วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 10/40 (2)


พระอาจารย์
10/40 (560420C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
20 เมษายน 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 10/40  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ทุกคนน่ะ มันจะเป็นอย่างนั้น แล้วก็จะเดินวนซ้ำซากเหมือนเขาวงกตอย่างนั้น ถ้าไม่ได้รับการชี้แนะให้เดินบนเส้นทาง เรียกว่าครรลองแห่งมรรค หรือวิถีแห่งมรรค

ให้เลิก หยุดคิด หยุดค้น และหยุดหาแม้กระทั่งกายปัจจุบัน ไม่ต้องหาน่ะ รู้ลงไปเลย หยั่งลงไปเลย หยั่งรู้ดูเห็นลงไปเลย ...มันจะเจออะไร เป็นยังไง นั่นล่ะใช่

อย่าสงสัยว่า เอ๊ะ นี่ใช่กายรึเปล่าวะ ก้นน่ะ เอ้า มันจะเป็นความรู้สึกที่ตูดที่ก้นก็ถือว่านั่นแหละใช่แล้ว ไม่ต้องมาละเอียดแบบเป็นลมขั้นละเอียดหรอก

ก็มันเห็นเป็นก้น เป็นแน่นที่ก้น เป็นแข็งที่ก้น ทำไมล่ะ มันหยั่งลงไปแล้วเจอความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกแรก ก็ดูมันไป มันหน้าด้านอยู่กูก็หน้าด้านดูมันล่ะวะ

แน่ะ ต้องว่ากันอย่างนั้นเลย ไม่ลังเลสงสัยในธรรม ไม่ลังเลสงสัยในศีล ไม่เคลือบแคลงในศีล ไม่ค้นหาศีลใหม่ ...รู้ลงไป มันปรากฏยังไงก็ยังงั้น ไม่ต้องหาแล้ว

มันก็จะเป็นการปฏิบัติที่พร้อมกับการทำลายซึ่งความลังเลและสงสัย ...ก็มันปรากฏเท่านี้ก็เท่านี้แหละ มันไม่เป็นลม ก็ไม่ต้องไปดึงให้มันเกิดความรู้สึกที่ลม หรือความรู้สึกที่ละเอียดเบาตรงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

เพราะนั้นเวลานั่งนานๆ นี่  ตรงแรกๆ เลย คือแข็ง แน่น ตึง แล้วก็อ้าว อบอ้าว ...ไม่ต้องไปปัดเป่ามันหรอก อย่าไปทำตัวเป็นผู้วิเศษมีเวทย์มนต์คาถาจะปัดเป่าความอ้าว ความตึง ความปวดนี่ให้หายไปได้

ก็รู้มันไปเฉยๆ มันปรากฏขึ้นเฉยๆ ตั้งอยู่เฉยๆ ก็รู้มันไปเฉยๆ  มันไม่ดับก็ไม่ดับ ...ไม่ต้องไปจัดการอะไรมันหรอก แล้วไม่ต้องไปวิเคราะห์วิจารณ์มันหรอก

เพราะเขาปรากฏด้วยความสงบ เงียบ วิเวก ไม่มีแม้กระทั่งอัตลักษณ์ ตัวตน ความหมาย เนมมิ่ง มีนนิ่ง(namming, meaning) สัญลักษณ์ ภาษา คุณค่าดีร้ายถูกผิด...ไม่มี

เอากันให้นานๆ หน่อย เอาสติผูกไว้ มัดไว้ เหมือนเชือก เอาให้แน่นหน่อย ...อย่ากลัวเพ่ง ต้องการให้เพ่ง ต้องการให้เพียรเพ่งอยู่กับกายเดียว ...ถ้าไม่เพียรเพ่งอยู่ในกายเดียว มันจะไปมีหลายกายขึ้นมาอีก

คำว่าหลายกาย คือกายอดีต กายอนาคต กายคนอื่น ...ซึ่งไม่ใช่กายจริง ไม่ใช่กายมหาภูตรูป ไม่ใช่กายที่เนื่องด้วย ประกอบด้วย สังเคราะห์ด้วย ปรุงด้วยมหาภูตรูป

เรียกว่ากายนั้นเป็นกายหลอก เรียกว่ากายนั้นเป็นกายสังขาร เรียกว่ากายนั้นน่ะเป็นกายสักกาย เรียกว่ากายนั้นน่ะเป็นกายปรุงแต่ง...จากจิตผู้ไม่รู้

อบๆ อ้าวๆ นี่แหละดีแล้ว ดูมันเข้าไป ไม่ต้องเปลี่ยนที่ เปลี่ยนก็อ้าวไม่เปลี่ยนก็อ้าว ทำไม ชัดจะตาย ...ในอ้าวมันมีคิ้วมั้ย มันมีหน้ามั้ย มันมีหน้าของเรามั้ย หน้าของอ้าวมันเป็นยังไง อยากดู

ดูมันซิ มันมีหน้าเหมือนเรามั้ย มันมีเพศมั้ย มันมีวรรณะมั้ย มันมีสีสัน มีทรวดทรงมั้ย...ไม่มี มีแต่เป็นอะไรแผ่ๆ กว้างๆ ไม่รู้ตรงไหนด้วย มันเป็นความรู้สึกที่อยู่ลอยๆ น่ะ

แล้วก็อย่าเบื่อนะ เพราะสักพักมันชักจะเริ่มเบื่อแล้ว จิตมันจะพาไปดูอย่างอื่น...ส่าย เห็นความส่ายมั้ย เดี๋ยวมันจะส่าย  ตบโหลกจิตมัน...ไม่เอา แค่อ้าวนี่ รู้แค่อ้าวพอแล้ว 

รู้จักคำว่าพอซะบ้าง มึงสะกดคำว่าพอดีเป็นป่าว พอๆ รู้แค่นี้พอ ...มันจะว่า...เอ๊ วันนั้นที่นั่ง เคยทำ มันสงบ อย่างนี้ไม่สงบ ...นี่ จะหาแล้วๆ จะหาความสงบ 

มันจะความสุขในสงบ เพราะไอ้อ้าวๆ นี่มันธรรมดา  พอรู้สึกว่าอ้าวมันก็เป็นความรู้สึกธรรมดา แล้วก็มีอารมณ์ธรรมดายืนพื้น ...นี่ยังดีนะแค่อ้าว ยังไม่ร้อน  ถ้าร้อนมันไม่ธรรมดายืนพื้นแล้วนะ

แต่เขาแสดงธรรมแค่นี้ ตอนนี้นะ ...เรียนรู้กับธรรมที่กายเขาแสดงแค่นี้ก่อน เรียกว่าบทที่หนึ่ง เรียนไปเรื่อยๆ บทที่ 1- 2- 3 สักสี่ชั่วโมงอ้าวนี่ เดี๋ยวบทที่ 4 มาแล้ว ..."โคตรปวดเลยว่ะ"

กูไม่รู้สึกอ้าวแล้ว กูรู้สึกโคตรปวดเลยว่ะไอ้ก้อนนี้ ...เอาแล้ว บทเรียนที่ 4 – 5 มาแล้ว กูไม่อ่านไม่ดูมันแล้ว จะเปลี่ยนเรื่องแล้ว จะปิดตำราลูกเดียวล่ะกู จะจบหลักสูตรให้ได้

เพราะลึกๆ นะมันจะว่า...ออกดีมั้ย เปลี่ยนดีมั้ยๆ เปลี่ยนหลายรอบแล้ว นั่น จะปิดตำราแล้ว เห็นมั้ย ...อันนี้ต้องว่ากันต่อหน่อย ต้องขืนกันหน่อย

เอาจนเรียกว่า ระหว่างที่เรียนถึงบทที่ 6 – 7 – 8 ขึ้นไปนี่  หาความสงบไม่ได้เลยน่ะ ต่อให้โคตรพ่อโคตรแม่พุทโธๆ ยังเอาไม่อยู่น่ะ ...เอามั้ยล่ะ เอากันตรงนั้น ต้องเรียนกันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันน่ะ

เห็นมั้ยว่าการภาวนานี่ ภาวนาแบบโง่ๆ นะ รู้แบบตรงไปตรงมา ทุกช็อตทุกเม็ด โดยไม่หลีกเลี่ยงเลยน่ะ ...ไม่นั้นมันจะเกิดความหมายหรือภาษาพูดตามมาหรือว่ารู้แจ้งในธรรม

ไม่ใช่มาแค่นี้ก็เลี่ยงแล้ว เอนแล้ว เบี่ยงตาหันหน้าหนีแล้ว นั่น ...จะไปไหนล่ะ ก็มันยังไม่จบบทเลยน่ะ ใช่มั้ย เดี๋ยวก็มาใหม่อีกแล้ว เอ้า ไม่มาตอนนี้ที่นั่งสมาธิ เดี๋ยวก็มาตอนตาย ...ก็ไม่แจ้งอยู่ดี

ก็ให้มันแจ้งซะก่อนตาย ก่อนขันธ์จะตาย ...ก็ว่ากันไปตามกำลัง แต่ให้เต็มกำลัง

เพราะนั้นในระหว่างที่เรียนรู้กับคำว่ากายเวทนา หรือกายที่เขาแสดงเวทนาให้เรียนนี่ ...ไม่ต้องไปหาความสงบเลยนะ ไม่ต้องไปเรียนรู้เรื่องคำว่าความสงบในกายเลยนะ

ตอนนี้มันกำลังแสดงความทุรกันดารให้เห็น นี้คือความจริง ...ถ้าไม่จริงมันไม่ปวดหรอก อย่าไปอยู่กับความไม่จริง อย่าหนีความจริง

อย่า...แม้กระทั่งคิดจะเอาชนะความจริง ...เพราะแค่คิดจะเอาชนะความจริง แค่คิดจะ...นี่นะ จากที่ว่าปวดนี่ จะเป็นโคตรปวดเลยว่ะ

แค่คิดนะ คิดจะเอาชนะมันเมื่อไหร่ จากที่มันปวดพอรับได้ พอทนได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าคิดว่า เอ๊ะ ทำไมไม่หายซักที แค่คิดนะ โคตรปวดเลย ไม่ไหวแล้ว กูเอาออกเลย ปึ้งเลย นั่นเลยๆ

แต่ถ้าไม่คิดนะ น่าจะอยู่ได้อีกซัก 5 นาที พอถึง 5 นาที แอ๊ะๆ อีก 10 หน่อยมั้ย ต่อรองหน่อย นี่ ต้องอย่างนี้นะ ไม่ใช่ 5 แล้วเมื่อไหร่ 4 – 3 – 2 – 1 นับถอยหลัง พอถึง 1 ปั๊บ ปึ๊ง ออกเลย

พอถึง 5 ที่หมายที่มั่นไว้ว่าจะเอาออกเมื่อได้ 5 นาที พอครบ 5 นาที อย่าเพิ่งออก เอาให้มันทรมานซะมั่ง ทรมานเรา ทรมานจิตซะหน่อย เอาพอเป็นกระสัย

เนี่ย เล่นไม้นวมก่อน เดี๋ยวพอเผลอมันก็กลับมาทรมานเราคืนอีก สลับกันไปมาอยู่อย่างนี้แหละ ...เอาจนมันเกิดความชำนิชำนาญ ทางเข้าทางออกในองค์มรรค

ยังไงเป็นสมุทัย ถ้าอยู่ยังไง วางจิตอย่างไร คิดอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นในระหว่างที่ปวด กำลังนั่งปวดนี่ แล้วมันทุกข์มากขึ้นนี่ มันจะได้เกิดปัญญาเห็นตามจริงว่าอะไรเป็นสมุทัย

แล้วเวลามันปวดมากๆ แล้วทำไมมันสามารถนั่งได้ยอมรับได้ สมุทัยมันดับไปตอนไหน อย่างไร เนี่ย มันก็เรียนรู้ความเป็นจริงของอริยสัจ...ภาคบังคับ

แต่ถ้ามันไม่อยู่ในภาคบังคับ หรือว่าฝึก มันก็ปล่อยเลยตามเลย มันก็อยู่ในแบบ...มันไม่ได้เรียนรู้อริยสัจ แต่มันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์น่ะ...คือเอาตัวรอด 

มันเอาตัวเรารอด เอาตัวเราอยู่สบาย เอาตัวเราดี ...มันจะอยู่โดยสัญชาตญาณนั้นซะมากกว่า

การภาวนานี่มันเป็นไปเพื่อมาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้นะ ...ไม่ใช่ให้ได้ดีได้เก่ง ไม่ใช่ให้ได้ผลแห่งธรรม ที่ว่าเลิศประเสริฐ ที่ว่าจะได้สบายซักที

ไม่สบายหรอก ทุกข์ไปจนวันตายน่ะอยู่กับกายก้อนนี้ ...ท่านเรียกว่ากายนี่เป็นทุกข์ โดยสภาพที่แท้จริงของตัวกายนี่ คือไฟ คือความเร่าร้อน ที่มันกำลังเผาไหม้ตัวมันเองตลอดเวลา

แต่ตอนนี้ ความเผาความไหม้ หรือว่าแรงที่เข้าไปเผาไหม้จนเกิดความเปื่อยสลายนี่ มันยังน้อยอยู่ มันเลยเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นความเร่าร้อนแต่ประการใด

ยืนเดินนั่งนอนยังพอเดินได้ ไม่เห็นมีความรู้สึกว่าติดขัดหรือเป็นทุกข์ ...มันจึงไม่เห็นว่ากายเป็นความเร่าร้อนเป็นทุกข์ยังไง

แต่ในระหว่างที่เรายังหนุ่มยังแน่น เราก็อาศัยการนั่งสมาธิเดินจงกรม ทั้งคืนอะไรอย่างนี้ หรือนั่งสมาธิหลายๆ ชั่วโมงนี่ ...คือไม่ได้เอาความสงบ แต่ให้เห็นกายที่แสดงความเป็นจริง 

จะได้เห็นที่หน้าตาตัวตนที่แท้จริงของกาย...คือความเร่าร้อน คือความทุกข์ หรือเวทนาที่แผดกล้าและแผดเผา

ก็จะได้บทเรียนใหม่ๆ ที่ไม่เคยเรียน และก็ไม่สามารถที่จะเผชิญหน้ากับมันได้ ....มันกลัว กลัวเราเจ็บ ทะนุถนอมตัวเราไว้ ทะนุถนอมอารมณ์ของเราไว้ ...มันกลัว

ความกลัวก็เลยไปทะนุถนอมตัวเรา แล้วเราก็ก้าวข้ามความกลัวไม่ได้ ไม่กล้า ไม่อาจหาญ ไม่จริงจัง ไม่ใส่ใจ ไม่ตั้งใจ มันก็กลัว

กลัวเจ็บ กลัวเราเจ็บ กลัวเราทุพพลภาพ กลัวเราพิการ กลัวเราเสื่อมสภาพเร็วไป กลัวเราตายเร็วขึ้น กลัวใช้ร่างกายหนักเกินไปแล้วจะใช้ต่อได้ไม่นาน ...มันกลัวไปหมดน่ะ

สุดท้ายเพื่ออะไร เพื่อทะนุถนอม “ตัวเรา” ที่ดี ที่งดงาม ที่สุขสมบูรณ์ ที่แข็งแกร่ง ที่ไม่เป็นทุกข์มีแต่สุขยืนพื้น ...สบาย อย่างน้อยก็ให้สบายๆ อยู่แบบง่ายๆ มักง่าย ไม่มีเรื่อง

เนี่ย มันก็หวงแหน “ตัวเรา” นั้นไว้ รักษาตัว หวงแหนตัวเราอย่างนั้นไว้ ความเป็นเรา ความเป็นของเรา ความเป็นตัวเรา ก็ยังคงถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วยอำนาจน้ำเลี้ยงของตัณหาอุปาทาน อยู่ยั้งยืนยงคู่โลกต่อไป

แต่ถ้ามีความพากความเพียร ความมั่นคง ความเชื่อมั่นในศีลสมาธิปัญญา ว่าจะเป็นไปเพื่อความจางคลายหลุดพ้นจากความเป็นเรา ออกจากความเป็นเรา สิ้นสุดซึ่งความเป็นเราแล้วนี่

ก็ต้องแลกกันหน่อย ไม่มีนิพพานง่ายๆ หรอก ไม่มีสำเร็จแบบบุฟเฟ่ต์ ไปหยิบเอาตามใจชอบ เพราะร้านนี้เปิดไม่คิดตังค์

ไม่มีหรอกนิพพานอะไรแบบ ...โห ชาตินี้วาสนาดี แป๊บเดียวสำเร็จแล้ว ไม่นึกไม่ฝันว่าจะสำเร็จได้เร็วปานนี้ ...ไม่มีหรอก ยาก ลงทุน ฝืด ฝืน

อยู่กับทุกข์ นั่งดูทุกข์ เห็นทุกข์ ในกาย ในผัสสะ ในอารมณ์ ในความแผดเผาของจิตที่เร่าร้อน ทั้งที่มันอยากและไม่อยาก และก็ไม่ตามความอยากและไม่ตามความไม่อยาก ...มันก็ยิ่งร้อนซ้ำร้อนลงไปอีก 

ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ...อยู่กับทุกข์ก็ทุกข์ เรียนรู้กับทุกข์ก็ทุกข์ ออกจากทุกข์ก็ทุกข์  มันทุกข์ตลอดสายน่ะ ไม่มีที่ไหนสบายหรอก

มันพอได้พักผ่อนตอนนอนหลับน่ะ ตื่นมาก็เตรียมตัวได้เผชิญเลยกับทุกข์ที่จะต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเสมอ แล้วก็คอยเห็นอาการวิปริตผิดสำแดงของโลก ของกาย ของผัสสะที่จะกระทบ

ไม่รู้วันนี้จะโดนชมหรือโดนด่า ไม่รู้ว่าวันนี้จะเจอใครหรือไม่เจอใคร ...ต้องเตรียมไว้เลยน่ะ ต้องเจอกับสภาพที่ไม่แน่นอน ไม่ดั่งใจหรือดั่งใจอยู่ได้ไม่นาน

ขนาดอยู่ในป่าแล้วยังเป็นทุกข์เลย...เสือกยุงเยอะ กะว่ามาหน้านี้แล้วไม่มียุง ดันมียุง อย่างนี้ ใครจะไปรู้ล่ะใช่มั้ย ...มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ มันมีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้นแหละ อย่าไปหาที่มันไม่มีทุกข์เลย

มันมีที่เดียวที่ไม่เป็นทุกข์ หรือทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้คือที่ใจ ...แล้วมันถ้าไม่อยู่ที่ใจ ถ้าไม่เห็นใจ ถ้าไม่ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ ถ้าไม่อาศัยใจเป็นสรณะที่พึ่งที่อยู่ที่อาศัยแล้ว มันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ หนีไม่พ้นหรอก

เพราะนั้นอยู่ที่รู้ ตั้งอยู่กับรู้ แม้จะทุกข์อยู่เบื้องหน้า ต่อหน้ามัน ก็ให้รู้คู่กันอยู่ เป็นเครื่องซับความทุกข์ ออกจากทุกข์ในระดับนึงแล้ว...คือมันเป็นคานที่มาทำความสมดุลให้มันพอดีๆ


(ต่อแทร็ก 10/41)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น