วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 10/38 (2)


พระอาจารย์
10/38 (560420A)
20 เมษายน 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 10/38  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  อย่าภาวนามากจนลืมตัว เพราะว่าเวลาภาวนามาก...แบบมากเกินไป ด้วยความที่ไม่ทบทวนตัวกายตัวปัจจุบันนี่ ภาวนาไปนานๆ มันจะยิ่งไกลตัวไปเรื่อยๆ ...ขนาดที่เรียกว่ากู่ไม่กลับน่ะ

เพราะนั้นคำพูดของครูบาอาจารย์ คำกล่าวตักเตือนจากครูบาอาจารย์นี่ เหมือนไม้กันผี ...แล้วไม้กันผีนี่มันไม่ได้กันอย่างเดียว...ตีได้ด้วย

แล้วไม่ได้ตีได้แค่นั้น แต่ยังชี้ว่า...มึงต้องเดินตรงนี้ด้วย ...เห็นมั้ย ไม้อันเดียวนี่ใช้ได้หมด เนี่ย ไม้กันผี หน้าที่ของครูบาอาจารย์ เกิดมาเพื่อด่า

ก็ด่ากิเลส ด่าความโง่ความหลงของจิต...ใครจะรับถือไปก็ได้ ใช่ป่าว ...เพราะเราด่าจิต เราไม่ได้ด่าใคร  ก็ไปว่าเอาเองว่าจิตเรา เขาด่าให้เรา นั่น รับสมอ้างไปแล้วกัน

จริงๆ เราด่าจิตโง่นะ ที่มันสร้างมโนภาพหรือสามัญสำนึกของความเป็นเราขึ้นมาลอยๆ ตรงนั้น  นั่น ก็รับสมอ้างไป ...ก็เลยรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ เจ็บนิดๆ แสบๆ คันๆ เป็นเวทนาอยู่ภายใน

ก็มันมีความรับสมอ้าง ...เราด่าความไม่รู้ เราด่ากิเลส นั่นก็เป็นการรับสมอ้างว่ากิเลสนั้นเป็นตัวของเรา ก็เลยถูกด่าโดยปริยาย...เต็มๆ

จนกว่ามันจะหยุดรับสมอ้างน่ะ...แบบไปนั่งฟังอาจารย์ อาจารย์ด่าเป็นชั่วโมง ลากลับ อาจารย์ด่าให้ใคร...ไม่รู้  คนด่าก็ไม่รู้ คนฟังก็ไม่รู้...จบเลย นั่น ไม่ต้องมาอีกแล้ว

กิเลส เป็นเรื่องที่มันครอบโลก ครอบจักรวาล ...จิตที่มันสร้างความเป็นเรา มันไม่มีคำว่าอิ่มเต็ม ไม่มีคำว่าหยุด ไม่มีคำว่าพอ ...นั่นน่ะคือ ความทะยานอยากของจิต มันคือความทะยานอยาก

เพราะนั้นเมื่อใดที่มันทะยานออก แล้วไปหา แล้วไปทำ มันไม่รู้จักหรอกว่าความโง่ของตัวมัน...ว่าไอ้ที่มันหามาได้ ไอ้ที่มันทำขึ้นมา และที่กำลังทำนี่ สิ่งที่มันกำลังทำและสิ่งที่มันจะได้มานี่...คือฟืน คือเชื้อ

เอามาทำอะไร ...เอามาเผาไหม้ตัวเอง ให้มันลุกโชน เร่าร้อน ...นั่น กลัวไฟมันมอด กลัวว่าถ้าไฟมันมอดแล้วมันก็ไม่มีชีวิตชีวาที่จะไปแข่งขันอะไรกับในโลก 

มันก็เลยต้องไปหาฟืนมาสุมซะหน่อย เพื่อความอบอุ่นของเราหารู้ไม่ว่าไอ้ความอบอุ่นของเราเนี่ย คือความเร่าร้อน ความทุรนทุราย ความแผดเผา

พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่ากิเลสเป็นเครื่องแผดเผา ...แต่พระพุทธเจ้าท่านก็บอกอีกอย่างหนึ่งว่า ขันติก็เป็นตบะที่แผดเผากิเลสอีกทีหนึ่ง

มันเข้าใจว่าไฟเย็นไง ...ก็ตอนที่ว่าหน้าหนาวแล้วเราไปผิงไฟ อาศัยไฟแล้วก็ว่ามันอุ่นน่ะ  จิตมันก็เข้าใจอย่างนั้น มันก็เลยต้องหาอะไรมากองไว้ๆๆๆ เก็บไว้ๆ ...ไว้ใช้ยามขัดสน

มันว่าของมันอย่างนั้นว่า...เออ ถ้าเจอเหตุการณ์นี้ ความเร่าร้อนภายนอกมันกระทบแล้วมันเป็นทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ นี่ เราจะได้เอาฟืนกองนี้ใช้ แล้วฟืนกองนี้ให้กองไฟที่เป็นไฟเย็น

เราถึงเรียกว่าภาวนาหาทุกข์ ไม่ได้ภาวนาละทุกข์ ...ภาวนาหาฟืน หาเชื้อ หาความสุขความสบายในภายภาคหน้า หาความเที่ยงแห่งความสุข

ทั้งที่พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไม่เที่ยง ไม่มีอะไรเที่ยง มันก็จะหาทางเที่ยงให้ได้ นั่งภาวนาหนึ่งชั่วโมงสองชั่วโมง...สงบ ปึ้บ มันจำไว้ตราตรึงเลย

เนี่ย ครั้งหน้าครั้งใหม่ต้องสงบยิ่งกว่านี้ และให้นานยิ่งกว่านี้ ให้เที่ยง ให้ถาวรเลยได้ยิ่งดี ...นี่กักเก็บฟืนเต็มขันธ์ห้า แบบว่าหยิบใช้สอยได้ทุกเรื่องราว

แล้วก็ว่าเราจะสงบได้...แม้กระทั่งเขาด่าโคตรพ่อโคตรแม่ เราก็ทำความสงบเป็นมรรคเป็นผลได้ เป็นที่ยึดที่ถือก็ได้ เห็นมั้ย เรียกว่ามันเอาความสงบเป็นที่พึ่งเลย

มันไม่ได้เอาสมาธิเป็นที่พึ่ง มันไม่ได้เอาไตรสิกขาเป็นที่พึ่ง มันไม่ได้รู้จักแม้กระทั่งศีลสมาธิปัญญา ...มันกลับไปเอาความสงบเป็นที่พึ่ง

แล้วมันก็ไปตีขลุม มั่นหมายเอาว่าความสงบนั้นเองคือสมาธิ …นี่ มันก็เกิดที่เขาเรียกว่า สัทธรรมปฏิรูปภายใน

ไม่ต้องไปว่าคนอื่นเขาสัทธรรมปฏิรูปเลย ตัวมันเองแหละ ตัวจิตผู้ไม่รู้เองนั่นน่ะสัทธรรมปฏิรูปตลอดเวลา เข้าข้างตัวมันเอง...คือ “ตัวเรา” ตัวโง่ ตัวไม่รู้

เห็นมั้ย พอทำอะไร มันก็จะเกิดเข้าข้างตัวเอง นี่เขาเรียกว่าไม่ได้ภาวนาที่เหตุ ไม่ภาวนาแก้ที่เหตุ มันเป็นการภาวนาแบบปลายเหตุ แล้วเอาตัวนั้นน่ะมาเป็นมรรคเป็นผลไป

เหตุอยู่ที่นี้...ณ ที่นี้คือที่เกิดเหตุ ...อดีตมาจากที่นี้ อนาคตก็ออกมาจากนี้ ปัจจุบันก็อยู่ที่นี้ ... ที่ไหน...กายใจปัจจุบันนี่เอง 

กายที่มันเย็นร้อนอ่อนแข็ง วูบวาบยักย้ายความรู้สึกไปมาภายใน เป็นก้อนเป็นกอง สลับแปรเปลี่ยนหมุนเวียน ...แล้วใจคือผู้รู้ผู้เห็นอาการนี้ แบบไม่มีคำพูด 

รู้เห็นแบบไม่มีคำพูด รู้เห็นแบบไม่มีเวลา รู้เห็นแบบไม่มีอารมณ์ รู้เห็นแบบไม่มีความสุขความทุกข์ รู้เห็นแบบไม่มีความอยากความไม่อยาก ...นั่นแหละใจ

ถ้ามันภาวนาอยู่ในที่นี้ ในที่ที่สองเหตุนี้ตั้งอยู่นี่ ...นี้เรียกว่าภาวนาที่เหตุ เรียกว่าเป็นการประกอบเหตุในองค์มรรค เรียกว่าเป็นการดำเนินไปในวิถีแห่งมรรค เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เรียกว่าเดินบนทางสายกลาง

ไม่ใช่ไปเดินบนเส้นแบ่งครึ่งถนน เส้นประ แล้วก็เข้าใจว่า โอ้ย เราเดินบนทางสายกลางมันสร้างทางขึ้นมา แล้วก็ไปเดินบนเส้นประที่เขาเขียน แล้วก็เรียกว่านั่นน่ะเดินแบบกลางๆ

คือมันสร้างทางขึ้นมาแล้วก็ว่า เออ ตรงนี้กลาง แล้วจะเดินอย่างนี้ นี่คือกลางของมัน …พอดีรถมันวิ่งมา มันไม่รู้หรอกว่ากลางไม่กลาง ...มันก็ชนเอา 

เสือกมาเดินกลางถนนได้อย่างไร เขาให้เดินข้างถนน เสือกมาเดินมัชฌิมากลางถนน...ตายซะ (หัวเราะ) โง่นักนี่

คือมันจะหาทางสายกลางอยู่เรื่อย จิตน่ะ ...เพราะอะไร ...อ่านมาก ฟังมาก ได้ยินมามาก คิดมาก พิจารณา สมควร ดีแล้ว...ว่านี่ต้องเป็นทางสายกลางแน่ๆ

ที่ไหนได้ รถวิ่งข้างหลังยังไม่รู้เลย...ชนตูม กระเด็นป้าง ..."ทำไมกูทุกข์อีกวะ ทำไมกูเจ็บวะ" หาใหม่ เส้นใหม่ ตีเส้นใหม่ คราวนี้เอาให้กว้างกว่าเดิม

ยิ่งกว้างเท่าไหร่น่ะ สิบแปดล้อยิ่งชอบ ไม่ต้องร้องเลย ทับทีเดียวแบน ...ยังไม่รู้อีก ยังหาอีกว่าทางสายกลางอยู่ไหน มัชฌิมาอยู่ที่ไหน พอดีคืออะไร

จิตที่มันค้น จิตที่มันหา มันหาแม้กระทั่ง...เฮ้ย ปัจจุบันอยู่ไหนวะ กายอยู่ไหน มันยังหาเลย ...ดูความโง่ของมันสิ ...ยังมาถามเลย "อาจารย์ กายอยู่ไหน หายังไม่เจอเลย"

เอ้า ไอ้ปากที่มันขยับ ที่มันพูดน่ะ มันไม่ใช่ปากไม่ใช่กายมึง แล้วมันตูดหมารึไง อย่างเนี้ย ...เห็นมั้ยว่าจิตนี่ แค่นี้มันเริ่มลังเลสงสัยแล้ว ค้นแล้วก็หาไว้ก่อนเลย

พอบอกมัชฌิมา ...ก็หาแล้ว นึกจำลองมโนภาพขึ้นมา น่าจะอย่างนั้นอย่างนี้ มันวาดภาพเป็นรูปเป็นลักษณะของทาง แล้วก็วางรูปแบบเลย 

นี่ อัตตกิลมถานุโยคต้องอย่างนี้ ท่าทางอย่างนี้ จิตอย่างนี้  ถ้าไอ้นี่กามสุขัลลิกานุโยค คือว่าถ้าเห็นผู้หญิงแล้วมันพอใจ เห็นผู้ชายแล้วมันน้ำลายตกน้ำหมากกระจาย นี่ไม่ใช่

มันต้องอย่างนี้ ทำจิตให้เป็นอย่างนี้ มันต้องทำจิตให้เป็นสงบอย่างนี้ๆๆ นี่ ใช่แล้ว นี่แหละมัชฌิมาของข้า ของเรา นี่เป็นมัชฌิมาของเรา ไอ้มัชฌิมาของคนข้างๆ ก็ของมัน

ต่างคนต่างก็เป็นมัชฌิมาของเรา ...พอเอามาทาบกัน เดินข้างกัน...เอ๊ะ ทำไมมันไม่เหมือนกันวะ  ศีลก็คนละอันกัน สมาธิก็คนละอัน กลางก็กลางคนละแบบกัน

นี่เริ่มกลางเขียวกลางเหลืองใส่กันแล้ว...กูกลางกว่า กูนี่สิกลางกว่า มึงยังไม่กลางๆ ...ปากไม่พูดหรอก แต่จิตมันกัดแล้ว จิตน่ะกัดไปก่อนแล้ว เขาเรียกว่าเล่นลูกยาว เขาเรียกว่าลับหลัง



(ต่อแทร็ก 10/39)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น