วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 10/38 (1)



พระอาจารย์
10/38 (560420A)
20 เมษายน 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เมื่อเห็นเป็นธรรมหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขกฎของไตรลักษณ์ ...นี่ศีลสมาธิปัญญา มีอยู่เต็มโลก ปัญญานี่มีอยู่เต็มโลก ที่ตั้งของปัญญา ที่มีให้เกิดปัญญามีทั้งโลก...สามโลก

เมื่อนั้น มันก็ไม่สนใจแล้วว่า...ต้องทำอะไร ต้องไม่ทำอะไร ต้องเลือก ต้องเฟ้น ต้องหา ต้องปัดเป่า ต้องทำให้เกิดขึ้น...ไม่มีอ่ะ 

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัญญา เป็นแหล่งกำเนิดปัญญาทั้งสิ้น ...จึงเรียกว่าเข้าสู่ความเป็นมหาสมาธิ มหาปัญญา

แต่ตอนนี้จิตมันยังเลือก ยังเฟ้นธรรม ...อย่างนี้ ต้องท่าทางนี้ เป็นสัปปายะ  สถานที่นี้ สังคมนี้ ไม่เป็นสัปปายะ ...มันตั้งข้อแม้เงื่อนไข มันมักจะมีปัญหา

แล้วมันก็สร้าง “เรา” ให้มารับปัญหา ให้เป็นผู้มีปัญหาขึ้นมา ตรงนั้นก็เป็นปัญหา คนนั้นก็เป็นปัญหา อากาศตอนนี้ก็เป็นปัญหา เพราะมันร้อนบ้าง เพราะมันหนาวเกินไปบ้าง

บ้านเมืองก็มีปัญหา เศรษฐกิจก็ไม่ดี ร่างกายตอนนี้ก็เป็นปัญหาอีก เพราะมันไม่ค่อยดี ...นี่ ทุกอย่างมันจะเป็นปัญหาของ "เรา" หมดเลย  จนสุดท้ายโลกทั้งโลก ทั้งสามโลก ก็เป็นปัญหา

เลยมันก็ต้องไปหาโลกใหม่ที่มันคิดว่าไม่มีปัญหา ...ก็หากันเข้าไป เกิดกี่ที ตายกี่ครั้ง ปัญหาก็ท่วมท้นอยู่อย่างนี้...ตราบใดที่ยังเกาะกินอยู่อาศัยกับ “เรา” น่ะ

ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักว่า “เรา” คือใคร  “เรา” คืออะไร  “เรา” มาจากไหน  แล้ว “เรา” มาได้อย่างไร ...เคยหาเคยดูมั้ย  มันมาจากไหน “เรา” น่ะ 

แล้วมันมายังไง มันมีหัวมีตีนมาจากไหน มีต้นสายปลายเหตุอย่างไร ...แล้วสุดท้ายแล้วมันมี “เรา” จริงมั้ย 

มันมัวแต่ไปหาภายนอก ดูภายนอก เกินเนื้อเกินตัวเรา เกินกายเรา เกินจิตเราออกไป ...นี่ มันนั่งก็รู้ว่านั่ง...ก็มีแค่นั่ง ก็มีแค่รู้...แล้ว “เรา” มันมาจากไหน มันมาได้ยังไง 

ทำไมไม่สอบ ทำไมไม่ทวน ทำไมไม่ทบทวนดูเล่า ...มัวแต่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ มัวแต่จะไปหาที่ภาวนาที่นั้นที่นี้ มัวแต่จะไปทำอย่างนั้นคิดอย่างนี้อยู่นั่นน่ะ

ศีลสมาธิปัญญาอยู่ในปัจจุบัน เขาก็แสดงธรรมในปัจจุบันให้เห็น ทุกอย่างมันก็เป็นธรรมที่ปรากฏ มันก็มีแค่ นั่งกับรู้...รู้กับนั่ง ยืนกับรู้...รู้กับยืน เดินกับรู้...รู้กับเดิน

แล้ว “เรา” มาจากไหน มันอยู่ตรงไหน มันอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของนั่ง มันอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของรู้ ทบทวนไปทบทวนมา วิจยะไปวิจยะธรรมมา นี่เรียกว่าใคร่ครวญ โยนิโส

อย่าไปอยู่ด้วยความอโยนิโส ดื้อๆ ซื่อๆ ทื่อๆ โง่ๆ ...ทำไปแบบทื่อๆ มันว่ายังไงก็ว่าตามกัน มันบอกให้ลุกก็ลุก มันบอกให้เดินก็เดิน มันบอกให้เปลี่ยนที่ก็เปลี่ยน นั่น 

มันบอกว่าให้หลับตาก็หลับตา มันบอกให้พุทโธก็พุทโธไป ทื่อๆ ไปอย่างนั้น ...ทำไปทำไม แล้วใครเป็นคนสั่ง ทำไมไม่ทวนกลับมาเล่า 

กลายเป็นว่า มันเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ...อะไรก็ไม่รู้มันมาอยู่เบื้องหลังการดำเนินชีวิต การดำเนินไปของขันธ์ ...นี่ มันไม่เคยสังเกตสนใจดู

และไอ้ตัวที่มันอยู่เบื้องหลังการดำเนินชีวิต การดำเนินไปของขันธ์นี่ มันตรงตามความเป็นจริงมั้ย มันตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสท่านบอกท่านพูดไว้มั้ย 

ท่านว่า ใจนี้เป็นใหญ่ ใจนี้เป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ...แล้วไอ้ใจกับ "เรา" นี่ หน้าตามันเหมือนกันตรงไหน มันเป็นยังไง 

ใจคือยังไง รู้คืออะไร เราคือใจ ใจคือเรา รึเปล่า มันมีสภาพอย่างเดียวกันมั้ย ...นี่ ถ้าไม่ถี่ถ้วน ทบทวน ตรวจสอบ มันก็จะทำทุกอย่าง พูดทุกอย่าง คิดไปทุกอย่าง ไปตามอำนาจของ “เรา” 

มันไม่ได้เป็นไปตามอำนาจของใจ ...เพราะอะไรก็ตามที่มันเป็นไปตามอำนาจของใจนี่ มันจะเป็นไปในลักษณะที่...เป็นไปด้วยความเป็นกลาง 

มันไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจความทะยานอยาก ไม่เป็นไปเพื่อการค้นหา...ให้ได้มา ให้มีขึ้น ให้เป็นไป...ซึ่งสุขและทุกข์ 

นั่นแหละ ถ้าขันธ์มันดำเนินไปตามอำนาจของใจน่ะ มันจะเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นไปเพื่อการให้เกิดทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อการให้มีทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อการทำให้ทุกข์ดับด้วยซ้ำ

เพราะนั้นมันก็ต้องมาคอยสังเกต ถี่ถ้วนภายใน  สังเกต...ทุกครั้งทุกขณะที่มีความรู้สึกที่เป็น “เรา” “ของเรา” “ตัวเรา” ขึ้นมา

มันจะเอาอะไร มันไปถืออะไรเป็นตัวเรา มันไปถืออาการไหนเป็นตัวเรา อันไหนเป็นตัวเรา ความรู้สึกอย่างไรเป็นเรา กับอะไรที่เป็นเรา ...ดูลงไป แล้วก็แยบคาย ถี่ถ้วนลงไป

ถ้ามันไม่มีสติ มันจะไม่รู้หรอกว่า ตอนนี้เป็นเรา หรือตอนไหนเป็นเรา หรือว่าตอนนี้เป็นเรารึเปล่า...ไม่รู้หรอก ถ้ามันไม่มีสติอยู่ในปัจจุบัน

การทำ พูด คิด  การประกอบกิจกรรม พฤติกรรมของขันธ์ พฤติกรรมของกาย พฤติกรรมของจิต...ที่เป็นไปนี่ มันจะเป็นไปด้วยความไม่รู้ตัว

มันจะไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย ...ไม่รู้ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีการสืบค้นว่าเราคืออะไร กายคืออะไร ขันธ์คืออะไร โลกคืออะไร ผัสสะคืออะไร อายตนะคืออะไร

ไอ้ที่มันมาจำแนก แยกธาตุ แยกขันธ์ แยกอายตนะ แยกโลก แยกธรรม แยกจิต แยกใจ แยกกายแยกใจอยู่เสมอ เนืองๆ นี่ ...ทำไมมันถึงต้องแยก แล้วมันแยกไปหามรรคหาผล หาสวรรค์วิมานทำไม 

ก็มันแยกเพื่อจะหาความเป็นจริง...ว่ามันเป็น "เรา" ตรงไหน มันอยู่ตรงไหน ไอ้ "เรา" เนี่ย

พอมันแยกไปแยกมา แม้ในขณะที่มันกำลังแยกอยู่นี่...เรียกว่าธัมมวิจยะ มันยังไม่มีอาการใด ลักษณะความเห็นใด ลักษณะความเชื่อใดว่าเป็นเราปรากฏอยู่เลย การรู้ว่าตัวตนของเราแท้จริงมันอยู่ไหนกันแน่

เพราะนั้น ความอ้างสิทธิ์ในตัวของมันเอง หรือความยึดมั่นในตัวของมันเอง ...คือทุกคนน่ะมันจะมีความยึดมั่นในตัวเรา ด้วยตัวของมันเอง

แต่ว่าเมื่อใดที่มันตีแผ่ออกมา เรียกว่าวิจยธรรม อันนี้นี่แหละ ...ความถือตัวของมันเอง ความอ้างสิทธิ์ของมันเอง ว่านี้คือความเป็นตัวเราของมันเองนี่ ...มันจะจางลงไป

เพราะนั้นน่ะ ในการที่วิจยธรรม ในการที่เจริญสติปัฏฐาน ที่เรียกว่ากายานุสติปัฏฐานก็ตาม จิตตานุสติปัฏฐานก็ตาม เวทนานุสติปัฏฐานก็ตาม ธรรมานุสติปัฏฐานก็ตาม

มันระลึกรู้ ...เพื่อจำแนกแยกขันธ์ แยกธาตุ  แยกเวทนา จิต ธรรม กาย กับใจ ออกจากกัน...ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนขึงพืดขันธ์ เพื่อสืบค้น ใคร่ครวญ

ว่า...ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา มันอยู่ตรงไหน ตัว "เรา" น่ะหน้าตามันเป็นยังไง 

ทำไมมันถึงมีอิทธิพลนักหนา ที่มีอำนาจบงการขันธ์ให้ยืนเดินนั่งนอน ทำพูดคิด แสวงหา ดีดดิ้น ค้นหา ให้เป็นสุขเป็นทุกข์ได้นี่ ...มันอยู่ที่ไหนกันแน่

เพราะนั้น ยิ่งสติละเอียด สมาธิมั่นคงแข็งแกร่งขึ้น สัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ว่ากองไหน กาย เวทนา จิต ธรรม ปรากฏขึ้น ...มันตีแผ่ออกหมด

จนหา “เรา” ไม่เจอ หา “เรา” ไม่มี  หา "ตัวเรา" ไม่มี หาความรู้สึกเป็น “ตัวเรา” หรือว่าหน้าตาของเราจริงๆ ...ไม่มีเลยในองคาพยพใด อณูใดอณูหนึ่งในขันธ์ห้า

จนถึงขั้นที่มันพูดได้เต็มปาก...ภายในความรู้สึกของจิตผู้ไม่รู้นี่ว่า...ไม่มีเราในขันธ์ห้า ไม่มีขันธ์ห้าในเรา

เพราะนั้นให้ไปถามเลย ให้ไปถามตัวเอง นักภาวนาทุกคนน่ะ ว่ามันเป็นการภาวนาเพื่อการนี้รึเปล่า ...ถ้าไม่ใช่เป็นการภาวนาเพื่อการนี้ ผลอย่างนี้...ไม่เรียกว่า “มรรค”

ต่อให้มันภาวนาได้อะไรวิเศษวิโสมาจากการภาวนาขนาดไหน ...พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สรรเสริญ พระพุทธเจ้าไม่เรียกว่าอัญชลีกรณีโย 

คนที่อัญชลีกรณีโยได้...ก็คือสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน เท่านั้น ...จึงจะเป็นคู่ควรแก่อัญชุลี


ต่อให้มันมีความรู้วิเศษวิโสมากมายก่ายกองขนาดไหน พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้จัดอยู่ในสี่ประเภทที่ควรแก่อัญชุลีเลย 

นั่นยังเป็นผู้ที่มีจิตใจหยาบและกระด้าง ไม่เป็นผู้ที่เคารพนบนอบ อ่อนน้อมต่อธรรม ...ยังมีความอหังการ อวดดี อวดตัว อวดเรา


(ต่อแทร็ก 10/38  ช่วง 2)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น