก่อน แล้วมันจะเข้าใจเอง ... ไอ้ตำรับตำราที่เขาเขียนมาหลอกคนอ่านให้โฆษณาชวนเชื่อ มันคืออันนี้นี่เอง

ตอนแรก เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ...พอถึงตรงนี้ อ๋อ แล้วก็ทิ้งตำราไป ฉีกตำราไป...ฉีกทิ้งจากสัญญา ลบสัญญา ความจำได้หมายรู้ในสังขารธรรมที่บัญญัติเป็นภาษาสมมุติ

ถ้าอย่างนี้ กิเลส พญามาร มัจจุมาร ก็จับไม่ได้ ...แน่หรือไม่แน่ล่ะมรรค ศีลสมาธิปัญญา ที่เรียกว่าธรรมาวุธ ปัญญาวุธ เป็นอาวุธที่พญามาร กิเลสมารนี่กลัวมากๆ เจอเป็นตาย ตายแล้วไม่ค่อยฟื้นด้วย ตายแล้วตายเลย

แต่พวกเล่นดองเค็มน่ะ แล้วไปหาถังดองใหม่อีกต่างหาก มันจะได้บรรจุผักกาดดองหรือตัวเราน่ะมากๆ จะได้อยู่ยั้งยืนยงไปจนถึงอรูปพรหมเลย...สำเร็จแล้วกู ไม่มีกาย ไม่มีจิต สบาย

นั่น ความรู้ไม่มีประมาณ...สบาย ว่างไม่มีประมาณ...สบาย นี่เขาเรียกว่าเข้าไปแช่โอฆะสงสารด้วยเกลืออย่างยิ่ง ทั้งทะเลเลย เค็มหมดเลยแหละ ทะเลถึงเค็มอยู่ทุกวันนี้

นี่แหละภาวนา อยู่ในหลักเดียวนี้ ...หาหลักให้เจอ จับหลักให้ได้ แล้วก็ปักหลักให้มั่น ก็จะเรียกว่าได้หลักได้เกณฑ์ขึ้นมาภายใน ...อย่าไปแบกเสาหามเสา มันหนัก ให้มันได้หลัก พอแล้ว

อย่าไปเอาเสา อย่าไปเอาจั่ว จั่วก็ไม่เอา เสาก็ไม่เอา เขาว่ารักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา คือกูไม่เอาทั้งจั่ว แล้วกูก็ไม่เอาทั้งเสา ...แต่กูเอาหลัก ศีลสมาธิปัญญาเป็นหลัก ก็เลยไม่เอาทั้งจั่ว ไม่เอาทั้งเสา

ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา กุศล-อกุศลก็ไม่เอา จิตดีก็ไม่เอา จิตร้ายก็ไม่เอา เอาแต่รู้..กับกาย นั่นเขาเรียกว่าหลัก จนกิเลสมันยอมต่อหลักนี้ มันไม่ออกนอกหลักนี้ มรรคก็จะแข็งแกร่งขึ้นเอง

พอแล้ว ไปอยู่กับตัวเอง จนวันตาย เกิดใหม่ดูต่อ ...เอาจนว่าใครตายก่อนกัน


.....................................




วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 10/40 (2)


พระอาจารย์
10/40 (560420C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
20 เมษายน 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 10/40  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ทุกคนน่ะ มันจะเป็นอย่างนั้น แล้วก็จะเดินวนซ้ำซากเหมือนเขาวงกตอย่างนั้น ถ้าไม่ได้รับการชี้แนะให้เดินบนเส้นทาง เรียกว่าครรลองแห่งมรรค หรือวิถีแห่งมรรค

ให้เลิก หยุดคิด หยุดค้น และหยุดหาแม้กระทั่งกายปัจจุบัน ไม่ต้องหาน่ะ รู้ลงไปเลย หยั่งลงไปเลย หยั่งรู้ดูเห็นลงไปเลย ...มันจะเจออะไร เป็นยังไง นั่นล่ะใช่

อย่าสงสัยว่า เอ๊ะ นี่ใช่กายรึเปล่าวะ ก้นน่ะ เอ้า มันจะเป็นความรู้สึกที่ตูดที่ก้นก็ถือว่านั่นแหละใช่แล้ว ไม่ต้องมาละเอียดแบบเป็นลมขั้นละเอียดหรอก

ก็มันเห็นเป็นก้น เป็นแน่นที่ก้น เป็นแข็งที่ก้น ทำไมล่ะ มันหยั่งลงไปแล้วเจอความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกแรก ก็ดูมันไป มันหน้าด้านอยู่กูก็หน้าด้านดูมันล่ะวะ

แน่ะ ต้องว่ากันอย่างนั้นเลย ไม่ลังเลสงสัยในธรรม ไม่ลังเลสงสัยในศีล ไม่เคลือบแคลงในศีล ไม่ค้นหาศีลใหม่ ...รู้ลงไป มันปรากฏยังไงก็ยังงั้น ไม่ต้องหาแล้ว

มันก็จะเป็นการปฏิบัติที่พร้อมกับการทำลายซึ่งความลังเลและสงสัย ...ก็มันปรากฏเท่านี้ก็เท่านี้แหละ มันไม่เป็นลม ก็ไม่ต้องไปดึงให้มันเกิดความรู้สึกที่ลม หรือความรู้สึกที่ละเอียดเบาตรงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

เพราะนั้นเวลานั่งนานๆ นี่  ตรงแรกๆ เลย คือแข็ง แน่น ตึง แล้วก็อ้าว อบอ้าว ...ไม่ต้องไปปัดเป่ามันหรอก อย่าไปทำตัวเป็นผู้วิเศษมีเวทย์มนต์คาถาจะปัดเป่าความอ้าว ความตึง ความปวดนี่ให้หายไปได้

ก็รู้มันไปเฉยๆ มันปรากฏขึ้นเฉยๆ ตั้งอยู่เฉยๆ ก็รู้มันไปเฉยๆ  มันไม่ดับก็ไม่ดับ ...ไม่ต้องไปจัดการอะไรมันหรอก แล้วไม่ต้องไปวิเคราะห์วิจารณ์มันหรอก

เพราะเขาปรากฏด้วยความสงบ เงียบ วิเวก ไม่มีแม้กระทั่งอัตลักษณ์ ตัวตน ความหมาย เนมมิ่ง มีนนิ่ง(namming, meaning) สัญลักษณ์ ภาษา คุณค่าดีร้ายถูกผิด...ไม่มี

เอากันให้นานๆ หน่อย เอาสติผูกไว้ มัดไว้ เหมือนเชือก เอาให้แน่นหน่อย ...อย่ากลัวเพ่ง ต้องการให้เพ่ง ต้องการให้เพียรเพ่งอยู่กับกายเดียว ...ถ้าไม่เพียรเพ่งอยู่ในกายเดียว มันจะไปมีหลายกายขึ้นมาอีก

คำว่าหลายกาย คือกายอดีต กายอนาคต กายคนอื่น ...ซึ่งไม่ใช่กายจริง ไม่ใช่กายมหาภูตรูป ไม่ใช่กายที่เนื่องด้วย ประกอบด้วย สังเคราะห์ด้วย ปรุงด้วยมหาภูตรูป

เรียกว่ากายนั้นเป็นกายหลอก เรียกว่ากายนั้นเป็นกายสังขาร เรียกว่ากายนั้นน่ะเป็นกายสักกาย เรียกว่ากายนั้นน่ะเป็นกายปรุงแต่ง...จากจิตผู้ไม่รู้

อบๆ อ้าวๆ นี่แหละดีแล้ว ดูมันเข้าไป ไม่ต้องเปลี่ยนที่ เปลี่ยนก็อ้าวไม่เปลี่ยนก็อ้าว ทำไม ชัดจะตาย ...ในอ้าวมันมีคิ้วมั้ย มันมีหน้ามั้ย มันมีหน้าของเรามั้ย หน้าของอ้าวมันเป็นยังไง อยากดู

ดูมันซิ มันมีหน้าเหมือนเรามั้ย มันมีเพศมั้ย มันมีวรรณะมั้ย มันมีสีสัน มีทรวดทรงมั้ย...ไม่มี มีแต่เป็นอะไรแผ่ๆ กว้างๆ ไม่รู้ตรงไหนด้วย มันเป็นความรู้สึกที่อยู่ลอยๆ น่ะ

แล้วก็อย่าเบื่อนะ เพราะสักพักมันชักจะเริ่มเบื่อแล้ว จิตมันจะพาไปดูอย่างอื่น...ส่าย เห็นความส่ายมั้ย เดี๋ยวมันจะส่าย  ตบโหลกจิตมัน...ไม่เอา แค่อ้าวนี่ รู้แค่อ้าวพอแล้ว 

รู้จักคำว่าพอซะบ้าง มึงสะกดคำว่าพอดีเป็นป่าว พอๆ รู้แค่นี้พอ ...มันจะว่า...เอ๊ วันนั้นที่นั่ง เคยทำ มันสงบ อย่างนี้ไม่สงบ ...นี่ จะหาแล้วๆ จะหาความสงบ 

มันจะความสุขในสงบ เพราะไอ้อ้าวๆ นี่มันธรรมดา  พอรู้สึกว่าอ้าวมันก็เป็นความรู้สึกธรรมดา แล้วก็มีอารมณ์ธรรมดายืนพื้น ...นี่ยังดีนะแค่อ้าว ยังไม่ร้อน  ถ้าร้อนมันไม่ธรรมดายืนพื้นแล้วนะ

แต่เขาแสดงธรรมแค่นี้ ตอนนี้นะ ...เรียนรู้กับธรรมที่กายเขาแสดงแค่นี้ก่อน เรียกว่าบทที่หนึ่ง เรียนไปเรื่อยๆ บทที่ 1- 2- 3 สักสี่ชั่วโมงอ้าวนี่ เดี๋ยวบทที่ 4 มาแล้ว ..."โคตรปวดเลยว่ะ"

กูไม่รู้สึกอ้าวแล้ว กูรู้สึกโคตรปวดเลยว่ะไอ้ก้อนนี้ ...เอาแล้ว บทเรียนที่ 4 – 5 มาแล้ว กูไม่อ่านไม่ดูมันแล้ว จะเปลี่ยนเรื่องแล้ว จะปิดตำราลูกเดียวล่ะกู จะจบหลักสูตรให้ได้

เพราะลึกๆ นะมันจะว่า...ออกดีมั้ย เปลี่ยนดีมั้ยๆ เปลี่ยนหลายรอบแล้ว นั่น จะปิดตำราแล้ว เห็นมั้ย ...อันนี้ต้องว่ากันต่อหน่อย ต้องขืนกันหน่อย

เอาจนเรียกว่า ระหว่างที่เรียนถึงบทที่ 6 – 7 – 8 ขึ้นไปนี่  หาความสงบไม่ได้เลยน่ะ ต่อให้โคตรพ่อโคตรแม่พุทโธๆ ยังเอาไม่อยู่น่ะ ...เอามั้ยล่ะ เอากันตรงนั้น ต้องเรียนกันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันน่ะ

เห็นมั้ยว่าการภาวนานี่ ภาวนาแบบโง่ๆ นะ รู้แบบตรงไปตรงมา ทุกช็อตทุกเม็ด โดยไม่หลีกเลี่ยงเลยน่ะ ...ไม่นั้นมันจะเกิดความหมายหรือภาษาพูดตามมาหรือว่ารู้แจ้งในธรรม

ไม่ใช่มาแค่นี้ก็เลี่ยงแล้ว เอนแล้ว เบี่ยงตาหันหน้าหนีแล้ว นั่น ...จะไปไหนล่ะ ก็มันยังไม่จบบทเลยน่ะ ใช่มั้ย เดี๋ยวก็มาใหม่อีกแล้ว เอ้า ไม่มาตอนนี้ที่นั่งสมาธิ เดี๋ยวก็มาตอนตาย ...ก็ไม่แจ้งอยู่ดี

ก็ให้มันแจ้งซะก่อนตาย ก่อนขันธ์จะตาย ...ก็ว่ากันไปตามกำลัง แต่ให้เต็มกำลัง

เพราะนั้นในระหว่างที่เรียนรู้กับคำว่ากายเวทนา หรือกายที่เขาแสดงเวทนาให้เรียนนี่ ...ไม่ต้องไปหาความสงบเลยนะ ไม่ต้องไปเรียนรู้เรื่องคำว่าความสงบในกายเลยนะ

ตอนนี้มันกำลังแสดงความทุรกันดารให้เห็น นี้คือความจริง ...ถ้าไม่จริงมันไม่ปวดหรอก อย่าไปอยู่กับความไม่จริง อย่าหนีความจริง

อย่า...แม้กระทั่งคิดจะเอาชนะความจริง ...เพราะแค่คิดจะเอาชนะความจริง แค่คิดจะ...นี่นะ จากที่ว่าปวดนี่ จะเป็นโคตรปวดเลยว่ะ

แค่คิดนะ คิดจะเอาชนะมันเมื่อไหร่ จากที่มันปวดพอรับได้ พอทนได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าคิดว่า เอ๊ะ ทำไมไม่หายซักที แค่คิดนะ โคตรปวดเลย ไม่ไหวแล้ว กูเอาออกเลย ปึ้งเลย นั่นเลยๆ

แต่ถ้าไม่คิดนะ น่าจะอยู่ได้อีกซัก 5 นาที พอถึง 5 นาที แอ๊ะๆ อีก 10 หน่อยมั้ย ต่อรองหน่อย นี่ ต้องอย่างนี้นะ ไม่ใช่ 5 แล้วเมื่อไหร่ 4 – 3 – 2 – 1 นับถอยหลัง พอถึง 1 ปั๊บ ปึ๊ง ออกเลย

พอถึง 5 ที่หมายที่มั่นไว้ว่าจะเอาออกเมื่อได้ 5 นาที พอครบ 5 นาที อย่าเพิ่งออก เอาให้มันทรมานซะมั่ง ทรมานเรา ทรมานจิตซะหน่อย เอาพอเป็นกระสัย

เนี่ย เล่นไม้นวมก่อน เดี๋ยวพอเผลอมันก็กลับมาทรมานเราคืนอีก สลับกันไปมาอยู่อย่างนี้แหละ ...เอาจนมันเกิดความชำนิชำนาญ ทางเข้าทางออกในองค์มรรค

ยังไงเป็นสมุทัย ถ้าอยู่ยังไง วางจิตอย่างไร คิดอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นในระหว่างที่ปวด กำลังนั่งปวดนี่ แล้วมันทุกข์มากขึ้นนี่ มันจะได้เกิดปัญญาเห็นตามจริงว่าอะไรเป็นสมุทัย

แล้วเวลามันปวดมากๆ แล้วทำไมมันสามารถนั่งได้ยอมรับได้ สมุทัยมันดับไปตอนไหน อย่างไร เนี่ย มันก็เรียนรู้ความเป็นจริงของอริยสัจ...ภาคบังคับ

แต่ถ้ามันไม่อยู่ในภาคบังคับ หรือว่าฝึก มันก็ปล่อยเลยตามเลย มันก็อยู่ในแบบ...มันไม่ได้เรียนรู้อริยสัจ แต่มันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์น่ะ...คือเอาตัวรอด 

มันเอาตัวเรารอด เอาตัวเราอยู่สบาย เอาตัวเราดี ...มันจะอยู่โดยสัญชาตญาณนั้นซะมากกว่า

การภาวนานี่มันเป็นไปเพื่อมาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้นะ ...ไม่ใช่ให้ได้ดีได้เก่ง ไม่ใช่ให้ได้ผลแห่งธรรม ที่ว่าเลิศประเสริฐ ที่ว่าจะได้สบายซักที

ไม่สบายหรอก ทุกข์ไปจนวันตายน่ะอยู่กับกายก้อนนี้ ...ท่านเรียกว่ากายนี่เป็นทุกข์ โดยสภาพที่แท้จริงของตัวกายนี่ คือไฟ คือความเร่าร้อน ที่มันกำลังเผาไหม้ตัวมันเองตลอดเวลา

แต่ตอนนี้ ความเผาความไหม้ หรือว่าแรงที่เข้าไปเผาไหม้จนเกิดความเปื่อยสลายนี่ มันยังน้อยอยู่ มันเลยเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นความเร่าร้อนแต่ประการใด

ยืนเดินนั่งนอนยังพอเดินได้ ไม่เห็นมีความรู้สึกว่าติดขัดหรือเป็นทุกข์ ...มันจึงไม่เห็นว่ากายเป็นความเร่าร้อนเป็นทุกข์ยังไง

แต่ในระหว่างที่เรายังหนุ่มยังแน่น เราก็อาศัยการนั่งสมาธิเดินจงกรม ทั้งคืนอะไรอย่างนี้ หรือนั่งสมาธิหลายๆ ชั่วโมงนี่ ...คือไม่ได้เอาความสงบ แต่ให้เห็นกายที่แสดงความเป็นจริง 

จะได้เห็นที่หน้าตาตัวตนที่แท้จริงของกาย...คือความเร่าร้อน คือความทุกข์ หรือเวทนาที่แผดกล้าและแผดเผา

ก็จะได้บทเรียนใหม่ๆ ที่ไม่เคยเรียน และก็ไม่สามารถที่จะเผชิญหน้ากับมันได้ ....มันกลัว กลัวเราเจ็บ ทะนุถนอมตัวเราไว้ ทะนุถนอมอารมณ์ของเราไว้ ...มันกลัว

ความกลัวก็เลยไปทะนุถนอมตัวเรา แล้วเราก็ก้าวข้ามความกลัวไม่ได้ ไม่กล้า ไม่อาจหาญ ไม่จริงจัง ไม่ใส่ใจ ไม่ตั้งใจ มันก็กลัว

กลัวเจ็บ กลัวเราเจ็บ กลัวเราทุพพลภาพ กลัวเราพิการ กลัวเราเสื่อมสภาพเร็วไป กลัวเราตายเร็วขึ้น กลัวใช้ร่างกายหนักเกินไปแล้วจะใช้ต่อได้ไม่นาน ...มันกลัวไปหมดน่ะ

สุดท้ายเพื่ออะไร เพื่อทะนุถนอม “ตัวเรา” ที่ดี ที่งดงาม ที่สุขสมบูรณ์ ที่แข็งแกร่ง ที่ไม่เป็นทุกข์มีแต่สุขยืนพื้น ...สบาย อย่างน้อยก็ให้สบายๆ อยู่แบบง่ายๆ มักง่าย ไม่มีเรื่อง

เนี่ย มันก็หวงแหน “ตัวเรา” นั้นไว้ รักษาตัว หวงแหนตัวเราอย่างนั้นไว้ ความเป็นเรา ความเป็นของเรา ความเป็นตัวเรา ก็ยังคงถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วยอำนาจน้ำเลี้ยงของตัณหาอุปาทาน อยู่ยั้งยืนยงคู่โลกต่อไป

แต่ถ้ามีความพากความเพียร ความมั่นคง ความเชื่อมั่นในศีลสมาธิปัญญา ว่าจะเป็นไปเพื่อความจางคลายหลุดพ้นจากความเป็นเรา ออกจากความเป็นเรา สิ้นสุดซึ่งความเป็นเราแล้วนี่

ก็ต้องแลกกันหน่อย ไม่มีนิพพานง่ายๆ หรอก ไม่มีสำเร็จแบบบุฟเฟ่ต์ ไปหยิบเอาตามใจชอบ เพราะร้านนี้เปิดไม่คิดตังค์

ไม่มีหรอกนิพพานอะไรแบบ ...โห ชาตินี้วาสนาดี แป๊บเดียวสำเร็จแล้ว ไม่นึกไม่ฝันว่าจะสำเร็จได้เร็วปานนี้ ...ไม่มีหรอก ยาก ลงทุน ฝืด ฝืน

อยู่กับทุกข์ นั่งดูทุกข์ เห็นทุกข์ ในกาย ในผัสสะ ในอารมณ์ ในความแผดเผาของจิตที่เร่าร้อน ทั้งที่มันอยากและไม่อยาก และก็ไม่ตามความอยากและไม่ตามความไม่อยาก ...มันก็ยิ่งร้อนซ้ำร้อนลงไปอีก 

ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ...อยู่กับทุกข์ก็ทุกข์ เรียนรู้กับทุกข์ก็ทุกข์ ออกจากทุกข์ก็ทุกข์  มันทุกข์ตลอดสายน่ะ ไม่มีที่ไหนสบายหรอก

มันพอได้พักผ่อนตอนนอนหลับน่ะ ตื่นมาก็เตรียมตัวได้เผชิญเลยกับทุกข์ที่จะต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเสมอ แล้วก็คอยเห็นอาการวิปริตผิดสำแดงของโลก ของกาย ของผัสสะที่จะกระทบ

ไม่รู้วันนี้จะโดนชมหรือโดนด่า ไม่รู้ว่าวันนี้จะเจอใครหรือไม่เจอใคร ...ต้องเตรียมไว้เลยน่ะ ต้องเจอกับสภาพที่ไม่แน่นอน ไม่ดั่งใจหรือดั่งใจอยู่ได้ไม่นาน

ขนาดอยู่ในป่าแล้วยังเป็นทุกข์เลย...เสือกยุงเยอะ กะว่ามาหน้านี้แล้วไม่มียุง ดันมียุง อย่างนี้ ใครจะไปรู้ล่ะใช่มั้ย ...มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ มันมีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้นแหละ อย่าไปหาที่มันไม่มีทุกข์เลย

มันมีที่เดียวที่ไม่เป็นทุกข์ หรือทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้คือที่ใจ ...แล้วมันถ้าไม่อยู่ที่ใจ ถ้าไม่เห็นใจ ถ้าไม่ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ ถ้าไม่อาศัยใจเป็นสรณะที่พึ่งที่อยู่ที่อาศัยแล้ว มันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ หนีไม่พ้นหรอก

เพราะนั้นอยู่ที่รู้ ตั้งอยู่กับรู้ แม้จะทุกข์อยู่เบื้องหน้า ต่อหน้ามัน ก็ให้รู้คู่กันอยู่ เป็นเครื่องซับความทุกข์ ออกจากทุกข์ในระดับนึงแล้ว...คือมันเป็นคานที่มาทำความสมดุลให้มันพอดีๆ


(ต่อแทร็ก 10/41)




วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 10/40 (1)


พระอาจารย์
10/40 (560420C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
20 เมษายน 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เหล่านี้ต้องอาศัยความพากเพียร บากบั่น เหมือนกับต้องทรมานตัวเอง คือ “ตัวเรา” น่ะ ...เหมือนหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ

เพราะว่าไอ้ “ตัวเรา” นี่ ดูเป็นตัวที่มันมีชีวิต เป็นตัว alive ...เพราะนั้นเมื่อทำลาย “ตัวเรา” ทำลายตัวเอง ทำลายตัวเรานี่ ...มันต้องเจ็บปวด มันต้องทรมาน

มันต้องฝืด มันต้องรู้สึกกระวนกระวายอึดอัด ...เพราะตัวศีลสมาธิปัญญา มันจะเป็นตัวที่ทำให้ “เรา” นี่ตาย ตายสูญไปจากโลกธาตุ สามโลกธาตุ สามภพเลย

ใครจะอึดกว่ากัน ใครจะมีขันติบากบั่น ในการที่จะพากเพียรอยู่กับศีลสมาธิปัญญาได้มากกว่ากัน ต่อเนื่องกว่ากัน ...เก็บเกี่ยวผลเอาเอง ตามมรรคตามผลที่ทำ

มรรคเท่าไหร่ ผลเท่านั้น ...ประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิปัญญา ประกอบเหตุแห่งมรรคเท่าไหร่ ผลเท่านั้น ไม่มีใครลัด ไม่มีใครตรง ไม่มีใครอ้อม ไม่มีใครได้บัตรพิเศษ สิทธิพิเศษเกินกว่าใคร

มันเป็นไปตามเหตุอันควร เมื่อประกอบเหตุที่สมควร นั่นอย่ามามัวนั่งฝันหวาน อย่ามามัวนั่งรอนั่งคอย อย่ามามัวนั่งคิดนั่งปรุง อย่ามามัวค้นและหา

ให้ประกอบเหตุลงไปในปัจจุบัน ประกอบเหตุแห่งสติ แล้วก็ระลึกรู้กับกายปัจจุบัน เรียกว่าประกอบเหตุแห่งสติ จนเข้าไปประกอบเหตุแห่งศีลให้ปรากฏขึ้นมา

ศีลสมาธิปัญญามีอยู่แล้ว แค่เข้าไปประกอบให้มันปรากฏขึ้นมาชัดเจนเท่านั้น ...เมื่อปรากฏขึ้นมาแล้วนี่...ตรงนี้ ต้องรักษา  ถ้าไม่รักษา...ล้ม หาย ตาย จาก

คือไม่ใช่กิเลสล้มหายตายจาก ...ศีลสมาธิปัญญาน่ะ จะล้มหายตายจากให้เห็นเอง ...จึงเรียกว่ามันต้องอยู่ในองค์ของสัมมัปปธาน ๔ นั่นน่ะคือความเพียร

ยังกุศลให้เกิด รักษากุศลให้เกิดอยู่ต่อเนื่อง ชำระอกุศลออก คอยแยบคายในทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอกุศลเจือปน ...มันก็อยู่ในองค์ของสัมมัปปธาน เหล่านี้ 

อิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔ มรรคมีองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ นั่นเป็นองค์ธรรมที่จะเอื้อ เกื้อ สงเคราะห์ สนับสนุน ให้การดำเนินไปในองค์มรรคนี่ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และเป็นไปตามครรลองของมรรค

เหมือนคนขับขี่เกวียนที่ชำนาญเส้นทาง แล้วรู้หนักรู้เบาในการจะควบคุม ล้อเกวียนดุมเกวียนนี้ ให้ไปตามเส้นทางจนถึงที่หมาย ...นั่นดำเนินโดยโพธิปักขิยธรรม

แต่ต้องหาที่หมายแรกให้เจอก่อน...ว่าศีลอยู่ไหน  แล้วก็ทำความชัดเจนอยู่ในองค์ศีล...เป็นอันดับแรก อันดับต้น เป็นต้นทาง เป็นปากทาง ...ซึ่งมันมีด่านขวาง ปิดบัง กว่าจะฟันฝ่าไปได้นี่

จะไปโทษใครไม่ได้เลย เพราะด่านที่ปิดนี่เนื่องด้วย “ตัวเรา” เอง ไปหาอะไรก็ไม่รู้มา ขยะทั้งนั้น มาบังทางปิดทางนี้ มาบังศีลมาปิดศีลตัวนี้ ...จึงดูเหมือนว่าศีลนี้หาไม่เจอ หรือไม่มีอยู่เลยในสามโลก

ไปโทษใครไม่ได้หรอก โทษความไม่รู้ของจิต โทษความไม่รู้ของ “เรา” แล้วเราไปหาความไม่รู้อื่นมาปิดบัง ความไม่รู้อื่นแต่มันเข้าใจว่าเป็นความรู้ที่แท้จริง นั่นน่ะ ตัวนั้นน่ะคือขยะ

อ่านมาก ฟังมาก คิดเอาเองบ้าง มันไม่ได้เป็นธรรมที่เป็นสัทธรรม ส่วนมากจะเป็นสัทธรรมปฏิรูป มันไม่ใช่พระสัทธรรม ที่ออกมาจากปากของผู้ที่เป็นสัตบุรุษหรือบัณฑิต

จึงบอกว่าในเบื้องต้นนี่ จึงต้องใกล้ หรือว่าคบบัณฑิต ฟังธรรมจากบัณฑิต ...แต่มันก็ยากตรงที่ว่าบัณฑิตนั้นไม่มีเลขหมายติดกับหน้าผากบอก เลยไม่รู้ว่าบัณฑิตหรือดัดจริต มันรู้ไม่ได้

อันนี้มันก็ต้องใช้ปัญญาของไอ้เรือง พิจารณาฟังเอาจากธรรมที่ท่านกล่าว  …เพราะนั้นอย่าเพิ่งไปว่าเป็นพาลซะหมดก่อน คือมองในแง่ดี คิดว่าเป็นบัณฑิตไว้ก่อน แล้วก็ฟังแล้วพิจารณาตาม

ถูกบ้างผิดบ้าง ไม่เป็นไร ...พอพิจารณาตามพอเห็นว่าไม่ใช่ แล้วก็ค่อยถอยออก ออกแบบเนียนๆ นะ ไม่ต้องด่าตามหลังเขาด้วยนะ ค่อยๆ ถอยออกแบบไร้ร่องรอย เป็นไปด้วยความสงบ

เออ ไม่ขัดแย้งกัน ...เพราะอะไร  เพราะเขายังประโยชน์ให้บุคคลที่เขาต้องการปรารถนา...ก็มีนะ คือมันเป็นหน่อเนื้อเชื้อแถวเดียวกันกับเขาก็ได้ 

คืออาจจะเป็นญาติวงศาของเขา หมู่ของเขา แล้วเขาทำกันมา แล้วเขามีความสุขสมภิรมย์หมายในธรรมแบบนี้ ในกุศโลบายแบบนี้ ...ก็ไม่ว่ากัน

เราก็ค้นต่อไป หาต่อไป...ไม่ได้หามรรคหาผลอะไร ไม่ได้หานิพพานที่ไหน ...แต่หาว่าศีลที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ จากปากคำของเหล่าผู้ปฏิบัติที่เขามีชั่วโมงบินมาก่อน

พอประเมินประมาณได้ด้วยปัญญาหัวไอ้เรืองนี่ ที่เรียกว่าจินตามยปัญญา ...แล้วก็ลงทุน พอมันเริ่มประเมินได้ก็ลงทุน ลงทุนปฏิบัติ ลงทุนเอากาย วาจา จิตนี่ ปฏิบัติอยู่ในองค์ศีล ...แล้วก็ทุ่มทุน

แรกๆ ลงทุนก่อน พอลงทุนแล้วมัน..เออ เข้าเค้า ไม่น่าจะผิดจากที่เคยได้ยินว่า ศีลเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เคยได้ยินมาว่าศีลนี้ ผู้ที่มีศีลเป็นรั้ว ผู้ที่มีศีลเป็นอารมณ์ ผู้ที่มีศีลเป็นที่อยู่ จิตสงบ เออ มันเริ่มเข้าเค้าโว้ย

เอาผลแค่นี้ก่อน อย่าเพิ่งไปไกลถึงนิพพาน หรือปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอด ทำลายความเป็นเราโดยหมดสิ้นเชิง...ยัง อูย แค่ถอนหญ้าสาบเสือออกจากถนนน่ะ ยังมีอะไรบังทางอีกเยอะ...ยัง

แต่ว่าพอมันเริ่มลงทุนนี่ แล้วมันเกิดเบี้ยบ้ายรายทางพอประทังชีวิต ...แรกๆ มันจะได้แค่นั้นก่อน พอประทังชีวิต ไม่อด ไม่ขาดแคลน เหมือนเป็นผลกำไรจากการลงทุน มันก็อยู่กับกำไรนี้ไป 

แล้วค่อยๆ เพิ่มการลงทุนถึงขั้นเรียกว่า ทุ่มเทสุดเนื้อสุดตัว ลงไปในองค์ศีล ทีนี้เทหมดหน้าตัก ไม่มีกั๊ก ไม่มีเก็ง ไม่มีเต็ง ไม่มีหาม กะว่าตายเป็นตาย  ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ...ไม่สงสัยแล้ว ทุ่มทุน 

นี่ ถึงขั้นนั้นเลย ทุ่มเทเต็มที่เลย กำลังทั้งหมด พละกำลังทั้งหมด การปฏิบัติทั้งหมด วิธีการทั้งหมด รูป อิริยาบถทั้งหมด จิตทุกดวง ความรู้สึกทั้งหมด...รวมลงที่กายเดียวรู้เดียวจริงๆ

เพราะแต่ก่อนน่ะ มันอยู่แบบ...อยู่รึเปล่ากูไม่รู้หรอก ยังไม่เต็ม ยังทุ่มไม่สุดตัว ...พอถึงขั้นนี้ต้องทุ่มสุดตัวแล้ว ตายเป็นตาย ไม่สำเร็จก็ไม่สำเร็จล่ะวะกู ติดก็ติด ไม่ทันเพื่อนก็ไม่ทันเพื่อน

เพราะจิตไม่ได้ไปนั่งเอาความสงบแบบเป็นวรรคเป็นเวรเลย ...เอาแต่รู้ตัวๆ รู้กาย ยืนเดินนั่งนอนๆ ขยับซ้ายขยับขวา เอี้ยวหน้าเอี้ยวหลัง เหยียดคู้ กลืนกิน กระพริบ หัน กลอกลูกตา ...เอามันทุกเม็ด 

คือทุ่มเททั้งหมด ทุกเวลา ทุกขณะ ทุกวินาที เรียกว่าทุ่มทุนเลยนะนั่นน่ะ ...ดูซิ มันจะเข้าถึงหัวใจของศีล ที่สุดของศีล มันก็จะเข้าไปซาบซึ้ง ลึกซึ้งในองค์ศีลในองค์กายขึ้นมาเองน่ะ 

จนมันสามารถเอาเป็นที่พึ่งได้ ...ไม่ไปพึ่งตำรับตำรา ไม่ไปพึ่งคำกล่าวอ้าง คำพยากรณ์ คำแนะนำของหมอดู ...หมอดูภูมิธรรมก็มี หมอดูอดีตอนาคตก็มี หมอดูบารมีอุปบารมีก็มี ...ไม่พึ่งน่ะ

มันเอาศีลน่ะเป็นที่พึ่งได้เลย พึ่งกายนี้ได้แล้ว อยู่กับกายนี้ได้โดยไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดในโลก ไม่สุขไม่ทุกข์กับกายนี้อีกต่อไปแล้ว ...นั่นแหละเข้าถึงหัวใจของศีล

ทีนี้มันหยุดหามรรคและผลแล้ว หยุดหมดเลย  ทุ่มจนหมดตัวหมดเราน่ะ  มันทุ่มลงไปแล้วผลคือ หมดตัว หมดเรา เลย“เรา” มันก็หมดไป เพราะการทุ่มทุนครั้งนี้นี่เอง

แต่พวกเรานักปฏิบัติน่ะ...มันไม่จริง ...นั่น ศีลน่ะจริง สมาธิน่ะจริง ขันธ์ห้าน่ะจริง ปัญญาก็จริง...ทุกอย่างจริงหมด แต่ผู้ปฏิบัติกลับไม่จริง

ทำแบบแปล๊บๆ พล็อบๆ แพล็บๆ จิ๊กนึง..."พอแระ" ...แค่เนี้ย มันไม่พอยาไส้หรอก กลัวกิเลสมันเจ็บรึไง ...กลัว “เรา” เจ็บ  กลัว “เรา” อึดอัด  กลัว “เรา” ไม่สนุกสนานเพลิดเพลิน

กลัว “เรา” เหนื่อย กลัว “เรา” ไม่สบาย กลัว “เรา” ตาย “กลัวเราๆๆๆๆ” …นั่น ดองมันเข้าไว้ “เรา” น่ะ เอาให้เค็มปี๋เลยนะ จะได้อยู่ยั้งยืนยง...สามโลกธาตุคู่กันไปเลย เอาป่าว

พอได้สักพักนึง ไปเจอคนพูดคนด่า เจอการกระทำอันนั้นอันนี้ หรือว่าขันธ์แสดงอาการวิปริต ก็เอาแล้ว อยากจะทิ้ง “เรา” เต็มที่เลยตอนนั้น ...ทิ้งไม่ได้อีก ก็กูดองมาซะจนเค็มปี๋น่ะ

มันก็ยืนเป็นอนุสาวรีย์รับความเจ็บปวดนั้นไปแล้วกัน ถือครองความเจ็บปวดนั้นไป ถือครองความทุกข์นั้นไป...ในเสียง ในรูป ในกลิ่น ในรส ที่ดั่งใจและไม่ดั่งใจ ในสามโลกธาตุ

เห็นมั้ยว่า การปฏิบัตินี่มันเป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน ทำยังไงก็ได้ยังงั้น ไม่มีผิดไม่มีถูกหรอก ...ถ้าทุกคนผู้ปฏิบัติประกอบตรง ประกอบเหตุแห่งมรรค ผลก็คือการละ วาง จาง คลาย หมดไป สิ้นไป

แต่เมื่อใดผู้ปฏิบัตินั้นประกอบเหตุแห่งอวิชชาตัณหา ประกอบเหตุแห่งเรา ตามความอยากของเรา ตามความไม่รู้ของเรานี่ ...ผลก็คือทุกข์-สุข สลับหมุนเวียน 

สุขๆ ทุกข์ๆ...ทุกข์ๆ สุขๆ ...แต่สุขน้อยกว่าทุกข์ แล้วสุดท้ายก็มีแต่ทุกข์ หาสุขไม่เจอเลย …เห็นมั้ย ตอนตายไม่มีใครนอนยิ้มตายหรอก นั่นน่ะหาสุขไม่เจอเลย

สุดท้ายนั่นน่ะเขาจะแสดงความจริงว่า ไม่มีสุขแม้แต่อณูเดียวในสามโลก ...แต่พอดีน่ะ มันไปเห็นแล้วก็ตาย แล้วก็พอดีเสร็จเลยลืม เกิดใหม่ก็ลืมแล้วว่าเคยตายมา ไม่หลาบไม่จำ

เนี่ย มันอยู่ที่การประกอบเหตุนะ ไม่ใช่อยู่ที่ความอยากหรือความไม่อยาก หรือว่าคิดเอาเอง ...ได้แต่คิดถึงมรรคถึงผล ได้แต่คิดถึงวิธีการปฏิบัติ ได้แต่คิดว่าจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้

ได้แต่คิดว่าจะรักษาสติด้วยวิธีการใด จะภาวนาวัดไหนดี จะท่าไหนดี ...นั่น ไม่เกิดหรอก สมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด ...มันอยู่ที่ประกอบเหตุแห่งสติรึยัง ขณะที่นั่ง..รู้มั้ย ขณะที่คิด...รู้มั้ยว่าคิด กำลังจมอยู่ในความคิดน่ะรู้มั้ย

เนี่ย ถ้ามันรู้ ประกอบเหตุขึ้นในปัจจุบันแห่งสติ ศีล สมาธิ ปัญญา ผลก็เกิดเป็นเงาตามตัว ...เหมือนไปยืนกลางแดดแล้วต้องมีเงาน่ะ มันหนีไม่พ้น หนีกันไม่ได้

แต่ไอ้นี่ยืนอยู่ในร่ม แต่หาว่าเงาอยู่ไหนนี่ๆ พยายามจะทำให้เงาเกิด ...มันจะเกิดได้อย่างไร มัวแต่คิด มัวแต่หา มัวแต่คาดคะเน หรือทำไปแบบไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว

ทำอะไรแบบไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว ผลออกมาน่ะมันจะเป็นลักษณะว่า...เฮ้ย วันนี้ฟลุ้คโว้ย ...โอ วันนี้สงสัยจะเป็นบารมีเก่ามันส่ง ...อ้อ สถานที่นี้คงมีเทพมาช่วยสงเคราะห์อุ้มสมหรือบารมีครูบาอาจารย์ดีจริงๆ

คือทำแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเมื่อไหร่ มันจะไม่รู้เลยที่มาที่ไป  แล้วก็เกิดอาการเหมา...เหมาธรรม เสร็จสรรพปั๊บ แพ็คเกจเป็นห่อไว้กินคราวหน้า ดองเค็มเก็บไว้

ถึงเวลานั้นเวลานี้ก็เอาออกมากินหน่อยซิ...เอ๊ ทำไมมันเน่าแล้ววะ อ้าว กลายเป็นงั้นไป เริ่มสงสัย เอาแล้ว เอ๊ สถานที่คงไม่ดี ไม่สัปปายะ ...เนี่ย เริ่มโทษสิ่งอื่น เริ่มโทษโลก โทษธรรมแล้ว


(ต่อแทร็ก 10/40  ช่วง 2)